อิสรนันท์
จากนโยบาย “สี่ทันสมัย” และ “ปฏิรูปและเปิดกว้าง” ของคนโตตัวเล็ก เติ้ง เสี่ยวผิง สู่ “ทฤษฎี 3 ตัวแทน” ของอดีตประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน และแนวคิดว่าด้วย “การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์” ของอดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ขณะนี้แดนมังกรกำลังก้าวสู่ยุค “สี่ด้านถ้วนทั่ว” ที่สี จิ้นผิง ผู้นำจงหนานไห่ เพิ่งประกาศหลังผ่านพ้นวันตรุษจีนเพียงไม่กี่วันให้เป็นหลักการสำคัญหรือเข็มมุ่งในการบริหารประเทศในทุกๆ ด้าน ประกอบด้วย สร้างสังคมมีกินแบบพอเพียง, ลงลึกการปฏิรูป, ปกครองตามหลักนิติรัฐ และเข้มงวดวินัยพรรคฯ
ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแดนมังกรที่นำปรัชญาการปกครองของขงจื่อและหานเฟยซึ่งเน้นในเรื่องหลักนิติรัฐมาผสมผสานกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงและการเดินหน้าปฏิรูปพรรคฯ และกองทัพให้โปร่งใส ปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่ออนาคตที่สดใสของประเทศในยุคที่กำลังปรับกระบวนทัพใหม่ รวมไปถึงด้านการต่างประเทศ ด้วยการหวนกลับไปคบมิตรแดนใกล้และไกลที่มีผลประโยชน์สอดคล้องกันเพื่อตอบโต้มิตรเทียมแดนไกลที่จ้องจะฉกฉวยประโยชน์จากแดนมังกรเพียงอย่างเดียว
อาจจะเป็นเพราะตระหนักดีว่านโยบาย “สี่ด้านถ้วนทั่ว” นั้นจะบ่มเพาะทั้งมิตรและศัตรู ซึ่งก็คือผู้สูญเสียผลประโยชน์จากนโยบายนี้ จู่ๆ สี จิ้นผิง จึงขยับตัวครั้งใหญ่ 2 ขยักด้วยกัน ขยักแรกก็คือสั่งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญในสำนักงานความมั่นคงกลางที่ขึ้นตรงต่อสำนักงานกลางของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ มีหน้าที่หลักในการดูแลด้านการรักษาความปลอดภัยของบรรดาผู้นำจงหนานไห่โดยตรง รวมไปถึงคอยปกป้องทำเนียบจงหนานไห่อันเป็นที่ที่พักของผู้นำสูงสุดด้วย อาจจะเป็นเพราะถือคติว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” หรือ “ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่ามาเสียใจในภายหลัง” เพราะไม่อยากเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยนางอินทิรา คานธี อดีตนางสิงห์เหล็กแห่งแดนภารตะอินเดีย ที่ถูกองครักษ์ประจำตัวหันกระบอกปืนมากระหน่ำยิงจนเสียชีวิตอย่างน่าอนาถ
หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์อ้างแหล่งข่าววงในว่า เพื่อป้องกันองครักษ์ประจำตัวไม่ให้กลายเป็นหอกข้างแคร่โดยไม่รู้ตัวในช่วงที่กำลังกวาดล้างนายทหารระดับบิ๊กๆ ครั้งใหญ่ ผู้นำจงหนานไห่จึงได้เลื่อนตำแหน่ง พล.ต. หวัง เส้าจวิน วัย 60 ปี ซึ่งเคยติดตามตัวเองไปตรวจกองทัพภาคนานกิงเมื่อปลายปีที่แล้ว จากรองผู้บัญชาการฝ่ายบริหารเป็นผู้บัญชาการสำนักงานความมั่นคงกลางและยังควบตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารรักษาความปลอดภัยกลาง ส่วน พล.ท. เฉา ชิง ผู้บัญชาการถูกโยกไปนั่งเก้าอี้รองผู้บัญชาการกองทัพภาคปักกิ่ง
สี จิ้นผิง ที่มาภาพ : http://www.afr.com/content/dam/images/j/j/z/1/x/image.imgtype.afrArticleInline.620×0.png/1423667773580.jpg
