วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ตีแผ่คำสอน "3 สุดยอดพระสงฆ์" อ่านแล้วชีวิตจะดีงาม

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
30 กรกฎาคม 2558 20:00 น.
ตีแผ่คำสอน 3 สุดยอดพระสงฆ์ อ่านแล้วชีวิตจะดีงาม
        ด้วยความที่เมืองไทยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ พุทธศาสนิกชนชาวไทยควรภูมิใจ เพราะอย่างน้อยประเทศไทยไม่เคยขาด "พระอริยสงฆ์" ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และที่สำคัญพระดีๆ ในประเทศไทยมีอยู่มากมาย เป็นภิกษุสงฆ์โดยเนื้อแท้ตามหลักพระพุทธศาสนา โดยแต่ละท่านให้แง่คิดผ่านคำสอนที่เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยข้อคิดและหลักธรรมมากมาย ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ถือโอกาสอันดีขอรวบรวมแง่คิด และคำสอนที่น่าสนใจของ 3 สุดยอดพระสงฆ์ ดังต่อไปนี้!
      
        
       4 ปีไม่เคยลืม "หลวงตามหาบัว"
        
       ย้อนกลับไปเมื่อเช้าวันที่ 30 มกราคม 2554 พุทธศาสนิกชนสุดโศกเศร้ากับการจากไปของหลวงตามหาบัว พระสงฆ์สายวิปัสสนากรรมฐาน 20 รูป แบกเตียงที่สรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด หรือวัดเกษรศีลคุณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ออกมาจากกุฏิ แม้ว่าเวลาจะผ่านมา 4 ปี แล้วแต่ภาพเหล่านั้นยังอยู่ในความทรงจำของศิษยานุศิษย์ของหลวงตาไม่เคยลืม 
        
       “หลวงตามหาบัว” อริยสงฆ์ผู้มอบธรรมและประโยชน์แก่แผ่นดิน แม้ว่าจะละสังขารไปแล้ว แต่สิ่งที่หลวงตาให้ไว้กับประเทศ คือ การทำพินัยกรรมไว้ 3 ฉบับ ระบุว่าทรัพย์สินทุกบาททุกสตางค์จากการบริจาคจากผ้าป่าช่วยชาติมอบให้คลังหลวงทั้งหมด นอกจากนี้ หลวงตามหาบัวหาไม่ได้มีเพียงบทบาททางด้านการเผยแผ่พุทธศาสนาและการปฏิบัติกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (พระอริยสงฆ์แห่งแผ่นดินอีสาน ผู้เชี่ยวชาญกรรมฐาน ที่หลวงตามหาบัวได้ฝากตัวเป็นศิษย์) เท่านั้น แต่ยังมีบทบาททางสังคมที่โดดเด่นรูปหนึ่งแห่งวงการสงฆ์ โดยเฉพาะเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ที่ท่านเป็นทัพหน้าระดมเงินทองเพื่อช่วยชาติ และนี่คือคุณูปการที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้แก่แผ่นดินผ่านมุมมองของบุคคลต่างๆ 
      
       

      
       

      
        
       พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี พระนักเทศน์ นักเขียน และผู้ก่อตั้งสถาบันวิมุตตยาลัย ก็ได้แสดงความรู้สึกผ่านมุมมองว่า หลวงตามหาบัวเป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ภิกษุสามเณรเพื่อเป็นสมณะที่ดี
        
       “หลวงตามหาบัว ท่านเป็นบัวพ้นน้ำ ท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั่วทุกภาค ทุกแห่ง ทั้งยังเป็นพระป่าที่มีความเมตตาต่อสังคมเมือง จะเห็นได้จากทุกครั้งที่บ้านเมืองมีวิกฤต ทั้งท่านยังกล้าเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ที่กล้าหาญทางจริยธรรม กล้าท้าทายอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรม กล้าวิพากษ์วิจารณ์การเมืองน้ำเน่า กล้าเตือนสังคมไทยในประเด็นที่นอกลู่นอกทางอย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับภิกษุสามเณรที่ปรารถนาจะเป็นสมณะที่ดี หลวงตามหาบัวท่านจึงเป็นเหมือนลมหายใจแห่งพระป่าสายหลวงปู่มั่นที่ยืนหยัดอย่างโดดเด่น และพร้อมรับการท้าทายของยุคสมัยให้ผู้คนร่วมยุคสมัยได้ศึกษา เรียนรู้ ได้เคารพศรัทธา และได้รู้ว่าพระที่แท้จริงนั้นควรมีปฏิปทาอย่างไร”
        
       อีกหนึ่งเสียงของความรู้สึกสูญเสีย ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงตามหาบัว พระอาจารย์นพดล วัดป่าดอยลับงา จังหวัดกำแพงเพชร ท่านได้หวนระลึกถึงคุณงามความดีและคำสอนของหลวงตาที่เคยสั่งสอนไว้
        
