ชี้ช่องรวยขอนำบทความจาก incquity.com ซึ่งเป็นตารางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นในระยะเวลาเพียงแค่ 10 วัน... อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจภายใน 10 วัน เพราะในการทำธุรกิจมีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องลงมือทำและให้ความสำคัญอย่างรอบคอบอีกมากมาย
ซึ่งทั้งหมดแม้ว่าจะให้เวลาถึง 1 เดือนก็ยังน้อยเกินไปด้วยซ้ำ เพื่อเป็นการกำหนดกรอบขั้นตอนให้กับธุรกิจตัวเองสามารถเดินหน้าไปในระยะเวลาอันสั้น เพราะที่อเมริกาก็มีคนที่เคยทำตามแนวคิดนี้และประสบความสำเร็จกันมาแล้ว
ทั้งบริษัท Integra Staffing & Search and Bankston Partners ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานและให้บริการเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่างๆ กว่า 500 บริษัท และบริษัท Altitude Digital ที่ให้บริการเกี่ยวกับวิดีโอโฆษณาออนไลน์ชั้นนำ ทั้งคู่นั้นเป็นตัวอย่างชั้นดีของบริษัทที่ออกตัวเร็ว และไปถึงเป้าหมายในระยะเวลาอันสั้น ลองมาดูกันเลยดีกว่าว่าใน 10 วันนี้เราจะทำอะไรกันได้บ้าง
วันที่ 1 - เขียนแผนธุรกิจ
หลังจากที่เราได้ไอเดียต่างๆ ในการทำธุรกิจอยู่ในหัวกันแล้ว วันแรกที่เราจะเริ่มทำกันก็คือการถ่ายทอดไอเดียต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งหมดแปลงออกมาให้เป็นแผนธุรกิจที่สามารถจับต้องได้จริงๆ ซึ่งการเขียนแผนธุรกิจจะทำให้เรารู้จุดแข็ง จุดอ่อน วิธีเอาตัวรอดในการทำธุรกิจ และยังช่วยให้เราเข้าใจภาพรวมของธุรกิจตั้งแต่วันแรกที่คิดจะลงมือทำว่าจะไปรอดได้ขนาดไหน ไอเดียที่ผ่านมาจะใช้ได้ไหมผ่านทางแผนธุรกิจที่ว่านี้ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจต่อไปว่าจะเริ่มเดินหน้าต่อหรือจะถอยกลับไปตั้งหลักหาไอเดียใหม่ๆ แทน (การเขียนแผนธุรกิจ 1 / การเขียนแผนธุรกิจ 2)
วันที่ 2 - วิจัยตลาด
ศึกษาตลาดให้ดีก่อนเลยว่าหากเรานำสินค้าหรือบริการลงไปในตลาดจริงๆ แล้วจะอยู่รอดหรือไม่ ลูกค้าเป็นใคร มีกำลังซื้อมากน้อยขนาดไหน มีคู่แข่งเป็นใครบ้าง และผลิตภัณฑ์ของเราจะเป็นอย่างไรหากต้องมีการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง รวมไปถึงกฎระเบียบต่างๆ ของรัฐบาลเกี่ยวกับสินค้า หรือบริการของเราว่ามีข้อห้าม หรือข้อจำกัดอย่างไรที่ไม่สามารถทำได้บ้าง
ทั้งหมดนี้จะต้องถูกวิจัยออกมาในเชิงปริมาณและวัดผลได้จริง ก่อนที่จะนำไปวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้เมื่อสินค้าของเราลงตลาดไปแล้ว รวมไปถึงวิเคราะห์ในเชิงลึกว่าทำอย่างไรจึงจะได้เปรียบคู่แข่งและดึงส่วนแบ่งทางการตลาดมาให้ได้อีกด้วย
ซึ่งสำหรับธุรกิจที่มีความซับซ้อน และคู่แข่งจำนวนมาก ก็แน่นอนเลยว่าการที่จะหาข้อมูลการตลาดทั้งหมดนี้ภายในหนึ่งวันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นหากมีความจำเป็นจริงๆ ก็ควรขยายเวลาในส่วนนี้ออกไปเพื่อให้ได้ข้อมูลการวิจัยที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจในอนาคต
วันที่ 3 - สร้างเอกลักษณ์แบรนด์
ชื่อและโลโก้ที่ดูเป็นมืออาชีพคืออีกส่วนที่สำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูดีก่อนที่จะเปิดตัวสินค้าจริงๆ เสียอีก ซึ่งหากยังไม่มีไอเดียหรือไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบก็อาจใช้บริการจากบริษัทออกแบบโลโก้ หรือถ้าอยากประหยัดกว่านั้นก็สามารถใช้เครื่องมือออกแบบโลโก้ออนไลน์อย่าง LogoMaker ที่เครื่องมือการออกแบบโลโก้แบบง่ายที่เราสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้เองโดยที่ไม่ต้องมีความรู้เรื่องการออกแบบแต่อย่างใด
