วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

ยก13รัฐวิสาหกิจเข้าซูเปอร์โฮลดิ้ง สคร.เร่งทำกฎหมายเทียบชั้นกองทุน"เทมาเส็ก"

updated: 05 เม.ย 2558 เวลา 19:38:04 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
สคร.เร่ง ยกร่างกฎหมายจัดตั้ง "ซูเปอร์โฮลดิ้ง" กำกับดูแลกำหนดทิศรัฐวิสาหกิจ คาดพร้อมดีเดย์ 1 ม.ค. 59 เตรียมนำร่องโยก 13 รัฐวิสาหกิจใหญ่ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ภายใต้กำกับ หวังยกระดับ "โฮลดิ้ง" เทียบชั้น "เทมาเส็ก"
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จะเสนอโครงสร้างการจัดตั้ง "บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ" (โฮลดิ้ง) ในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ "ซูเปอร์บอร์ด" ปลายเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมาย โดยคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและพัฒนาระบบบรรษัทภิบาล ที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธานยกร่างกฎหมาย และตั้งนายรพี สุจริตกุล เป็นประธานคณะทำงานยกร่าง โฮลดิ้งที่เกิดขึ้นยังคงถือว่าเป็นหน่วยงานรัฐ แต่จะมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ เป็นมืออาชีพมากขึ้น แล้วทำหน้าที่เป็นองค์กรเจ้าของ เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้น ซึ่งยืนยันว่ารูปแบบนี้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐวิสาหกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร โดยไม่ใช่การตั้งขึ้นมาเพื่อเป้าหมายนำรัฐวิสาหกิจไปแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแน่นอน

"เบื้องต้นโฮลดิ้งจะกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ13แห่งที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะมีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณ 60% ของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 56 แห่ง" นายกุลิศกล่าว

รัฐวิสาหกิจ 13 แห่งดังกล่าว ประกอบด้วย บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 6 แห่ง คือ บมจ.การบินไทย, ท่าอากาศยานไทย, อสมท, ปตท., ปตท.สผ. และธนาคารกรุงไทย และบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯอีก 7 แห่ง ได้แก่ ทีโอที, กสท โทรคมนาคม, ขนส่ง (บขส.), ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์, ไปรษณีย์ไทย, อู่กรุงเทพ และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ตามรายงานข้อมูล ณ มิ.ย. 2557 รัฐวิสาหกิจทั้งหมดมีสินทรัพย์รวม 11.85 ล้านล้านบาท

นายกุลิศกล่าวว่า กรณีบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของโฮลดิ้งจะเข้ามาด้วยหรือไม่ เรื่องนี้คณะทำงานกำลังพิจารณา อย่างไรก็ตาม หากรวมบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ในโฮลดิ้ง ก็จะมีมากกว่า 13 แห่ง ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทลูกของ บมจ.ปตท. ที่มีเกือบ 40 บริษัท ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวอีกว่า หลังยกร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะเสนอ คนร. เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.ก่อนเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือน ก.ค.-ก.ย. เพื่อให้สามารถสรรหากรรมการ และกรรมการผู้จัดการ ให้ได้ภายในไตรมาสสุดท้าย และคาดว่าโฮลดิ้งจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2559 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การสรรหากรรมการผู้จัดการโฮลดิ้งจะใช้มาตรฐานเดียวกับการสรรหาผู้ว่าการ ธปท. หรือเลขาธิการ ก.ล.ต. นายกุลิศกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากโฮลดิ้งดำเนินการไประยะหนึ่งแล้ว หากทำได้ดี สามารถยกระดับไปเหมือนกับ "เทมาเส็ก" ของสิงคโปร์ หรือ "คาซาน่า" ของมาเลเซียได้ ก็สามารถจะแปลงรัฐวิสาหกิจที่เป็นกฎหมายจัดตั้งให้เข้าไปอยู่ภายใต้กำกับของโฮลดิ้งเพิ่มเติมได้อีก และในทางกลับกันหากดำเนินการแล้วไม่ดีขึ้น ก็อาจจะยุบเลิก กลับมาอยู่กับ สคร.ก็ได้

"การที่จะตั้งโฮลดิ้งขึ้นมา มีวัตถุประสงค์ให้เป็นองค์กรเจ้าของที่จะมาดูแลรัฐวิสาหกิจ ทำในฐานะเจ้าของจริง ๆ ทำเรื่องจัดทำแผนกำหนดทิศทาง นโยบายผู้ถือหุ้น การเลือกกรรมการ การประเมินผลกรรมการ การดูการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสม โดยมองว่าสิ่งที่เป็นข้อจำกัดที่ผ่านมา คือ สคร. เป็นหน่วยงานราชการ การบังคับใช้นโยบายต่าง ๆ ก็ทำได้ไม่คล่องตัวนัก แล้วก็ยังมีกระทรวงเจ้าสังกัดดูแลรัฐวิสาหกิจอยู่ สคร.จึงเป็นเหมือนแค่ที่ปรึกษา อย่างไรก็ดีแม้จะตั้งองค์กรเจ้าของแล้ว การจะเอารัฐวิสาหกิจไป 100% เลยก็ยังไม่ได้" นายกุลิศกล่าว

นอกจากนี้ คนร.ยังมีมติให้ยกร่างกฎหมายโดยนำหลักบรรษัทภิบาล (CG) มาใช้ทั้งกับรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งแนวทางระบุในกฎหมายให้ชัดเจน คือ กรรมการรัฐวิสาหกิจ จะต้องมาจากการคัดเลือก และข้าราชการจะไม่นั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือหากจำเป็นก็จะต้องผ่านระบบการสรรหาเช่นเดียวกับกรรมการอื่น ๆ

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. และประธานคณะอนุฯ คนร. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การร่างกฎหมายจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ น่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย. ก่อนที่ตนจะหมดวาระดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจปัจจุบันมีขนาดใหญ่และมีบทบาทสำคัญสำหรับนำพาประเทศ เพราะมีสินทรัพย์รวมกันกว่า 11 ล้านล้านบาท เกือบเท่าจีดีพีของประเทศ และยังมีงบประมาณปีละกว่า 5 แสนล้านบาท ครอบคลุมทรัพยากรยุทธศาสตร์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ การคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะวางรากฐานระบบบรรษัทภิบาลและมีองค์กรเจ้าของเกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น