การเติบโตของจีดีพี ในปีนี้รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังคงเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนการขยายตัวอยู่ที่ 3 % และฝากความหวังไว้กับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ซึ่งเพียงแพ็กเกจอัดฉีดงบประมาณสู่รากหญ้า 1.36 แสนล้านบาท ตามด้วยแพ็กเกจอุ้มผู้ประกอบการรายย่อย (เอ็สเอ็มอี) อีกกว่าแสนล้านบาทที่จะคลอดในสัปดาห์นี้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแม้ปีนี้จะเจอวิกฤติซ้ำซ้อน แต่ก็ยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องแบกรับภาระ
ดันท่องเที่ยวกระตุ้นศก.ในปท.
ดังนั้นพลันที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ภารกิจแรกของผู้ว่าการททท. จึงได้รับมอบหมายจาก “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เข้าไปร่วมประชุมกับทีมเศรษฐกิจ ซึ่งมี รองนายกฯสมคิด เป็นประธาน เนื่องจากทีมเศรษฐกิจมองว่า การท่องเที่ยวมีความเกี่ยวพันที่จะเป็นอีกแรงในการช่วยปั๊มเศรษฐกิจในขณะนี้ได้
เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทย พึ่งพาแต่การส่งออกมาโดยตลอด ระบบภาษี และโครงสร้างเศรษฐกิจจึงเอื้อต่อการกระตุ้นการส่งออกมานาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือเมื่อเศรษฐกิจภายนอกไม่ดี การส่งออกของไทยที่ยังติดลบต่อเนื่อง การย้ายฐานการผลิตออกไปนอกประเทศอย่าง ซัมซุงที่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น
“ดูสมการเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ จึงต้องกระตุ้นให้เกิดการบริโภค ซึ่งความจริงแล้ว ยังไม่สำคัญเท่ากับการสร้างการรับรู้ เพราะ ปัญหาคือ คนไม่เชื่อมั่นไม่กล้าใช้จ่าย จริง ๆ อาจจะไม่ได้มาจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ในมุมมองของผมมองว่าคนไทยมีเงิน แต่ไม่กล้าใช้เงิน”ยุทธศักดิ์ กล่าว
จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทีมเศรษฐกิจที่ในขณะนี้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมองถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ จึงมองการถ่ายเทน้ำหนักไปอยู่ในประเทศมากขึ้น จากข้อจำกัดที่ต่างประเทศเศรษฐกิจไม่ดีนัก จึงโฟกัสเป็น 3 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องกระตุ้นให้เกิดขึ้น ได้แก่ 1.โลคัล เทรด 2.โลคัล อินเวสต์เมนต์ และ 3.โลคัล ทัวริซึม
จับผู้ร้ายได้ทัวริสต์เริ่มฟื้น
การผลักดันเรื่องของโลคัล ทัวริซึม เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการชะลอตัวของการท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติบางตลาดเลื่อนการเดินทางออกไป ซึ่งประเมินว่าอาจจะกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงนี้อยู่ที่ราว 6 หมื่นล้านบาท แต่ก็มั่นใจว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศจะกลับมาฟื้นตัวเหมือนเดิม
“ขณะนี้เมื่อสถานการณ์ราชประสงค์เริ่มคลี่คลาย และจับคนร้ายได้ จำนวนนักท่องเที่ยวก็เริ่มฟื้นตัว จึงมั่นใจว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวตามเป้าหมาย 2.2 ล้านล้านบาทในปีนี้ และเป้าหมายรายได้ 2.3 ล้านล้านบาทในปีหน้า โดยสัดส่วนรายได้ปีนี้มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท อีก 8 แสนล้านบาทเป็นรายได้จากคนไทยเที่ยวในประเทศ ซึ่งจะมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด”
อย่างไรก็ดี เป้าหมายภายใน 3 เดือนนับจากนี้ ททท.จะโฟกัสใน 2 เรื่อง 1. การผลักดันโลคัล ทัวริซึม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเที่ยวในประเทศ และ 2.การสร้างให้เกิดโกลบัล คอนฟิเดนต์ สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
ผนึกผู้ว่าฯ ร่วมโปรโมต
ผนึกผู้ว่าฯ ร่วมโปรโมต
ในเรื่องโลคัล ทัวริซึม โดยมองโอกาสการท่องเที่ยววันธรรมดา ผ่านความร่วมมือกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระตุ้นให้เกิดการเดินทางทั้งแบบวันเดียวและค้างคืน เพราะหากค้างคืนค่าใช้จ่ายจะเพิ่มเป็น 3 เท่า แต่เที่ยววันเดียวมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,200 บาทต่อคน ซึ่งจะหารือร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่ยอดขายช่วงวันธรรมดาน้อยอยู่แล้ว เพื่อจัดทำแพ็กเกจ 3 วัน 2 คืน ให้สอดคล้องกลุ่มเป้าหมาย
