การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 มีมติเห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เรื่องมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) สำหรับการลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการประกอบธุรกิจ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
- กรณีขององค์กร Venture Capital จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผล/รายได้จากการโอนหุ้นที่รับจากบริษัทเป้าหมาย นาน 10 รอบบัญชี (10 ปี)
- กรณีของผู้ร่วมลงทุนกับ Venture Capital ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินปันผล/รายได้จากการโอนหุ้นที่จ่ายโดยบริษัท VC
เงื่อนไขของการยกเว้นภาษี
บริษัทเป้าหมาย
บริษัทเป้าหมายที่จะไปลงทุน ต้องเป็น "บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และไม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย"
บริษัทที่เข้าข่าย "กิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจ" จะต้องใช้เทคโนโลยีกลุ่มที่ สวทช. กำหนด, อยู่ในอุตสาหกรรม 10 กลุ่มตามรายชื่อ, และต้องขอการรับรองจาก สวทช. ด้วย
- อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร
- อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงานผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด
- อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
- อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า
- อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ
- อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ
- อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมหรืออุตสาหกรรมใหม่
กิจการร่วมลงทุน
- ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำ 20 ล้านบาท และกรณีทรัตส์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน ต้องมีมูลค่าเงินทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
- จดแจ้งการเป็นกิจการเงินร่วมลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 หรือ
- เป็นทรัสต์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
รายละเอียดของการงดเว้นภาษีมีเงื่อนไขย่อยๆ อีกเยอะ โปรดอ่านข้อความต้นฉบับเพื่อความชัวร์ครับ
- มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital)
- คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
- 1. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital)
- 2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น
- รัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
- กค. เสนอว่า
- 1. เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนให้มีการลงทุนของบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและทรัสต์ ให้ประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาตลาดการลงทุนในประเทศไทย และส่งเสริมให้มีการลงทุนในกิจการเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการประกอบกิจการตามประเภทอุตสาหกรรมที่สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำหนด จึงสมควรกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่กิจการเงินร่วมลงทุนสำหรับการลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการประกอบธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดกิจการเงินร่วมลงทุนที่สามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการประกอบการที่มีการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การผลิตและการบริการที่ทันสมัย ก่อให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของระบบเศรษฐกิจ
- 2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุนให้มีการลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการประกอบธุรกิจเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัท ซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนและผู้ที่ลงทุนในกิจการเงินร่วมลงทุนเป็นมาตรการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การผลิตและการบริการที่ทันสมัย ก่อให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของระบบเศรษฐกิจ
- 3. เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุนในการเป็นแหล่งเงินทุนให้กับกิจการที่มีการใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการสร้างมูลค่าเพิ่ม อันจะทำให้เกิดการกระตุ้นการลงทุนและการสร้างนวัตกรรมในภาคการผลิตและการบริการ กค. จึงได้เสนอมาตรการสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุนภายใต้หลักการ ดังนี้
- 3.1 สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกิจการเงินร่วมลงทุน
- 3.1.1 กำหนดให้กิจการเงินร่วมลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผลที่รับจากบริษัทเป้าหมาย ทั้งนี้ เฉพาะเงินปันผลในส่วนที่คำนวณได้จากการประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจตามประเภทอุตสาหกรรมที่กำหนดและได้รับการรับรองจากโดย สวทช.
- 3.1.2 กำหนดให้กิจการเงินร่วมลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทเป้าหมาย ที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ทั้งนี้ บริษัทเป้าหมายต้องประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับรายงานจากการโอนหุ้น
- 3.1.3 กำหนดให้การยกเว้นภาษีเงินได้ข้างต้นเป็นระยะเวลาสิบรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
- 3.2 สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ลงทุนในกิจการเงินร่วมลงทุน
- 3.2.1 กำหนดให้ผู้ลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินปันผลที่จ่ายโดยบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนหรือทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนทั้งนี้ เฉพาะเงินปันผลที่กิจการเงินร่วมลงทุนได้รับจากบริษัทเป้าหมายในส่วนที่คำนวณได้จากการประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจตามประเภทอุตสาหกรรมที่กำหนดเเละรับรองโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- 3.2.2 กำหนดให้ผู้ลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้จากการโอนหุ้นในบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน หรือรายได้จากการโอนหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหุ้นที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนโดยมีเงื่อนไขดังนี้
- (1) กรณีกิจการเงินร่วมลงทุนไม่มีกำไรสะสมให้ผู้ลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้จากการโอนหุ้นในบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน หรือรายได้จากการโอนหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อประกอบกิจการการเงินร่วมลงทุน ตามสัดส่วนการลงทุนของกิจการเงินร่วมลงทุนที่ได้ลงทุนในบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจ ทั้งนี้บริษัทเป้าหมายต้องประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับรายได้จากการโอนหุ้น
- (2) กรณีบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนมีกำไรสะสมจากรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการเงินร่วมลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของกำไรสะสมทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับรายได้จากการโอนหุ้นนั้น ให้ผู้ลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งจำนวน
