เมื่อสิ้นไตรมาส 1 (วันที่ 31 มี.ค. 2015) ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ระบบทุนนิยมยุคใหม่ ที่ใครๆก็ให้ความสนใจกับมันค่อนข้างน้อย แต่ด้วยความที่ผมคอยติดตาม และเอาใจช่วยพี่ใหญ่ของเอเชียมาตลอด รวมถึงเงินลงทุนของท่านลูกค้าที่สู่ฟันฝ่าทนถือกับตลาดหุ้นจีนมาซักระยะ ทำให้ข่าวอะไรในจีน ก็เป็นต้องอ่านไปก่อน ไม่งั้น เด๋วคุยกับเค้าไม่รู้เรื่อง!!
สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นก็คือ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ ที่ก่อตั้งโดยพี่ใหญ่อย่างจีน โดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB นั้นเอง ผมพาไปดูรายละเอียด ผ่านการถามตอบให้เข้าใจง่ายๆก็แล้วกันครับ
Q : ทำไมจีนถึงอยากตั้ง AIIB ขึ้นมา? โลกนี้ก็มี IMF มี World Bank อยู่แล้วนิ แถมในเอเชียเองก็มี ADB (Asian Development Bank) ด้วยเหมือนกัน
A : เรื่องทั้งหมด มันเกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2013 ตอนนั้น ประธานาธิบดี สี จิ่นผิง ไปเยือนอินโดนีเซีย แล้วพูดออกสื่อถึงความในใจของตัวเองครั้งแรกกับอินโดฯว่า จีนมีความสนใจอยากจะตั้งธนาคารซักแห่งเป็นที่ระดมทุนในการก่อสร้างพวกโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียซึ่งยังต้องพัฒนากันอีกเยอะ แต่ตัวสี จิ่นฝิงเองก็เข้าใจว่า หลายประเทศขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้การพัฒนาล่าช้า
Q : ยังไม่ได้ตอบเลยว่า IMF, World Bank และ ADB ก็มี ทำไมต้องตั้งใหม่?
A : IMF และ World Bank มีหัวเรือใหญ่เป็นสหรัฐฯ ส่วน ADB มีหัวโจกคือญี่ปุ่น แถมทั้ง 3 สถาบันการเงิน ส่วนใหญ่ยื่นมือเข้าไปช่วยตอนประเทศอื่นๆมีปัญหา แล้วเข้าไปยุ่งยากในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารหลายอย่าง เหมือนเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจว่างั้นเถอะ แต่ AIIB นั้น ความตั้งใจของจีนก็คือ เพื่อการลงทุนจริงๆ และการลงทุนที่ว่าก็คือ การลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของภูมิภาคเอเชีย เพราะถ้าเอเชียโตได้ ก็หมายถึงจีนโตได้เช่นกัน
Q : เข้าใจละ แล้วสมาชิก AIIB มีใครบ้าง?
A : ผ่านจากวันที่จีนคุยกับอินโดฯไปหนึ่งปี ประเทศที่จะเข้าร่วมก่อตั้งลงขันให้เกิด AIIB ณ ตอนนั้นมีจำนวนทั้งหมด 21 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียทั้งหมด ที่น่าแปลกคือ จีนริเริ่มไอเดียกับอินโดฯ แต่ List แรกที่โชว์ออกมากลับไม่มีอินโดฯเป็นสมาชิก กลับมาโผล่อีกรอบในปี 2014 ที่น่าสนใจคือ วันที่ 6 มี.ค. ยังมีประเทศที่จะเข้าร่วมก่อตั้งแค่ 27 ประเทศ แต่พอถึง Deadline วันที่ 31 มี.ค. ปั๊บ กลับกลายเป็น 51 ประเทศเฉยเบยยยย เล่นเอาพี่เบิ้มอย่างอเมริกาที่เคยค้านหัวชนฝาถึงกับโดน Stun ไป 3 วิทีเดียว
Q : แล้วทำไมอเมริกาไม่ร่วมด้วยละ?
A : เอาจริงๆ ทีแรกอเมริกาก็ไม่ได้อะไรกับโครงการนี้ เพราะคิดว่า World Bank กับ IMF ที่มี มันก็เพียงพอที่จะกุมอำนาจของโลกนี้ไว้แล้ว วะฮาๆๆๆๆ (ทำเสียงแบบวายร้ายในการ์ตูนช่อง 9) แต่ทีเด็ดของ AIIB มันอยู่ที่ จีนสามารถกล่อมให้พันธมิตรตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รักกันอย่างเน้นแฟ้นมาตลอด เข้ามาเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งด้วย ประเทศทีว่านี้ก็คือ อังกฤษ นั้นเอง เลยทำให้กลุ่มประเทศทางฝั่งยุโรปทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ก็ต่างเข้าร่วมเป็นสมาชิก ถึงแม้จะมีปัญหาคว่ำบาตรกับรัสเซียตั้งแต่เรื่องยูเครน แต่ทั้งสองภูมิภาคก็ร่วมมือกันตั้ง AIIB ด้วย ไงละ ไม่ธรรมดาชิมิ ต้องยกเครดิตให้พี่จีนนะครับ ทำให้เกิดความปรองดองกันได้ขนาดนี้
Q : ในสมาชิก AIIB สรุปคือ ไม่มีอเมริกา .. เอ๊ะ ไม่มีญี่ปุ่นด้วยนิ?