ผู้สันทัดกรณีหลายคนให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่สี จิ้นผิง จะกันไว้ดีกว่าแก้เช่นนี้ เนื่องจากสำนักงานความมั่นคงกลางและกรมทหารรักษาความปลอดภัยกลางเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจล้นเหลือและเคยสร้างเกียรติประวัติสามารถสยบความพยายามจะยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธมาแล้วหลายครั้ง รวมไปถึงการจับกุมแก๊งออฟโฟร์ หรือ “แก๊ง 4 คน” ผู้นำการปฏิวัติวัฒนธรรมภายใต้การนำของนางเจียง ชิง ภริยาของประธานเหมา เจ๋อตุง เมื่อปี 2519 นอกจากนี้ยังเป็นเพราะต้องการขุดรากถอนโคนอิทธิพลของอดีตผู้บริหารบางคนรวมไปถึงลิ่ง จี้ฮัว อดีตที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ที่กำลังถูกสอบสวนในคดีทุจริตคอร์รัปชัน
ขยักที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการสับเปลี่ยนตำแหน่งในสำนักงานความมั่นคงกลางก็คือ การเดินหน้าลงดาบฟันนายทหารระดับนายพลอีก 14 คน ในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) ที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็น “ยอดขุนพลพยัคฆ์” ของกองทัพ นับเป็น “บิ๊กเสือ” ระลอก 2 ที่ถูกจับในข้อหาพัวพันการทุจริตคอร์รัปชันในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน
ถือเป็นฟ้าผ่ากลางฤดูร้อนที่ไม่มีใครระแคะระคายมาก่อน หนึ่งนั้นเป็นเพราะนายทหารระดับขุนพลพยัคฆ์เกือบทุกคนล้วนแต่เคยเป็นเลขานุการหรือคนสนิทของอดีตผู้บัญชาการ และนายทหารอาวุโสที่ดูแลการปฏิบัติงานของกองทัพในต่างแดนซึ่งส่วนใหญ่เพิ่งจะเกษียณอายุเมื่อปี 2556
นอกจากนี้ “บิ๊กเสือ” ที่ถูกหักเขี้ยวบางคนเพิ่งจะได้เลื่อนยศเป็นนายพลเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา หรือมีตำแหน่งเป็นถึงบัญชาการทหารระดับมณฑล หรือนายทหารจากหน่วยนาวิกโยธิน รวมถึงจากโรงเรียนเสนาธิการทหารด้วย การกระทำเช่นนี้จึงเท่ากับฉีกตำราหรือธรรมเนียมปฎิบัติของกองทัพ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาจะให้เกียรติบรรดานายทหารระดับนายพลที่เพิ่งได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งใหม่ๆ จะไม่มีการจับกุมหรือตั้งข้อหาใดๆ
ในช่วงนี้ แต่การสร้างธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ของสี จิ้นผิง และพีแอลเอ เหมือนกับตัดไม้ข่มนาม ทำให้นายทหารกังฉินไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ระดับ “บิ๊กเสือ” แค่ไหนต่างหวาดผวาไม่แน่ใจว่าจะโดนหวยล็อกในวันใด โดยไม่มีข้ออ้างหรือข้อยกเว้นใดๆ
หนึ่งใน “ยอดขุนพลพยัคฆ์” ที่ถูกจับกุมก็คือกัว เจิ้งกัง วัย 45 ปี บุตรชายของ กัว ปั๋วเซียง อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของอดีตนายพลสวี ไฉโฮ่ว วัย 71 ปี อดีต “บิ๊กเสือ” รายแรกที่ถูกจับและถูกตัดสินจำคุกเมื่อปีที่แล้วในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะเมื่อกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