- (3) กรณีทรัสต์เพื่อประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนมีกำไรสะสมจากรายได้
- จากการลงทุนในบริษัทเป้าหมายในส่วนที่คำนวณได้จากกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของกำไรสะสมทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับรายได้จากการโอนหน่วยทรัสต์นั้น ให้ผู้ลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลทางจำนวน
- (4) กำหนดให้ผู้ลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้จากการที่บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนเลิกกิจการตามสัดส่วนกำไรสะสมจากรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าทุน หรือ รายได้จากการที่ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนเลิกกันตามสัดส่วนกำไรสะสมที่คำนวณได้จากการลงทุนในบริษัทเป้าหมายเฉพาะส่วนที่เกิดจากการประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจ ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าทุน
- 3.3 หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
- 3.3.1 บริษัทเป้าหมายต้องเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และไม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- 3.3.2 กิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจ ได้แก่ กิจการซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักตามหลักเกณฑ์ที่ สวทช. ประกาศกำหนด เป็นฐานในการออกแบบและพัฒนาเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตหรือให้บริการอย่างเป็นระบบตามที่กำหนด และได้รับการรับรองโดย สวทช. โดยกรณีมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ให้ สวทช. สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากบริษัทผู้ขอรับรองในการประกอบธุรกิจประเภทอุตสาหกรรม 10 ประเภทดังต่อไปนี้ 1) อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร 2) อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงานผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด 3) อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ 4) อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข 5) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 6) อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า 7) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ 8) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 9) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ 10) อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมหรืออุตสาหกรรมใหม่
- 3.3.3 เงินทุนของกิจการเงินร่วมลงทุน กรณีบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำ 20 ล้านบาท และกรณีทรัตส์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน ต้องมีมูลค่าเงินทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
- 3.3.4 สถานะของกิจการเงินร่วมลงทุน
- (1) เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งได้จดแจ้งการเป็นกิจการเงินร่วมลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 และไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 อัฏฐารส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุนเพื่อการลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- (2) เป็นทรัสต์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
- 3.4 มาตรการข้างต้น จะส่งผลกระทบ ดังนี้
- 3.4.1 กิจการเงินร่วมลงทุนจะเป็นแหล่งระดมทุนให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเกิดใหม่ที่มีศักยภาพอันจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจที่มีนวัตกรรมของไทยได้มีโอกาสเติบโตต่อไป ทำให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถเชิงการแข่งขันของประเทศ
- 3.4.2 เป็นการสนับสนุนให้กิจการเงินร่วมลงทุนมีส่วนในการกระตุ้นและผลักดันกิจการเป้าหมายให้เข้าสู่ระบบการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพและมีมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้กิจการเป้าหมายเติบโตอย่างมั่นคง และสามารถพัฒนาตนเองเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในที่สุด
- 3.4.3 การสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุนจะทำให้เพิ่มช่องทางการลงทุนให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น อันจะเป็นการพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีความเข้มแข็ง
- 3.4.4 จะทำให้กิจการเป้าหมายสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน อันจะเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย
- 3.4.5 การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรการเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุนดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อรายได้การจัดเก็บจากฐานภาษีเงินได้ในปัจจุบันเนื่องจากเป็นการยกเว้นภาษีให้กับการประกอบกิจการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
- 1. กำหนดให้บริษัทที่จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ ต้องเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน หรือประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน และประกอบกิจการอื่นด้วย และต้องไม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- 2. กำหนดกิจการที่ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมที่รัฐต้องการสนับสนุนรวม 10 ประเภท และกิจการดังกล่าวต้องใช้เทคโนโลยีตามหลักเกณฑ์ที่ สวทช. ประกาศกำหนดเป็นฐานในการออกแบบและพัฒนาเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตหรือให้บริการ และได้รับการรับรองจาก สวทช.
- 3. กำหนดให้ทรัสต์ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ ต้องเป็นทรัตส์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน
- 4. กำหนดให้หลักเกณฑ์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และคุณสมบัติของบริษัทซึ่งประกอบกิจการร่วมลงทุน ทรัสต์เพื่อกิจการร่วมลงทุน รวมทั้งหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีเงินได้อันเนื่องมาจากการลงทุนในบริษัทซึ่งประกอบกิจการร่วมลงทุนหรือทรัสต์เพื่อกิจการร่วมลงทุน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดเบื้องหลังมาตรการนี้ว่า
“ตั้งแต่อดีตพูดกันเรื่องเวนเจอร์แคปปิตอลมานานมากแต่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ยาก เพราะดีมานด์ในขณะนั้นยังไม่เกิด แต่ขณะนี้สิ่งแวดล้อมต่างกัน มีสตาร์ตอัพใหม่ๆเกิดขึ้นจำนวนมาก จึงหารือกับ รมว.คลัง ต้องพยายามทำให้เกิดขึ้นมา ปัญหาเรื่องภาษีเป็นตัวกีดกันอยู่ จึงต้องปลดล็อกตรงนี้ก่อน และจะดูว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลแค่ไหนมีอะไรที่ต้องช่วยเหลือกันอีกบ้าง ในอนาคตอยากดึงให้บริษัทใหญ่ๆเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นคอปอเรตเวนเจอร์ เข้ามาถือหุ้นในเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพใหม่ๆ ซึ่งในต่างประเทศมีคอปอเรตเวนเจอร์มาก เช่น ที่สิงคโปร์ เรื่องเหล่านี้เป็นแนวโน้มของโลก”
ที่มา - Thaigov.go.th, Thairath
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น