วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

“ไม้เท้าพาร์กินสัน” นวัตกรรมจากแพทย์จุฬาฯ เพื่อผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน


20150804_2_hotnews
โรคพาร์กินสัน เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ระบบประสาทส่วนกลางที่ทำหน้าที่ผลิต “โดปามีน” ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองเกิดความเสื่อมและเกิดอาการตาย ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวที่ช้าลง มีอาการสั่น เกร็ง การเดินที่ลำบาก รวมไปถึงการคิดและพฤติกรรมต่างๆ จะช้าลงเรื่อยๆ โรคพาร์กินสันไม่ใช่โรคที่จะทำให้คนเสียชีวิต แต่อาการของโรคจะมีผลทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้จากอุบัติเหตุ เพราะการเดินที่ไม่คล่องตัว
20150804_im01ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงนวัตกรรมไม้เท้าพาร์กินสันว่า ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมา  ๕ – ๖ ปี   ผู้ป่วยโรคนี้กว่าครึ่งประสบปัญหาภาวะการเดินติดขัด  เวลาเริ่มเดินจะเหมือนกับก้าวเท้าไม่ออก  ซึ่งไม่ได้เกิดจากภาวะอ่อนแรงของร่างกายแต่เป็นการสั่งงานของสมอง ปัญหาการเดินติดจะทำให้ผู้ป่วยล้มได้ง่าย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย   ในบางครั้งการปรับยาพาร์กินสันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา  การพัฒนาไม้เท้าพาร์กินสันเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และมูลนิธิขาเทียม ไม้เท้าเลเซอร์สำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่ด้านปลายไม้เท้าจะมีเซ็นเซอร์เป็นตัวผลิตแสงเลเซอร์ เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาในเรื่องการเดินติดก็จะกดน้ำหนักลงบนไม้เท้า ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นตัวเซ็นเซอร์ที่อยู่ปลายไม้เท้าให้ผลิตแสงเลเซอร์ออกมาเป็นแนวขวางทางด้านหน้าของผู้ป่วย เพื่อเป็นสิ่งกระตุ้นทางสายตาทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินก้าวข้ามไปได้
20150804_im02
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ลักษณะเริ่มต้นของโรคพาร์กินสันจะมีอาการสั่น เคลื่อนไหวช้าโดยจะเกิดขึ้นกับร่างกายข้างใดข้างหนึ่งก่อน นิ้วมือมีอาการสั่นในขณะที่อยู่เฉยๆ  โดยในช่วงแรกผู้ป่วยจะไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการจะเริ่มชัดเจน มีภาวะเคลื่อนไหวช้า เกร็ง และร่างกายอีกข้างหนึ่งจะเริ่มมีอาการ  จากการศึกษาของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ป่วยในระยะแรกมีปัญหาเรื่องการเดินแต่ยังไม่มีอาการแสดงออกให้เห็นชัดเจนทางคลินิก แต่จะแสดงให้เห็นชัดเจนในระยะกลางขึ้นไป ปัญหาของการเดินมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินช้า ซอยเท้าถี่ ปัญหาในเรื่องการทรงตัว  แต่การเดินติดเป็นปัญหาสำคัญมากเนื่องจากเป็นอาการที่ไม่ได้เป็นตลอดเวลาจึงทำให้ผู้ป่วยคาดคะเนไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด การระวังตัวของผู้ป่วยจึงค่อนข้างยากและอาจเกิดอุบัติเหตุได้  บางครั้งผู้ป่วยอาจจะเกิดอาการเดินติดในสถานการณ์ที่คับขัน  เช่น     ในระหว่างการข้ามถนน หรือขณะเดินลงบันไดเลื่อน
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ ได้ให้ความรู้ว่า  การศึกษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบันค่อนข้างก้าวหน้าไปมากโดยพบว่าอาการเตือนของโรคนี้คือ การนอนละเมอตอนกลางคืน มีการพูดหรือขยับร่างกายโดยเฉพาะในช่วงกลางดึก  ดมกลิ่นไม่ได้ ท้องผูกเรื้อรัง และมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาการเตือนเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ ๕ – ๒๐ ปีก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคให้เห็น แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้จะเป็นโรคพาร์กินสันทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากมีอาการเตือนมากกว่า ๑ อย่าง และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว  ก็สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าผู้ป่วยรายนั้นน่าจะเป็นโรคพาร์กินสัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น