กัว เจิ้งกัง ถูกจับกุมในข้อหา “มีการกระทำที่ขัดต่อวินัยอย่างร้ายแรง” ทั้งๆ ที่เพิ่งติดยศนายพลและได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคณะกรรมการประสานงานการเมืองประจำกองบัญชาการทหารประจำมณฑลเจ้อเจียงเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา คาดว่าการสอบสวนอาจโยงใยนำไปสู่การจับกุมกัว ปั๋วเซียง ผู้เป็นพ่อ และนางอู่ ฟางฟาง ภรรยา ที่เชื่อว่ามีส่วนพัวพันกับกรณีอื้อฉาวในโครงการก่อสร้างอาคารของกองทัพในเขตที่ดินของกองทัพในเมืองหางโจว
ทั้งนี้ นิตยสารการเงินไฉจิงเผยว่า นางอู่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทตงอู่ ที่ประสบปัญหาในโครงการก่อสร้างตลาดผลิตภัณฑ์โลหะบนพื้นที่ 300,000 ตารางเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2554 แต่ขณะนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ทั้งๆ ที่ได้เก็บค่าเช่าจากกลุ่มผู้ทำสัญญาเช่ากว่า 500 ล้านหยวน (ราว 2,500 ล้านบาท) แล้ว ทำให้กลุ่มผู้เช่ารวมตัวประท้วงที่บริเวณโครงการก่อสร้างเมื่อช่วงวันปีใหม่ที่ผ่านมา บางรายขู่จะยื่นฟ้องบริษัทกรณีที่โครงการล่าช้า ขณะที่หลายรายร้องตระโกน “กัว เจิ้งกัง คืนเงินให้พวกเราด้วย”
ด้านหนังสือพิมพ์พีแอลเอ เดลี่ อันเป็นหนังสือพิมพ์รายวันของกองทัพปลดแอก ยังได้เปิดเผยรายชื่อ “บิ๊กเสือ” บางคนที่เพิ่งถูกจับกุมล็อตใหม่ว่ารวมไปถึงหวัง อ้ายกั๋ว อดีตผู้บัญชาการหน่วยส่งกำลังบำรุงร่วม ประจำกองบัญชาการนครเสิ่นหยาง อันเป็นฐานอำนาจของอดีตนายพลสวี ถูกจับในข้อกล่าวหาละเมิดวินัยพรรคฯ อย่างร้ายแรงมาตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้ว อีกรายหนึ่งก็คือ จู เหอผิง อดีตเลขาฯ ของนายพลจาง ว่านเหนียน อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตเมื่อกลางเดือน ม.ค. ผ่านมา หลังจากถูกจับและถูกสอบสวนเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีหลาน เหว่ยเจี๋ย อดีตรองผู้บัญชาการทหาร ประจำกองบัญชาการหูเป่ย ถูกศาลทหารเมืองกวางโจวในมณฑลกวางตุ้งตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเมื่อเดือน ม.ค. นี้ในข้อหารับสินบน เมื่อไม่สามารถแจกแจงที่มาของทรัพย์สินจำนวนมหาศาลได้ อีกทั้งยังมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย อีกคนหนึ่งก็คือหยวน ซื่อจวิน อดีตผู้บัญชาการทหาร ประจำกองบัญชาการหูเป่ย ที่ถูกสอบสวนมาตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว และจาง ตงซุ่ย ที่เพิ่งติดยศนายพลเมื่อวันที่ 7 ม.ค. นี้
นักวิชาการปักกิ่งบางคนให้ความเห็นว่า การกวาดล้างในกองทัพปลดแอกอาจจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากงบประมาณประจำปีของกองทัพเพิ่มขึ้นด้วยเลข 2 หลัก เป็นอย่างน้อย 887,000 ล้านหยวน ผลจากการกวาดล้าง “บิ๊กเสือ” ในกองทัพ ทำให้เกิดคำถามตามมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาว่าควรจะมี “การแปรรูปกองทัพปลดแอก” จากกองทัพของพรรคฯ มาเป็นกองทัพประชาชนของประเทศหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่เป็นกองทัพเป็ดง่อยที่ไร้ประสิทธิภาพในการสู้รบ อย่างไรก็ดี นายทหารส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายังไม่มีนโยบายในเรื่องนี้