       “หลวงตาเป็นผู้ที่นำเอาหลักคำสอนทั้งหมดของพระอาจารย์มั่น มาถ่ายทอดได้อย่างครบถ้วนที่สุด สรุปง่ายๆ ว่าท่านสอนให้ลูกศิษย์ลูกหาทุกคนมีสติ ปัญญา ศรัทธา และความเพียร มุ่งสู่ความพ้นทุกข์ ท่านว่ามือของตัวท่านกับมือของลูกศิษย์ ญาติมิตร เพื่อนฝูง ล้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ใช้แทนกันได้”
      
       

      
        
       แม้ว่าการจากไปของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่คนไทยทั้งประเทศและลูกศิษย์ก็ยังคงระลึกถึงคุณงามความดีและคำสอนของหลวงตาที่เคยสั่งสอนไว้ สุดท้ายนี้คงต้องหยิบยกคำสอนหลวงตาตอนหนึ่งไว้ให้คนไทยในปัจจุบันนี้ว่า 
        
       "การช่วยชาติที่แท้จริง ให้ต่างหันมาแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ การทรงมรดกธรรมของพระพุทธศาสนา เอาศีลเอาธรรม ความประพฤติดีงาม ด้วยเหตุผลหลักเกณฑ์เข้ามาอุดหนุนจิตใจ จนมีหลักประกันภายในใจ เรียกว่า มีหลักใจ โดยหันกลับมาปรับปรุงตัวเราแต่ละคนๆ ให้มีความประหยัด ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ด้วยการอยู่การกินการใช้การสอยการไปการมา 
        
       โดยให้ดูแบบของพระผู้มีหลักเกณฑ์ภายในใจ เป็นแบบอย่างของความประหยัด ของผู้มีหลักเกณฑ์เหตุผล ให้มีธรรมคอยเหนี่ยวรั้งไว้ในใจไม่ให้ถูกลากจูงด้วยกิเลสตัณหาราคะ ด้วยความโลภโมโทสัน จนเลยเขตเลยแดน เหมือนรถที่มีแต่เหยียบคันเร่ง ไม่เหยียบเบรก ย่อมเป็นภัยอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ในที่สุด หากต่างมีการหันมาอุดหนุนทั้งทางด้านหลักทรัพย์ และหลักใจควบคู่กันไป ปัญหาต่างๆ ของชาติย่อมทุเลาเบาบางลงเป็นลำดับๆ ไป"
      
       หลวงพ่อคูณ "เทพเจ้าแห่งที่ราบสูง" 
        
       กลางปี 2558 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ซึ่งนับว่าเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของวงการพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง ที่ได้สูญเสีย พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ) หรือหลวงพ่อคูณ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.อ่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ และหากได้พบหรือได้สนทนาธรรมจะทราบว่าท่านคือ "เทพเจ้าแห่งที่ราบสูง" เพราะคำสอนของหลวงพ่อคูณนั้นมีเรียบง่าย เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา แต่แฝงไปด้วยข้อคิดและหลักธรรมมากมาย ดั่งเช่นคำคม 10 ข้อ "กูให้มึง" ที่กลายเป็นข้อคิด และเตือนสติให้กับชาวพุทธมาจนปัจจุบัน 
      
       

      
        
       1. ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมดมันยิ่งได้ 
        2. กูให้พวกมึงรู้จักพอเพียง 
        3. กูทำดีเขาจึงให้ของดีกูมา 
        4. กูไม่เคยยินดียินร้ายในลาภยศสรรเสริญ 
        5. กูดีใจที่เกิดมาเป็นคนจนเพราะได้สร้างทานบารมี ถ้ากูเกิดมาเป็นคนรวยป่านนี้ คำว่า บุญ ก็ไม่รู้จักกัน 
        6. เงินเป็นทาสกู กูไม่ยอมเป็นทาสเงิน 
        7. การทำตัวให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่นั้นง่าย แต่จะสร้างสมบุญให้มีบารมีนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องเป็นผู้ให้ด้วยธรรมอันบริสุทธิ์จริง 
        8. กูจะทำให้ชาวบ้าน เพื่อตอบแทนข้าวน้ำ ที่เขาให้กูกินทุกวัน
        9. เกิดมาแล้ว รักความสงบ ให้มีศีลธรรมไว้ประจำใจทุกๆ คน โลกจะได้อยู่ชุ่มกินเย็น 
        10. พระไม่ได้อยู่กับคนชั่วแต่อยู่กับคนดี ให้นึกว่าพระมากับเราจะทำชั่วไม่ได้ อย่าทำตัวผิดศีลธรรม ผิดจารีตประเพณี โดยเฉพาะการทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
        
