วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

เปิดผลตรวจ 10 ผักยอดนิยมของคนไทย พบ “กะเพรา” มีสารเคมีตกค้างมากสุด เตรียมใช้ กม.ผู้บริโภค เอาผิดผู้ประกอบการ

26 มีนาคม 2015
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เผยผลสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างในผัก 10 ชนิดที่คนไทยนิยมบริโภค พบ “กะเพรา” มีสารเคมีตกค้างมากสุด รองลงมาเป็น “ถั่วฝักยาว-คะน้า” เตรียมใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฟ้องเอาผิดผู้ประกอบการ
ตรวจสารตกค้าง
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2558 ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระหว่างการจัดงานประชุมเชิงวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประจำปี 2558 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) มูลนิธิชีววิถี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN ได้แถลงผลการเฝ้าระวังการตรวจสอบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนในผัก ประจำปี 2558 จากตัวอย่างผักที่คนไทยนิยมบริโภคมากที่สุด 10 ชนิด ประกอบด้วยคะน้า ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ พริกแดง กะเพรา กวางตุ้ง และผักบุ้งจีน โดยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 Thai-PAN ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผักทั้ง 10 ชนิด ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากห้างโมเดิร์นเทรด ที่ประกอบด้วยห้างเทสโก้โลตัส บิ๊กซี แม็คโคร ที่มีมาตรฐาน Q รับรอง และจากตลาดค้าส่งจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วยตลาดไท ปากคลองตลาด ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดบางใหญ่ พบว่าโดยภาพรวมมีผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน MRL ของกระทรวงสาธารณสุข ถึง 25%
ตรวจผัก
สัดส่วนผักที่สุ่มตรวจแล้วพบสารเคมีตกค้าง
ทั้งนี้ Thai-PAN ได้ขยายผลการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในผัก นอกจากการส่งตรวจในห้องทดลองไทยที่ได้มาตรฐาน ยังส่งไปตรวจในห้องทดลองอังกฤษ เพื่อตรวจสอบสารเคมีตกค้างให้ครอบคลุมหลากหลายกลุ่มมากขึ้น
โดยผลการตรวจสอบจากห้องทดลองภายในประเทศพบว่า ผักที่มีการปนเปื้อนมากที่สุด คือ “กะเพรา” มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานถึง 62.5% “ถั่วฝักยาว-คะน้า” เกินมาตรฐาน 37.5% “ผักบุ้งจีน-กวางตุ้ง-มะเขือเปราะ” เกินมาตรฐาน 25% ส่วนผักที่มีสารเคมีตกค้างน้อย คือ “แตงกวา-พริกแดง” ขณะที่ “ผักกาดขาว-กะหล่ำปลี” ไม่พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานเลย
โดยชนิดของสารเคมีที่พบตกค้างมากที่สุดคือยาฆ่าแมลงชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “ไซเปอร์เมทริน” (Cypermetthrin) ตกค้างในผักรวม 23 ตัวอย่าง คิดเป็น 28.75% ของตัวอย่างทั้งหมด
ส่วนผลการตรวจสอบจากห้องทดลองของอังกฤษ พบชนิดของสารเคมีที่ตกค้างในผักมากขึ้นจากเดิม 9 ชนิด เป็น 18 ชนิด โดย “คะน้า” กลับเป็นผักที่มีชนิดสารเคมีตกค้างมากที่สุด คือ 13 ชนิด ส่วน “กะเพรา” มี 10 ชนิด เท่ากับ “พริกแดง”
จำนวนชนิดสารที่ตกค้างในผัก
จำนวนชนิดสารเคมีที่ตกค้างในผัก
น.ส.ปรกชลกล่าวว่า เมื่อเรียงลำดับแหล่งที่มาของผักที่พบสารเคมีตกค้าง ตลาดบางใหญ่พบมากที่สุด 40% รองลงคือ บิ๊กซี ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท 30% แม็คโครและปากคลองตลาด 20% และเทสโก้โลตัสน้อยที่สุด 10%
เมื่อพิจารณาจากชนิดของสารเคมีที่ตกค้าง พบว่าเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น โดยสารกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิดแรก ยังไม่มีการยกเลิกให้ใช้ แต่ 2 ชนิดหลัง ถูกผลักดันจนล่าสุดประกาศให้ยกเลิกการใช้แล้ว เป็นเหตุให้ผลการสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างในผักของปี 2558 ลดลงจากปี 2557 อย่างเห็นได้ชัด
“การที่ภาคประชาสังคมรวมตัวกันเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในผัก มีการเผยแพร่ผลการตรวจสอบ และได้รับความร่วมมือจากสมาคมค้าปลีก สมาคมตลาดสดไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร โดยประชุมร่วมกันหลายครั้งในปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถแก้ไขปัญหานี้ไปได้ในระดับหนึ่ง และในฐานะผู้บริโภค เราคิดว่าตัวเลขการตกค้างในระดับ 25% ยังเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป” น.ส.ปรกชลกล่าว
น.ส.ปรกชลยังกล่าวว่า หลังจาก Thai-Pan สุ่มตรวจสอบสารเคมีตกค้างในผักมาตลอด 3 ปี จากนี้จะใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กับผู้ประกอบการ เช่น กรณี “ผักด๊อกเตอร์” ที่อ้างว่าเป็นผักปลอดสารเคมี และได้รับรองมาตรฐาน Q แต่ก็ยังพบสารเคมีตกค้างอย่างต่อเนื่อง
สารตกค้างล้างอย่างไรก็ไม่หมด
สารตกค้างล้างอย่างไรก็ไม่หมด
ด้านนายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า Thai-PAN และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะนัดหมายผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) หารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“ครั้งนี้จะมีการหยิบยกมาตรการทางกฎหมายมาดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้กระทำความผิดซ้ำซาก เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนได้มีโอกาสบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย ไม่ตายผ่อนส่งเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” นายพชรกล่าว
รายงานฉบับเต็ม: ตรวจผัก 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น