หลังจาก “บิ๊กเสือ” สวี ไฉโฮ่ว เสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน สื่อใหญ่น้อยได้ก็ทยอยเปิดโปงพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวงของสวี โดยเฉพาะการตบทรัพย์จากผู้ที่ต้องการมาเป็นทหารหรือต้องการเลื่อนตำแหน่ง เมื่อเร็วๆ นี้สถานีโทรทัศน์ฟีนิกซ์ได้สัมภาษณ์นายทหารหลายคนรวมไปถึงนายทหารคนสนิทคนหนึ่งของสวีที่ยอมรับว่าได้จ่ายเงินใต้โต๊ะ 10-20 ล้านหยวนให้สวี
ขณะที่สำนักข่าวซินหัวรายงานสั้นๆ ว่า แม้อัยการทหารจะตัดสินใจถอนฟ้องอดีตนายพลสวีเนื่องจากเสียชีวิตแล้วแต่กระบวนการยึดทรัพย์ที่ได้มาโดยมิชอบจะยังคงดำเนินต่อไป ส่วนใหญ่ทรัพย์สินเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งเงินสด หยก เพชร ภาพวาด และโบราณวัตถุหายาก ซุกซ่อนอยู่ในห้องใต้ดินภายในบ้านพักในกรุงปักกิ่ง ซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางถึง 2,000 ตารางเมตร
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การที่อดีตนายพลสวีต้องกลายเป็นเทวดาตกสวรรค์ในชั่วพริบตาเป็นผลจากการต่อสู้ทางการเมืองภายในพรรค เนื่องจากนายพลสวีเป็นเด็กปั้นของอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิง และยังเป็นพันธมิตรกับโจว หย่งคัง อดีตผู้นำหมายเลข 3 ของจงหนานไห่ที่ถูกจับและถูกตัดสินจำคุกในข้อหาทุจริตคอร์รัปชันเช่นกัน
นอกเหนือจากการกวาดล้างใหญ่ในกองทัพปลดแอกแล้ว คณะกรรมการตรวจสอบวินัยประจำคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือผู้คุมกฎของพรรค ยังได้เริ่มกระบวนการสอบสวนเลี่ยว หย่งหยวน รองประธานวิสาหกิจปิโตร ไชน่า ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่สุดของประเทศ ซึ่งเคยเป็นมือขวาของ เจียง เจี๋ยหมิ่น อดีตประธานซีเอ็นพีซี ผู้เป็นคนสนิทของโจว หย่งคัง ในข้อหามีการกระทำที่ละเมิดวินัยพรรคฯ อย่างร้ายแรงระหว่างนั่งแป้นเป็นผู้จัดการทั่วไปของไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์ป (ซีเอ็นพีซี) บริษัทแม่ของปิโตรไชน่า นับเป็นรองประธานปิโตรไชน่ารายที่สองที่ถูกสอบสวนในข้อหาร้ายแรงนี้ ซึ่งหมายถึง “ทุจริตคอร์รัปชัน”
ทั้งนี้ เลี่ยว หย่งหยวน ลูกหม้อของซีเอ็นพีซี ได้ชื่อว่าเป็นผู้คร่ำหวอดในภาคน้ำมันและก๊าซของแดนมังกร มากว่า 30 ปี ช่วงที่สี จิ้นผิง ค่อยๆ ตะล่อมกวาดล้างใหญ่ในเอ็นพีซีและปิโตรไชน่า ฐานใหญ่ของโจว หย่งคัง เลี่ยว หย่งหยวน กลับได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานของปิโตรไชน่าเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว โดยไม่ถูกสอยร่วงตามนายเก่าแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้คุมกฎของพรรคแถลงว่า ภายในปีนี้จะมีการล้างบางการทุจริตคอร์รัปชันในวิสาหกิจรัฐรายใหญ่ 26 ราย นอกเหนือจากซีเอ็นพีซีแล้ว ขณะนี้ก็ยังดำเนินการไต่สวน สวี เจี้ยนอี ประธานบริษัทไชนา เอฟเอดับเบิลยู คอร์ป วิสาหกิจรัฐรายใหญ่ในภาครถยนต์ด้วย