       ไม่หมดเพียงเท่านี้ หลวงพ่อคูณยังสอนสั่งในด้านต่างๆ ไว้มากมาย ทั้งสอนให้คนไทยมีศีลธรรม ให้ยึดมั่นในเรื่องของบาป บุญ คุณ โทษ ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องของการมีสติในเรื่องของความไม่ประมาท อีกทั้ง ต้องรู้จักหน้าที่ของตนเอง และอย่าทุจริตต่อคนอื่น
        
       “อยากให้บ้านเราเจริญนะ ไม่ยากหรอก ตั้งอยู่ในองค์ปัญจะทั้ง 5 คือรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ ไม่ให้ขาด อย่าให้ด่างพร้อย เป็นมนุษย์สุดประเสริฐ หรือใครก็ตาม แม้แต่พระเราก็ต้องรักษาศีล 5 ถ้าไม่มีศีล 5 ประจำใจ ไม่ว่าพระรูปใดรูปหนึ่ง ก็เป็นพระไม่ได้เหมือนกัน
        
       “กูไม่มีอะไรมาก กูไม่มีอะไรจะสอนพวกมึงหรอก เพราะพวกมึงก็รู้ว่ากูพูดไม่เป็น พูดไม่เก่งเหมือนเขา เทศนาว่ากล่าวอะไรก็ไม่เป็น กูมีแต่ว่าให้ละชั่ว ทำดีกันเท่านั้นแหละ บุญบาปมีจริงลูกหลานเอ๊ย ให้เชื่อว่าบุญมีจริง บาปมีจริง ให้ละชั่ว ทำดี มีศีลธรรมประจำใจ บุญเห็นกับตา บาปเห็นกับตา รักตัวกลัวภัยอย่าทำชั่ว ให้ตั้งอยู่ในเมตตา”
        
       “การขับรถอย่างระมัดระวังไม่ประมาท สำคัญกว่าการเจิม อย่างโบราณท่านว่า วิ่งไม่ดูตาม้าตาเรือก็ชนกันตาย การขับรถจะต้องดูทาง ถ้ามันคดโค้งจะต้องระมัดระวัง”
        “ลูกหลานเอ๋ย การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม จงทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด อย่าได้ทุจริตต่อหน้าที่เลย
        
       “หากมึงคิดเป็นผู้นำของแผ่นดิน องค์กรหรือครอบครัวที่ดี มึงต้องทำตัวเหมือนกระโถน ยอมรับได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเรื่องดีเลว เรื่องดีมึงเก็บไว้กับตัว เรื่องเลวมึงทิ้งไว้ตรงนั้น แม้เขาถูกหรือผิดมึงก็ต้องรับฟังค่อยๆ บอกให้เขาแก้ไข”
      
        
       จากคำสอนที่ไล่เรียงมานี้ จะเห็นได้ว่าเป็นคำสอนที่ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าท่านจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่คำสอนเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้กับพุทธศาสนานิกชนไม่น้อย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหลายคนจึงยกย่องให้ท่านเป็น "เทพเจ้าแห่งที่ราบสูง"
      
       

      
       

      
       ที่ใดมีกอด ที่นั่นมีกัด
        
       ต่อกันด้วยหลักธรรม คำสอนดีๆ จากพระอาจารย์มหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือรู้จักกันดีในนามปากกา ว.วชิรเมธี เป็นภิกษุชาวไทย มีชื่อเสียงว่าเป็นพระนักวิชาการ นักคิด นักเขียน และนักบรรยายธรรม ซึ่งท่านเป็นพระที่มีชื่อเสียงในเรื่องของหลักคำสอนที่เป็นคติธรรม คำคม ที่ให้ข้อคิดในหลักธรรมแห่งการดำเนินชีวิต ใช้ถ้อยคำที่อ่านและเข้าใจง่าย 
        
       โดยแต่ละข้อความคำคมแทรกคำสอนให้คนรู้จักคิด อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านที่สนใจหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ให้ได้นำไปปฎิบัติ เหตุนี้เองจึงทำให้เหล่าพุทธศาสนิกชนคนไทยได้เอามาแชร์ผ่านโลกออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก และต่อไปนี้คือ 7 มหัศจรรย์แห่งชีวิต และ 7 หลักคิดจาก ว.วชิรเมธี
      
       

      
        
       1. ความคิดดีๆ เป็นที่มาแห่งความสุข แน่นอนว่าเมื่อเรามีความคิดดีๆ โลกก็จะดีตามอย่างที่เราคิด
        
       2. ปัญญาดีย่อมมีความสุข สำหรับคนมีปัญญา วิกฤตอยู่ไหน ปัญญาอยู่นั่น ส่วนคนด้อยปัญญา โอกาสอยู่ไหน วิกฤตอยู่นั่น จงเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา เปลี่ยนอุปสรรคเป็นอุปกรณ์
        