ซึ่งหลังจากออกแบบโลโก้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็อย่าลืมเผื่อขนาดให้หลากหลายด้วย หากโลโก้ที่เตรียมไว้เล็กเกินไปเมื่อนำไปขยายขึ้นโปสเตอร์ขนาดใหญ่หรือพื้นที่ต่างๆ ก็อาจทำให้ภาพแตกได้ และควรทดสอบโลโก้บนพื้นหลังต่างๆ เช่น พื้นหลังเว็บไซต์ว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร ก่อนที่จะตัดสินใจนำไปใช้จริง ตาม Social Media, เว็บไซต์ หรือแหล่งอื่นๆ
วันที่ 4 - จัดตั้งบริษัท
ในส่วนนี้สิ่งที่เราต้องทำก็คือการจดทะเบียนบริษัท จดลิขสิทธิ์ของผลิตภัณฑ์ ทำสัญญาคู่ค้าระหว่างบริษัท และอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเลือกทางลัดเพื่อความรวดเร็วและเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมายแต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในส่วนการจดทะเบียนต่างๆ นี้นั้นสามารถทำได้ด้วยตัวเองแบบไม่ยาก บางอย่างก็มีให้บริการจดทะเบียนออนไลน์ได้แล้ว เพียงแต่ต้องใช้เวลาสักหน่อย หากไม่ได้เร่งรีบมากนักก็ใช้เวลาศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแล้วดำเนินการด้วยตัวเองก็น่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้เยอะเลย
วันที่ 5 - จัดเตรียมสิ่งต่างๆ
เมื่อมาถึงจุดที่จากไอเดียกลายมาเป็นบริษัทขึ้นมาแล้ว หากคิดว่าทำงานคนเดียวอาจกลายเป็นเรื่องหนักเกินไปก็ลองหาตัวช่วยดู อย่าง Ostermiller เจ้าของ Altitude Digital นั้นในช่วงแรกของธุรกิจเขานั้น เขาได้รับเด็กฝึกงานที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ 2 คน ที่พร้อมเข้ามาช่วยงานโดยไม่รับค่าจ้างมาจากเว็บไซต์ของ Craigslist โดยเมื่อรับเด็กทั้งคู่มาแล้วนั้นเขาก็รีบจัดแจงหน้าที่ให้คนหนึ่งเป็นพนักงานขาย และอีกคนหนึ่งดูแลกระบวนการต่างๆ ในบริษัท ซึ่งมีเงื่อนไขสัญญาว่าจะจ้างพวกเขาแบบเต็มเวลาเมื่อผ่านไป 90 วันและไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนในตอนเริ่มต้นที่ยังไม่มี Office นั้น Ostermiller ก็ให้เด็กฝึกงานของเขาเริ่มหาที่ทำงานตามร้านกาแฟ โดยที่ตัวเขาเองก็ทำงานจากโต๊ะในห้องครัวขนาดเล็กเช่นกัน ส่วน Fish เจ้าของ Integra Staffing & Search and Bankston Partners ก็เริ่มต้นธุรกิจจากห้องใต้ดินในบ้านโดยอาศัยความช่วยเหลือจากเด็กฝึกงาน 2 คนเช่นกัน ทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์เพื่อลดต้นทุนธุรกิจให้ได้มากที่สุดในช่วงแรก เพื่อนำเงินไปลงทุนกับอย่างอื่นที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจมากกว่า
วันที่ 6 - เริ่มการขาย
กำไรย่อมได้มาจากการขาย ถ้าไม่เริ่มต้นขาย ธุรกิจก็คงเดินหน้าต่อไม่ได้ ซึ่งผู้ประกอบการหลายๆ คนมักเลือกที่จะเริ่มต้นหาลูกค้าและเตรียมการขายก่อนที่ธุรกิจจะเปิดเต็มตัวเสียอีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นการป้องกันตัวเองจากการขาดทุน การเตรียม Prototype หรือสินค้าจริงเพียงไม่กี่ชิ้นในช่วงเริ่มต้น เพื่อสาธิตถึงคุณสมบัติและประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกค้าจะได้รับ เพื่อดูกระแสตอบรับและความต้องการของลูกค้าก่อนที่จะผลิตจริงเมื่อลูกค้าให้ความสนใจและมียอดสั่งเข้ามา
ซึ่งในช่วงแรกอาจจะเหนื่อยหน่อยในการหาลูกค้าที่สนใจในปริมาณมากๆ แต่เชื่อเถอะว่าหากลูกค้าพอใจในสินค้าและการบริการของเราแล้ว ลูกค้าที่เราหาในช่วงแรกนี้ก็จะอยู่กับเราไปอีกนานเลย โดยในการหาลูกค้านั้นก็อย่าลืมที่จะผูกสัมพันธ์เพื่อสร้างเครือข่ายลูกค้าไปถึงลูกค้ารายต่อๆ ไปด้วย
วันที่ 7 - โฆษณา
สร้างกระแสบอกต่อเพื่อขายสินค้าควรถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นอันดับแรกเมื่อคิดถึงการทำโฆษณา ในยุคนี้เรามีทาเลือกในการโฆษณามากมายทั้งผ่านทาง Social Media, Youtube, เว็บไซต์, Blog หรือช่องทางต่างๆ อีกมากมาย โดยที่ไม่ต้องเข้าไปพึ่งพาสื่อหลักอย่างโทรทัศน์หรือวิทยุที่มีราคาแพงอีกต่อไป เพราะลำพังเพียงการสร้างกระแสจาก Social Network นั้น บางทียังแพร่กระจายไปได้รวดเร็วกว่าสื่ออื่นๆ เสียอีก