ในขณะที่กลุ่มผู้เกษียณอายุ จะเน้นสร้างแพ็กเกจเพื่อให้เป็นรางวัลชีวิตตลอดการทำงานหนักตลอดเวลาทำงานมา และกลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา ในการเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของช่วงเวลา จะให้เกิดความสมดุลไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ต้องแย่งกันกินกันเที่ยว หากดึงให้เที่ยวแบบค้างคืนได้ 1 ล้านคนก็จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 3,600 ล้านบาท
รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงการขายสินค้าโอท็อปสร้างให้เป็นสินค้าท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยว และร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ เลือกพื้นที่ท่องเที่ยว นำร่องขึ้นมา สร้างให้เกิดดีไซน์ เดสติเนชัน สำหรับโปรโมตการท่องเที่ยว ที่ต้องการสร้างให้เกิดแนวคิดเหมือนเมืองชิราคาวาโก๊ะ ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีเอกลักษณ์วิถีชุมชนเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ต้องมีจัดแคมเปญกระตุ้นให้เกิดกระแสการเดินทางเช่น “ไทยแลนด์ เช็กพอยต์” หรือสะสมแสตมป์การเดินทางท่องเที่ยวนำร่องในพื้นที่ 12 เมืองต้องห้ามพลาดและ12 เมืองต้องห้ามพลาด พลัส กระตุ้นให้ท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนเพื่อลุ้นรับของรางวัล ซึ่งต้องเร่งดำเนินการ
สร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ
สร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ
ในส่วนของการสร้างให้เกิดโกลบัล คอนฟิเดนต์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ นอกจากการทำตลาดผ่านสำนักงานของททท.ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว กลยุทธ์แรก ที่จะต้องเพิ่มเติมขึ้นมาเป็นพิเศษ คือ ต้องจัดบิ๊กอีเวนต์ ช่วงปลายปีนี้ ให้เกิดขึ้นในไทย ที่มองไว้ว่าจะเป็นอีเวนต์เกี่ยวกับจักรยาน เหมือนอย่างกระแส “ไบค์ฟอร์มัม” ที่มีอิมแพ็คแรงมาก หรือจะเป็นกิจกรรมการนับถอยหลังเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งไทยก็อยากเป็นฮับของเออีซี ซึ่งก็คงต้องหารือเพื่อสรุปร่วมกัน เพื่อสร้างให้เป็นอีเวนต์สำคัญ สร้างบรรยากาศในประเทศให้เกิดความเชื่อมั่นกับต่างชาติ รวมถึงการจัดกิจกรรมย่อย ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ
“ผมมองว่าผลกระทบจากเหตุระเบิด เป็นแค่ช่วงสั้น การท่องเที่ยวฟื้นเร็วส่วนตัวจึงมองว่าการลดราคาเพื่อกระตุ้นไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม ของถูกไม่ใช่เป็นของดี แต่มองว่าการจัดทำอีเวนต์ใหญ่เพื่อสร้างการรับรู้ในระดับโลกจะได้ผลมากกว่า ได้ประโยชน์ 2 ทางคือการสร้างความเชื่อมั่น สร้างให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวเหนี่ยวนำสุดท้ายการผลักดันจีดีพีโต 3% ก็น่าจะเป็นไปได้”
พ่วงพณ.โรดโชว์ตปท.
ในด้านของการบริหารงานต้องให้ความสำคัญการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการไปโรดโชว์ในต่างประเทศของหน่วยงานด้านการค้าหรือการลงทุน ได้นำเสนอ รมว.การท่องเที่ยวฯไปว่าน่าจะนำเรื่องของการท่องเที่ยวเข้าไปสู่เวทีนั้น ๆ ด้วย เพื่อสร้างให้เกิดอิมแพ็คในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งหารือกับกทม.ที่จะส่งเสริมท่องเที่ยวร่วมกัน
ส่วนในด้านของการทำตลาด ก็ต้องมองถึงการพัฒนาตลาดท่องเที่ยว เพื่อสร้างตลาดคุณภาพให้กับการท่องเที่ยวไทย ที่เบื้องต้นจะโฟกัสตลาดจีน ,ญี่ปุ่น,เกาหลีใต้และตะวันออกกลาง ที่จะต้องดีไซน์เดสติเนชันหรือกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมกับตลาดนักท่องเที่ยว อย่างญี่ปุ่น ก็มองทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบความท้าทาย ททท.ก็ต้องสร้างให้เกิดการกระจายเดสติเนชันที่ตอบโจทย์ ส่วนตลาดจีน ก็ต้องหารือกับบริษัทนำเที่ยว ในการสร้างตลาดคุณภาพเข้าสู่ไทยเพิ่มขึ้น การเจาะกลุ่มไมซ์ ส่วนตลาดตะวันออกกลาง ก็โฟกัสเรื่องของอาหารฮาลาล เป็นต้น
เหล่านี้ล้วนเป็นทิศทางการขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทยภายใต้บังเหียนผู้ว่าการททท.คนใหม่
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3085 วันที่ 6-9 กันยายน พ.ศ. 2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น