       3. ชีวิตของคนดีคือชีวิตที่มีความสุข ดังท่านว่า ดอกไม้หอมได้บางดอก แต่มนุษย์หอมได้ทุกคน หากเขาเป็นคนดี กลิ่นดอกไม้แม้หอมขนาดไหน ก็หอมได้แต่ตามลมเท่านั้น ส่วนกลิ่นความดีของคนดีนั้น หอมหวนทวนลม ฟุ้งกระจายไปในทิศทั้งสี่ ดอกไม้ผลิบานแล้วไม่นานก็ร่วงโรย แต่ความดีของคนนั้น สถิตเป็นนิรันดร์เหนือกาลเวลา
        
       4. ปฏิสัมพันธ์ดีก็มีความสุข ซึ่งเป็นการเลือกคบมิตร โลกนี้มีมิตรอยู่ 3 ประเภทคือ 1. ปาปมิตร เพื่อนชั่ว จงอย่าคบ 2. กัลยาณมิตร เพื่อนดี จงคบ 3. พันธมิตร เพื่อนที่ผูกพันกันด้วยผลประโยชน์ จงระวัง
        
       5. ทำงานดีก็มีความสุข ท่านว่าไว้ คนจำนวนมากเป็นทุกข์ขณะทำงาน แต่เบิกบานเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ โดยหารู้ไม่ว่า ในหนึ่งสัปดาห์มีเสาร์-อาทิตย์แค่สองวัน จงเป็นสุขขณะทำงาน จงเบิกบานขณะหายใจ
        
       6. มองโลกในแง่ดี ชีวิตมีความสุข ดังผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันถูกอยู่แล้ว มีแต่ความเห็นของเราเท่านั้นที่ผิด” ใครทำความเข้าใจคำกล่าวนี้ได้อย่างลึกซึ้ง คนนั้นจะไม่ทุกข์ และเขาจะไม่หวั่นไหว ในความผันแปรของชีวิต
        
       7. ครอบครัวดีทวีความสุข ครอบครัวคือพื้นฐานสำคัญของชีวิต บุตรธิดาคืออนุสาวรีย์ของพ่อแม่ หากลูกเป็นคนดี อนุสาวรีย์ของพ่อแม่ก็งดงาม หากลูกเลวทราม อนุสาวรีย์ของพ่อแม่ก็อัปลักษณ์
      
       

      
        
       จากทั้งหมดข้างต้นนี้ คือคำสอนในการใช้ชีวิตประจำวันให้มีความสุข ไม่ยึดติด ไม่สนวัตถุ ทว่า ท่าน ว.วชิรเมธี ก็ไม่หมดคำสอนเพียงเท่านี้ ท่านยังเข้าใจในเรื่องความรัก โดยใช้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาสอน สอดแทรกทรรศนะของพระพุทธศาสนา เฉกเช่น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ทุกๆ การยึดติดถือมั่น มีค่าเป็นความทุกข์เสมอ" ท่านได้แปลประโยคนี้เสียใหม่ว่า "ที่ใดมีกอด ที่นั่นมีกัด" ทุกๆ การครอบครอง มีค่าเท่ากับการขาดอิสรภาพในทรรศนะของมนุษย์
      
       

      
        
       หรือการสอนเรื่องความรัก ผ่านการตรัสไว้ของพระพุทธเจ้า “ความรักกับความทุกข์ เมื่อถูกพูดขึ้นมา ไม่ว่าจะพูดโดยผู้ชายหรือผู้หญิง หรือใครก็ตาม บริบทของคำว่าความรักกับความทุกข์ หรือความรักคือความทุกข์มักจะเป็นบริบทของความรักในเชิงชู้สาวเสียมากกว่า ดังนั้น ‘ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์’ จึงเป็นสัจธรรมสากลถูกต้องที่สุด 
        
       พระพุทธเจ้าตรัสไว้ตั้ง 2,500 กว่าปี ถึงตอนนี้เราไม่ต้องเปลี่ยนแปลงคำกล่าวของพระองค์ท่าน แล้วทำไมมนุษย์โดยมากจึงมักบอกว่าที่ใดมีรักที่นั่นมีสุข เพราะเขายังไม่ได้เรียนรู้ความรักตั้งแต่ต้นสายถึงปลายทาง คนที่บอกว่าที่ใดมีรักที่นั่นมีสุข โดยมากมักเริ่มต้นแค่รู้จักความรักช่วงก่อนโปรโมชั่น พูดประโยคอย่างนี้กันทั้งนั้น พอเริ่มเรียนรู้ที่จะรักไปสักพักหนึ่ง ถ้าสังเกตอย่างละเมียดละไมก็จะเห็นว่ามันเริ่มสุขๆ ทุกข์ๆ ปนกันโดยตลอด” ท่านว.วชิรเมธี กล่าวไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง
      
       ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น