cr:http://www.mbamagazine.net/index.php/csrmenu/2352-2015-08-05-09-17-52
รู้ปฏิบัติ เติมทฤษฎี หนึ่งในวิถีของคนวังขนาย
สัมภาษณ์ผู้บริหารคราใด หากมีคำถามเกี่ยวกับกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร มักจะได้รับคำตอบว่า คน เป็นกำลังสำคัญที่สุด แต่หากจะทำให้องค์กรอยู่ได้อย่างยั่งยืน ย่อมต้องมี คนที่มีทักษะ มีความรู้ แบบรู้ลึก รู้จริง ปฏิบัติภารกิจตรงตามสายงานโดยไม่ขาดตกบกพร่อง
ดังตัวอย่างของกลุ่มวังขนายที่เข้าไปตั้ง โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล ที.เอ็น. ในอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี เมื่อ 25 ปีที่แล้ว และให้ความสำคัญในเรื่อง คน และ การพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงจัดอบรมพัฒนาบุคลากร ตลอดจนจัดสอบเทียบช่างฝีมือแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความเข้าใจและประสิทธิภาพในการทำงานเสมอมา
แต่หนึ่งปีที่ผ่านมานี้ กลุ่มวังขนายมุ่งพัฒนาการศึกษาให้แก่พนักงานครั้งใหญ่ โดยได้ลงนามความร่วมมือด้านการจัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ครีเอทหลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในด้านทฤษฎีและวุฒิการศึกษาให้แก่พนักงานโดยเฉพาะ
ในฝั่งของสถาบันการศึกษา ปัณฑารีย์ สำราญศิลป์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพชัยบาดาล กล่าวว่า ที่ผ่านมา วิทยาลัยการอาชีพชัยบาดาลมีแผนกช่างเชื่อมที่จัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีอยู่แล้ว เมื่อกลุ่มวังขนายเข้ามาเป็นเครือข่ายก็เป็นโอกาสที่ดี ยิ่งอยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียงกัน การดำเนินงานต่างๆ ก็ยิ่งง่ายขึ้น ทั้งการประชุมร่วมกันเรื่องการจัดหลักสูตรสาขาช่างซ่อมบำรุงให้สอดคล้องกับการพัฒนาและเทคโนโลยีของกลุ่มวังขนาย และผู้เรียนที่เป็นพนักงานก็ได้รับความสะดวก คล่องตัว ได้เรียนรู้ทั้งทักษะชีวิตตามแผนการสอนทั่วไปและทฤษฎีที่ตรงหรือเกี่ยวข้องกับสายงานเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้
สุรชัย เหล่าไชย รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพคำม่วง กล่าวเกี่ยวกับทักษะของผู้สอนว่า การเปิดสอนสาขาช่างซ่อมบำรุงเป็นการสอนแก่ผู้เรียนที่มีทักษะอยู่แล้ว จึงจัดให้มีวิศวกรรุ่นพี่หรือผู้บริหารจากกลุ่มวังขนายซึ่งมาเป็นผู้สอนบางรายวิชา
“เรื่องของการกำหนดผู้สอน กลุ่มวังขนายมีบุคลากรที่มีความรู้ เราก็จะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติมาเป็นผู้สอนหรือ “ครูฝึก” คือเป็นหัวหน้า มีประสบการณ์การทำงาน มีอายุงาน มีวุฒิการศึกษาที่ได้รับการรับรอง ซึ่งตอนนี้มีผู้สอนอยู่ 7 คน ที่ผ่านการอบรมให้เป็นครูฝึก และสอนผู้เรียน 20 คน ที่ยังไม่มีวุฒิการศึกษาหรือมีวุฒิไม่สูง ซึ่งผู้เรียนก็มีความหลากหลายของช่วงอายุ มีทั้งอายุมาก อายุน้อย แต่ทุกคนสมัครเรียนด้วยความสมัครใจ”