ขณะที่การรณรงค์กวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชันยังเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งนั้น หน่วยงานต่างๆ ก็เริ่มขยับตามโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากจงหนานไห่ก่อน ล่าสุดบริษัทชิโนเปก บริษัทน้ำมันแห่งชาติจีน อันเป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางด้านพลังงานและเคมีที่ทรงอิทธิพลของโลก ได้ประกาศคำสั่งห้ามพนักงานระดับสูงและระดับกลาง ตลอดจนพนักงานของกลุ่มบริษัทลูกและบริษัทในเครือ จัดงานศพและงานแต่งงานอย่างฟุ่มเฟือย โดยจำกัดคนร่วมงานได้ไม่เกิน 150 ราย อีกทั้งยังระบุชัดว่า ไม่ควรเชิญเจ้าหน้าที่ในระดับซูเปอร์ไวเซอร์ พนักงานในบังคับบัญชา ลูกค้า หรือบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องกับสายงานมาร่วมงาน และไม่ควรมีการมอบของขวัญแก่กันในงานลักษณะนี้ รวมทั้งห้ามเบียดบังใช้ยานพาหนะของบริษัทฯ ไปในงานมงคลและอวมงคลนี้ เพื่อลดความฟุ่มเฟือยและการใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลือง
คำสั่งนี้มีขึ้นหลังจากสื่อออนไลน์ได้โหมวิพากษ์วิจารณ์แฟชั่นการอวดรวยของหลิว เป๋าลี่ เศรษฐีจากธุรกิจพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ในเหอเป่ย ที่ทุ่มเงินกว่าพันล้านบาทจัดงานแต่งงานสุดหรูหราอลังการให้กับหลิว เฮ่อ ลูกชาย กับเจ้าสาวที่เป็นลูกผู้ใหญ่บ้านเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว เฉพาะค่าโต๊ะก็ตกตัวละ 9,999 หยวน (ราว 50,000 บาท) ไม่นับรวมค่ารถโรลสรอยซ์ แฟนทอม 30 คัน ไว้คอยรับส่งแขกอีกราว 200 ล้านหยวน (ราว 1,000 ล้านบาท) ค่ารถเฟอร์รารีสีแดงสำหรับบ่าวสาว และค่าจ้างนักร้องนักแสดงชื่อดังมาร่วมให้ความบันเทิง โดยไม่สนใจที่จะให้ความร่วมมือกับสี จิ้นผิง ที่รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนประหยัดเพื่อลดการคอร์รัปชันลงแต่ประการใด
บทบาทของสื่อออนไลน์ในการตีแผ่งานแต่งงานที่เหมือนกับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำของหลิว เป๋าลี่ มีขึ้นหลังจากหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ซึ่งเกาะติดกระแสการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างไม่ยอมปล่อย ได้นำเสนอรายงานพิเศษว่าอาวุธสำคัญชิ้นหนึ่งที่ช่วยให้การกำจัดการคอร์รัปชันได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อก็คืออินเทอร์เน็ต
ในรายงานพิเศษชิ้นนี้อ้างรายงานประจำปีของคณะนักวิจัยแห่งสถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติจีนที่รวบรวมไว้ในหนังสือ “สมุดปกฟ้าว่าด้วยสื่อใหม่” (Blue Book of New Media) ซึ่งฉบับล่าสุดเผยแพร่เมื่อกลางปี 2557 ระบุว่าสื่อใหม่ในจีนได้ก้าวสู่ยุค “ไมโคร” แล้ว เนื่องจากผู้ที่เข้ามาแชตส่วนใหญ่เป็นพวกชนชั้นกลาง ขณะที่ผู้ใช้ไมโครบล็อกส่วนใหญ่เป็นพวกรากหญ้า โดยประเด็นที่นำเสนอนั้นมีหลากหลายคละเคล้ากันทั้งเรื่องส่วนตัว เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมไปถึงการเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งการเปิดโปงในโลกออนไลน์นี้ได้ช่วยกระตุ้นความสนใจของประชาชนให้มาเข้าร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น