A : ช่ายครับ อเมริกามั่นใจในอำนาจของตัวเอง และเดินเกมส์กดดันนานาชาติไม่ให้เข้าร่วมในช่วงแรก หวังว่าจะขู่สำเร็จเหมือนอย่างที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเองก็เป็นหัวเรือใหญ่ของ ADB ก็ไม่อยากเสียหน้ามาร่วมเป็นสมาชิกด้วย (แต่ข่าวว่า ก่อน Deadline ก็มีลังเลๆ แบบคิดอยากเข้าร่วม AIIB เหมือนกัน) ดังนั้น ผลที่ออกมา จำนวนสมาชิกที่มากขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า อำนาจของสหรัฐฯกำลังถูกท้าทายเพิ่มมากขึ้น และนานาประเทศก็พร้อมจะไม่อยู่ภายใต้อาณัติสัญญาเดิมๆ สหรัฐฯซึ่งเคยยุยงให้ประเทศอื่นแตกคอกัน และวิ่งเข้าไปหาประโยชน์จากความขัดแย้ง กำลังโดนจีนยุให้แตกคอกับพันธมิตรอย่างชาติยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่า ดาบนั้นคืนสนอง นะขอรับ
Q : จีน จะได้ประโยชน์อะไรจากการจัดตั้ง AIIB?
A : ข้อแรกซึ่งนับเป็นความสำเร็จขั้นที่หนึ่งก็คือ เป็นการท้าทายอำนาจสหรัฐฯ และเป็นฝ่ายชนะอีกต่างหาก เท่ากับว่า ในเวทีโลก จีนจะมีที่ยืนที่กว้างมากขึ้น เปิดโอกาสมากขึ้น ในแง่ของเศรษฐกิจนั้น จีนถือเป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองมหาศาล หาที่ลงทุนอยู่ตลอดเวลา แต่ที่ไม่ลงทุนในบ้านตัวเองเพราะกลัวฟองสบู่ ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากเงินทุนตัวเองด้วยการไปปล่อยกู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนา Infrastructure ในระยะยาว ไม่มองประเทศอื่นในเอเชียเป็นศัตรู แต่มองว่าเป็นเพื่อนบ้าน ปลดล็อคศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้านได้ ก็เท่ากับทำให้จีนแผ่นดินใหญ่มีโอกาสที่มากขึ้นตามไปด้วย ถือว่าไม่เลวเลยทีเดียว
อีกสิ่งหนึ่งที่จีนพยายามทำมาซักระยะก็คือ De-Dollarzation หรือการพยายามลดความสำคัญของค่าเงิน USD ลง และพยายามทำให้หยวน (RMB) เป็นสกุลสากลให้ได้
(อ่านบทความเรื่อง De-Dollarization ปฏิบัติการ ลดอำนาจ สหรัฐฯ http://www.iammrmessenger.com/?p=1192)
Q : แล้ว AIIB นี่ มีเงินทุนเท่าไหร่?
A : ในช่วงแรกจีนตั้งใจจะ Funding ที่วงเงิน 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ($50 Billion) แต่เอาจริงๆ มันน้อยเกินไปครับ คิดเป็นแค่ 1 ใน 3 ของเงินทุนของ ADB เท่านั้นเอง มาช่วงหลังเลยประกาศตั้งไว้ที่ $100 Billion แทน โดยจีนบอกว่า จะลงขันเงินตัวเองไปเลย 50% ป๊าไหมละ หุหุหุ ทั้งนี้กลุ่มประเทศสมาชิกที่อยู่ในเอเชียจะลงขัน 70% ของส่วนที่เหลือจากที่จีนลงไป (70% ของ $50 Billion) และอีก 30% เป็นสัดส่วนของกลุ่มประเทศนอกเอเชีย โดยแบ่งลงทุนกันเท่าไหร่ ก็เอาตามสัดส่วน GDP ไป ง่ายดี โดยจะเริ่มปล่อยกู้ หรือดำเนินงานในช่วงสิ้นปีนี้นะครับ
Q : ผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนของโลกเราละ?
A : ขณะนี้ยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะประเมินอะไร เพราะกว่าจะเริ่มต้นทำงาน ก็ปลายปี 2015 นี้ แต่การเกิดขึ้นของ AIIB จะทำให้จีนมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นแน่นอน และการเปิดประเทศของจีน จะถูกกดดันจากนานาชาติให้สอบถามถึงความโปร่งใสถึงการดำเนินนโยบายของ Policy Maker และตัวบริษัทที่ประกอบธุรกิจในจีนเอง ตรงนี้ ก็เหมือนจะเป็นหัวใจหลักที่สี จิ่นผิง ต้องการจะ Reform ประเทศ หรือผ่าตัดการคอรัปชั่นอันมหาศาลในจีนอยู่แล้ว ดังนั้น หากจีนทำตามเงื่อนไขและการยอมรับจากนานาประเทศได้จริง ย่อมหมายถึงการพัฒนาขึ้นของตลาดทุน ที่จีนมีเป้าหมายลึกๆอีกอย่างก็คือ อยากเข้าไปอยู่ใน MSCI EM ให้ได้ภายในปี 2016 ลองคิดดูสิครับ ถ้าตลาดหุ้นจีนเข้าไปอยู่ใน MSCI ได้จริงๆ จะดูดเงินลงทุนจากพวก ETF ทั่วโลกได้อีกเท่าไหร่? น่าคิดนะ
ติดตามบทวิเคราะห์ และมุมมองต่อเศรษฐกิจและการลงทุนได้ที่
http://iammrmessenger.com
Mr.Messenger รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น