จากการทำหลักสูตรทวิภาคีนี้ สุรชัยกล่าวถึงประโยชน์ว่าได้เห็นมิติใหม่ๆ ของความร่วมมือกับภาคเอกชน ได้เพิ่มจำนวนผู้เรียนให้ตรงกับสาขางาน หรือความต้องการของภาคเอกชนมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้เครือข่ายที่จะร่วมพัฒนาการศึกษาในสายอาชีพต่อไป
ในด้านของผู้สอน นอกจากอาจารย์คนไทยก็ยังมีอาจารย์จากฟิลิปปินส์ ภูฏาน มาสอนภาษาต่างประเทศ ซึ่งนิตยสารเอ็มบีเอได้คุยกับ ทิคัมพร สารพล อาจารย์แผนกซ่อมบำรุงอุตสาหกรรม เชื่อมโลหะ ผู้มีประสบการณ์การสอนสาขาช่างซ่อมบำรุงมาแล้ว 1 ปี ซึ่งอธิบายถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศสำหรับผู้เรียนสาขานี้ว่า
“ที่สอนก็มีการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน สอนการสนทนา ศัพท์ช่าง ศัพท์เทคนิค ตามจุดประสงค์การเรียน โดยในการใช้ภาษา พนักงานชอบเรียน เพราะศัพท์เทคนิคของช่างจะแตกต่างจากศัพท์ทั่วไป เช่น พวกศัพท์เกี่ยวกับเครื่องกลึง อุปกรณ์เชื่อม พอผู้เรียนได้เรียนก็เข้าใจมากขึ้น รู้จักอุปกรณ์มากขึ้น เช่น ลวดเชื่อม และผู้เรียนก็ชอบ”
ฟีดแบ็กหลังจากสอนผู้เรียนที่มีช่วงอายุระหว่าง 20 - 50 ปี มานาน 1 ปี ทิคัมพรสังเกตได้ว่า การสอนผู้ใหญ่จะมีการตั้งคำถามที่สนุกกว่า เพราะมีประสบการณ์มากกว่า และตั้งโจทย์ได้ตรงจุดที่ต้องการคำตอบไปใช้งานได้ทันที ส่วนในภาพรวม ผู้เรียนกลุ่มนี้มีความตั้งใจเรียนมาก และยังเห็นได้ชัดว่า ผู้เรียนรู้จักการเขียนรายงาน รู้จักการเรียงลำดับ รู้ศัพท์วิชาการ ตลอดจนรู้หลักของความปลอดภัยมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนมีความรู้มากขึ้น เก่งขึ้น
ให้ผู้เรียนมาเล่า...
ทนู พรานทนงค์ หัวหน้าแผนกคลังสินค้า ทำงานกับกลุ่มวังขนายมานานถึง 6 ปี เมื่อเห็นว่าบริษัทเปิดโอกาสให้เรียน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการทำงานและเป็นโอกาสเพิ่มวุฒิจากเดิม ม.6 เป็น ปวช. เขาจึงไม่ลังเลที่จะสมัคร
“ผมอยากเรียน เรียนแล้วจะได้มีความรู้เพิ่มเติม เห็นว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงในอุตสาหกรรม พอเรียนแล้วก็ได้รับความรู้ในด้านทฤษฎี เพิ่มเติมจากที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว แล้วในวิชาเรียนก็จะมีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตน้ำตาล ทำให้เข้าใจว่าผลิตน้ำตาลอะไร ออกมาอย่างไร ซึ่งผมไม่เคยรู้ พอรู้แล้วผมก็นำมาใช้กับกระบวนการจัดเก็บ และประยุกต์ใช้กับการสังเกตและการซ่อมเครื่องจักรในแผนกได้ด้วย เรียนแล้วไม่เครียด อาจารย์สอนดีครับ ได้เรียนภาษาอังกฤษด้วย เป็นโอกาสที่ดีเพราะเรากำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว”