ในรายงานประจำปีของหนังสือเล่มนี้นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาระบุว่า สื่อออนไลน์ได้ช่วยจุดกระแสการตีแผ่การทุจริตฉ้อฉลของข้าราชการกว่า 156 ราย จนนำไปสู่การจับกุมและการสั่งฟ้อง ส่วนใหญ่ในข้อหาทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง 44 ราย และการใช้อำนาจในทางที่ผิด 16 ราย เทียบกับการเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ที่มีเพียง 78 รายเท่านั้น ในจำนวนนี้เป็นการทำผิดวินัยร้ายแรง 29 ราย และใช้อำนาจในทางที่ผิด 10 ราย
สี จิ้นผิง ที่มาภาพ : http://www3.pictures.zimbio.com/gi/Xi+Jinping+Nuclear+Security+Summit+2014+rVIVeH6XQg5l.jpg
หนึ่งในความสำเร็จที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีบรรณาธิการของนิตยสารการเงินไฉจิง ได้ใช้ไมโครบล็อกส่วนตัวเปิดโปงการทุจริตของหลิว เถี่ยหนัน อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพลังงานแห่งชาติและอดีตรองประธานคณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ จนนำไปสู่การถูกปลดออกจากตำแหน่งในข้อหาคอร์รัปชันเมื่อกลางเดือน พ.ค. 2556 ก่อนจะถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากยอมรับสารภาพว่ารับเงินสินบนกว่า 35 ล้านหยวน (ราว 175 ล้านบาท) ช่วงที่ดูแลการวางแผนเศรษฐกิจระหว่างปี 2545-2555
นอกจากนี้ ผลจากการจุดพลุข่าวการคอร์รัปชันของหลิว จื้อจวิน รัฐมนตรีกระทรวงรถไฟ บนโลกออนไลน์ที่เรียกร้องให้ตรวจสอบทรัพย์สินของหลิวที่เชื่อว่ามีมากกว่า 800 ล้านหยวน (ราว 4,000 ล้านบาท) ไม่นับรวมรถยนต์อีก 16 คัน นำไปสู่การจับกุม การปลดจากตำแหน่ง และการตัดสินประหารชีวิตหลิวเมื่อกลางปี 2556 ในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวงและใช้อำนาจในทางมิชอบ จนทำให้กระทรวงรถไฟเต็มไปด้วยสารพัดปัญหา รวมทั้งหนี้สินก้อนโตจากโครงการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง
ยิ่งกว่านั้น ชาวเน็ตยังประสบความสำเร็จในการรณรงค์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ต้องเปิดเผยทรัพย์สินในครอบครอง โดย หลิว จื้อจวิน เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนแรกที่ต้องแสดงทรัพย์สินในครอบครองต่อสาธารณะ ทำให้คณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางจำต้องเดินหน้าไฟเขียวให้แก้ไขกฎการรายงานสินทรัพย์ในครอบครองของนายทหารรวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์และเงินฝากต่อคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง ตามที่อดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ได้ชงเรื่องไว้หวังจะสร้างความโปร่งใสขึ้นในกองทัพปลดแอกแต่กลับถูกดองเรื่องมานาน
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้ชี้ถึงจุดอ่อนของการเปิดโปงผ่านสื่อออนไลน์ว่าต้องอาศัยเวลานานพอควรกว่าจะบังเกิดผล อาทิ มีข้าราชการแค่ 5 คนจาก 950 คน ที่ถูกเปิดโปงบนโลกออนไลน์แล้วถูกจับกุมและลงโทษ ซึ่งถือว่าน้อยมาก จุดอ่อนอีกจุดหนึ่งอันเป็นประเด็นอ่อนไหวที่สุดก็คือจะถูกรัฐบาลเข้ามาควบคุม “ข่าวลือ” จากสื่ออินเทอร์เน็ตได้ง่าย แม้ว่าข่าวลือที่ว่านั้นจะมีมูลความจริงอยู่บ้างก็ตาม