ตัวอย่างแบรนด์ที่เริ่มสร้างชื่ออีกครั้งอย่างไอศกรีม Magnum ที่เริ่มต้นสร้างกระแสผ่านทาง Instragram ของดารา เป็นต้น ซึ่งหากไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ก็อาจหาบริษัทเอเจนซี่ที่ทำการตลาดทางด้านนี้เลยก็ได้ เพราะส่วนมากจะให้บริการแบบครบวงจรตั้งแต่ทำวิดีโอจนไปถึงเผยแพร่ให้เลย
วันที่ 8 - สร้างภาพลักษณ์บริษัท
แน่นอนบริษัทที่เปิดใหม่ย่อมได้รับความน่าเชื่อถือที่น้อยกว่าหากเทียบกับบริษัทเก่าแก่ แต่ทว่าหากเราพยายามสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้มีความทัดเทียมกับบริษัทชั้นนำแล้วก็น่าจะเรียกความน่าเชื่อถือกลับคืนมาได้ไม่ยาก
ภาพลักษณ์ขององค์กรนั้นเกิดจากหลายๆ ปัจจัยเข้ามาประกอบกัน หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งแย่ก็คงยากที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีได้ เพราะภาพลักษณ์นั้นต้องเริ่มตั้งแต่เราและพนักงานในองค์กรนั้นควรจะมีบุคลิกที่ดี ทั้งการพูด เดิน ยืน หรือท่าทางต่างๆ แสดงออกถึงเป็นมืออาชีพ ทั้งชื่อ Email ของบริษัทที่อาจจะมีการแยกเป็นแผนกต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์กรของเรามีการทำงานอย่างเป็นระบบได้อีกด้วย และยังมีอีกหลายๆ องค์กรที่เริ่มต้นลงทุนสร้างภาพลักษณ์องค์กรโดยการจ้างพนักงานต้อนรับและ Callcenter มาเป็นอันดับแรกเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทก็ได้เช่นกัน
วันที่ 9 - คุมธุรกิจให้อยู่ในแผน
ในช่วงแรกของธุรกิจงานจะหนักมากเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งปริมาณงานที่หนักในแต่ละวันนั้นก็เปรียบเสมือนสัญญาณว่าธุรกิจของเรากำลังไปได้ด้วยดี เพราะนั่นหมายความว่าเรายังมีลูกค้าให้บริการ มีสิ่งต่างๆ ที่ต้องจัดการ
โดยสิ่งที่ต้องใช้ต่อมาในช่วงนี้ก็คือวินัยและสติในการดำเนินธุรกิจ คอยสังเกตกระบวนการต่างๆ ว่าทุกอย่างยังเป็นตามแผน และใกล้เคียงเป้าหมายของธุรกิจมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ หากมีอะไรผิดพลาดไปก็ควรรีบหาสาเหตุและหนทางในการแก้ไขเพื่อให้ทุกอย่างยังคงดำเนินไปตามแผนเหมือนเดิม หรือหากแผนที่เคยวางไว้นี่ล่ะที่ตัวการที่ทำให้ทุกอย่างผิดพลาดก็ควรที่จะตั้งสติและหาแนวทางอื่นต่อไป พร้อมทั้งกับเตรียมวางแผนใหม่ให้รับมือกับความต้องการลูกค้าให้ได้มากขึ้น และที่สำคัญต้องอย่าลืมให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดในธุรกิจมาเป็นอันดับแรกด้วย
วันที่ 10 - Partty Time!
เมื่อถึงจุดที่ธุรกิจพอจะอยู่ตัวแล้ว ก็ถึงเวลาจัด Party ที่จะชวนบรรดา Vendor, ลูกค้า, เพื่อนฝูง, ครอบครัว และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตในด้านต่างๆ มาร่วมฉลองกับธุรกิจของเราในวันนี้ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราได้สนิทกับกลุ่มคนที่มีส่วนร่วมกับธุรกิจของเรามากขึ้น รู้จักผู้คนมากขึ้น และสามารถหาเครือข่ายธุรกิจจากคนในงานได้อีกด้วย
ซึ่งนอกจากนี้การจัด Party นั้น อยากจะให้เป็นเวลาพักผ่อนหลังจากที่หักโหมมาอย่างหนักในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ได้ใช้เวลาคิดทบทวนสิ่งที่ทำมา พร้อมทั้งวางแผนชีวิต Work-Life Balance ให้เหมาะสมกันด้วย เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจในวันต่อๆ ไปได้อย่างมีความสุข
ที่มา : incquity.com
เรียบยเรียง :
เรื่อง : วันที่ 25 สิงหาคม 2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น