วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

จี้ กพ ทบทวนร่างปรพกาศฯโครงการโซล่าฟาร์ม

เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.ดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย (TPVA), ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ ประธานมูลนิธิลดโลกร้อน, บรรยงค์ อัมพรตระกูล ที่ปรึกษามูลนิธิเครือข่ายพลังงาน-เกษตรสีเขียว และ นิรุต รูปเล็ก ประธานสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดประจวบคีรีขันธ์ จับมือตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรื่อง “ผ่าทางตันSolar Farm กับสหกรณ์การเกษตร” ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ทบทวนร่างประกาศฯเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ.2558 (โครงการ Solar Farm)800 MW ให้มีความโปร่งใส โดยให้สหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วไปทั้งเล็ก กลาง มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการด้วย โดยมีนายชยุต เมธาวิชิตชัยประธานคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิเครือข่ายพลังงาน-เกษตรสีเขียว และอดีตอุปนายกสมาคมสื่อมวลชนสัมพันธ์ฯ พร้อมประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวจำนวนมาก
ศ.ดร.ดุสิต กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้มีมติตั้งแต่ปลายปี 2557 ให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ปริมาณ 800 เมกะวัตต์ และขณะนี้กำลังมีการร่างหลักเกณฑ์รายละเอียดโครงการ ซึ่งจะประกาศใช้บังคับต้นเดือนกันยายนนี้
สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย พิจารณาแล้วเห็นว่ามีหลายประเด็นเป็นจุดอ่อนน่าเป็นห่วงคือ 1.ไม่ควรกำหนดว่าสหกรณ์ภาคการเกษตรที่จะเข้าโครงการจะต้องผ่านการประเมินมาตรฐานคุณภาพจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ในรอบปีที่ผ่านมา 2.ไม่ควรกำหนดว่าสหกรณ์ภาคการเกษตร 1 สหกรณ์สามารถยื่นเข้าร่วมโครงการได้เพียง 1 โครงการ 3.ในร่างประกาศได้มีการเปิดเผยตารางเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งมีข้อผิดปกติหลายประเด็น เช่น ภาคเหนือประกาศเป้าหมายรับซื้อเพียง 5 เมกะวัตต์ แต่จากการที่สมาคมฯศึกษาข้อมูลของสายส่ง สายจำหน่ายภาคเหนือยังมีปริมาณรับซื้อได้อีกหลายสิบเมกะวัตต์ 4.ในร่างระบุว่าจะมีประกาศปริมาณสายส่งที่รับซื้อ จึงเป็นห่วงว่าอาจมีขบวนการที่ได้ข้อมูลพิเศษและนำไปกว้านทำสัญญากับสหกรณ์ล่วงหน้า และ 5.ในร่างกำหนดให้ยื่นใบสมัครขอเข้าร่วมโครงการวันที่ 1-7 พฤศจิกายน 2558 ควรเลื่อนออกไป เช่นเดือนธันวาคม 2558 เพราะสหกรณ์ภาคการเกษตรจะต้องมีการประชุมสมาชิก
“ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้กกพ.ทบทวนหลายครั้ง ยืนยันว่าเราไม่ได้คัดค้านโครงการ แต่อยากให้พิจารณาด้วยความเหมาะสม รอบคอบ ที่สำคัญไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” ศ.ดร.ดุสิต กล่าว
ศ.ดร.สุนทร กล่าวว่า กกพ.อย่าล็อกสเปก ควรทำทุกอย่างให้โปร่งใส และต้องทบทวนเรื่องนี้โดยด่วน ไม่เช่นนั้นประเทศชาติ
ล่มจมแน่ และเรื่องการประชุมใหญ่ก็สิ้นเปลืองงบประมาณของสหกรณ์โดยไม่จำเป็นแค่มติของคณะกรรมการสหกรณ์ก็พอเพราะเป็นตัวแทนของสมาชิกสหกรณ์อยู่แล้ว อีกอย่างถ้าสหกรณ์จับสลากไม่ได้ ทำให้สิ้นเปลืองงบโดยเปล่าประโยชน์เป็นการซ้ำเติมสหกรณ์เรื่อง รง4 ต้องยกเว้นเพราะ Solar Farm เป็นพลังงานสะอาด
นายบรรยงค์ กล่าวว่า มีคนท้วงติงมากมายแต่กระทรวงพลังงานยังดันทุรัง ล็อกสเปก เป็นการสมรู้ร่วมคิด ทำให้ประโยชน์ไปอยู่กับคนที่มีกำลัง มีอำนาจควบคุมสหกรณ์ภาคการเกษตร และหน่วยงานที่มีอำนาจล็อกสเปกสายส่ง feeder รวมทั้งข้าราชการที่มีช่องทางดังนั้นการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องแก้ไข ประชาชนต้องลุกขึ้นสู้อย่างจริงจัง
ด้านนายนิรุต กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องลงมาดูแลโครงการนี้ เพราะผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรมากมายมหาศาลอีก 25 ปี นับจากนี้ หากไม่เข้ามาช่วยเหลือและปล่อยให้มีขบวนการหากินกันแบบนี้จะสร้างความเสียหายอย่างมาก
ทั้งที่ที่ประชุมได้มีมติเรียกร้องให้กกพ.ทบทวนร่างประกาศฯดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยระบุ ในวันที่ 6 กันยายน 2558 จะมีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)วันสุดท้ายที่รัฐสภาซึ่งจะได้แถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง เนื่องจากสปช.เองก็มีความเป็นห่วงอย่างมากเช่นกัน และหาก กกพ.ไม่มีการทบทวนแก้ไขปรับปรุงเชื่อว่าจะมีประชาชน ชาวไร่ ชาวนาจำนวนมากลุกขึ้นมาประท้วงอย่างแน่นอน!!! เพราะเราจะไม่ปล่อยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งมโหฬารขึ้นอย่างเด็ดขาด !!
http://www.naewna.com/local/177356

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น