วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2558

ครม.ทุบโต๊ะ! กองทุนร่วมลงทุนเอสเอ็มอีผ่านฉลุย

ครม.ทุบโต๊ะ! กองทุนร่วมลงทุนเอสเอ็มอีผ่านฉลุย
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการะทรวงการคลัง
        ครม.อนุมัติตั้งกองทุนร่วมลงทุนเอสเอ็มอี วงเงิน 1-2.5 หมื่นล้านบาท รัฐบาลประเดิมใส่เงิน 500 ล้านบาท เจาะจงรายที่มีศักยภาพและความตั้งใจจริง เน้นหน้าใหม่และขนาดเล็ก พร้อมเริ่มได้ ก.พ. 58
       
       นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการเอสเอ็มอี (Venture Capital) วงเงิน 1-2.5 หมื่นล้านบาท โดยเบื้องต้นรัฐบาลจะใส่เงินประเดิมจัดตั้งกองทุนจำนวน 500 ล้านบาท เพื่อเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์แต่ยังขาดแหล่งเงินทุน โดยจะมีการแยกกลุ่มธุรกิจ เช่น เกษตร เทคโนโลยีสูง นวัตกรรม หรือกลุ่มดิจิตอลอีโคโนมี ซึ่งจะมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการร่วมลงทุนได้ในเดือน ก.พ. 2558
       
       ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ภาครัฐจะมีสัดส่วนการร่วมลงทุนอยู่ที่ 10-50% โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากเอสเอ็มอีแบงก์ในฐานะภาครัฐที่จะใส่เงินประเดิม 500 ล้านบาท และส่วนที่เกินจากนั้นจะขอจัดสรรจากงบประมาณประจำปี หรือจากแหล่งอื่นตามความจำเป็น โดยสาระสำคัญของการจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นการสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในลักษณะการร่วมลงทุนในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์สูง
       
       ทั้งนี้ นโยบายหลักของกองทุนฯ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพและความตั้งใจจริงในการทำธุรกิจ โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ 1. เอสเอ็มอีระยะเริ่มต้น ซึ่งจะต้องมีเงินลงทุนเริ่มแรกไม่ควรเกิน 5 ล้านบาทต่อราย หรือมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่า 25% แต่ไม่เกิน 49% ของทุนจดทะเบียน 2. เอสเอ็มอีขนาดเล็กและกลาง ที่มีเงินลงทุนเริ่มแรกไม่ควรเกิน 30 ล้านบาทต่อราย หรือมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่า 25% แต่ไม่เกิน 49% ของทุนจดทะเบียน
       
       สำหรับการบริหารกองทุนดังกล่าว จะมีคณะกรรมการบริหารกองทุน 2 ชุดที่ตั้งขึ้น ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการการลงทุนของกองทรัสต์ 2. คณะกรรมการผู้ให้คำปรึกษาวิสาหกิจร่วมลงทุนสำหรับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม
       
       ทั้งนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ตัวแทนจากผู้ร่วมลงทุน ตัวแทนจากหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดและเข้าใจในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น โดยผลประโยชน์ที่ผู้ร่วมลงทุนจะได้รับ ได้แก่ เงินปันผลจากกองทุน ส่วนต่างกำไรที่เอสเอ็มอีบางรายในกองทุนได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ กำไรส่วนเกินจากการที่เจ้าของเดิมของเอสเอ็มอีเดิมซื้อหุ้นคืน และมูลค่าเพิ่มขึ้นของกองทุนเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
16 ธันวาคม 2557 19:58 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น