นอกจากได้รับความรู้มาเสริมความแข็งแกร่งในสายงานแล้ว ทนูยังนำวิชาที่ได้นี้ไปเล่าให้ลูกน้องฟังและแนะนำให้ไปประยุกต์ใช้ต่อ เป็นการถ่ายทอดวิชาแก่ทีมงานในฐานะผู้เรียนรุ่นแรก
อีกด้านของผู้ปฏิบัติงาน บุญเทอด มาดี หน่วยงานหม้อไอน้ำ เป็นพนักงานชั่วคราวและประจำของกลุ่มวังขนายรวมแล้ว 7 ปี บุญเทอดเล่าให้ฟังว่า เขาเรียนจบ ป.6 แล้วขวนขวายไปเรียน กศน. เพิ่มจนได้รับวุฒิ ม.3 ต่อมาทางโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลที.เอ็น. สนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าอบรมสัมมนาของหลักสูตรเร่งรัด 8 เดือนจบ บุญเทอดจึงได้วุฒิ ม.6
“ทีนี้ทางโรงงานอยากให้เรามีความรู้แน่น เลยให้พนักงานเริ่มเรียน ปวช. เหมือนๆ กัน ผมมีลูกน้อง 2 คนมาเรียนด้วย ก่อนเรียนก็คาดหวังว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเอง เพราะคนเราต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ต่อไป...ผมก็คิดว่าจะเติบโตในสายงาน เมื่อมีโอกาสเรียนก็ต้องคว้าไว้ ซึ่งการใช้เวลาว่างวันอาทิตย์ในห้องเรียน ทำให้ได้อะไรเยอะ เพราะงานที่ทำเรามีประสบการณ์แล้ว แต่ทฤษฎีเราไม่แน่น พอเรียนแล้วก็นำวิชาไปใช้ได้ เช่น วิชาคำนวณ เมื่อก่อนเข้าใจอะไรผิด แต่เรียนแล้วทำให้เรารู้จริง ประยุกต์ใช้ได้เลยเพราะตรงกับสายงานที่ทำอยู่”
นอกจากนี้ ทั้งทนูและบุญเทอดยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเรียน ปวช. รุ่นแรก นอกจากได้ความรู้แล้ว ยังได้บรรยากาศของความเป็นกันเอง ทำให้รักเรียน สนุกที่จะเรียนรู้ และมีความมุ่งมั่นว่าจะเรียนต่อ ปวส. ต่อไป
บุญชู โฉมหงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล ที.เอ็น. ซึ่งทำงานในกลุ่มวังขนายมานานถึง 24 ปี ปัจจุบันดูแลรับผิดชอบฝ่ายบริหาร โดยครอบคลุมฝ่ายสนับสนุนการผลิต การจัดหาบุคลากร ตลอดจนความเป็นอยู่และความปลอดภัยของพนักงาน กล่าวถึงการสนับสนุนให้พนักงานได้รับความรู้เพิ่มเติมผ่านการศึกษาในระบบทวิภาคีและแผนสนับสนุนในอนาคตว่า
“เราอยากทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น เมื่อจัดให้การเรียนแบบทวิภาคีในระดับ ปวช. แล้ว เราก็จะต่อ ปวส. ให้ และตอนนี้เรามีโครงการไปถึงลูกหลานพนักงาน ลูกหลานชาวไร่ ให้มาเรียนทวิภาคีกับเราด้วย เพื่อรองรับและต่อยอดธุรกิจในอนาคต และในการที่เราจะมีมหาวิทยาลัยของตัวเอง ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของโรงงานน้ำตาล ไม่สามารถนำคนที่เรียนจบปริญญาตรีหรือ ปวส.ทั่วไปมาเคี่ยวน้ำตาล ต้มน้ำตาลได้ เราจึงมีลูกหลานของพนักงานกลุ่มนี้มาปฏิบัติอย่างเดียว บางคนจบ ป.4 แต่มีความชำนาญในการเคี่ยวน้ำตาล แล้วจะทำอย่างไรให้เขามีความรู้ในด้านวิชาการเพิ่ม เราก็ต้องมีโครงการสนับสนุน ทั้งความรู้ด้านทฤษฎีและภาษา ยิ่งเห็นว่าผู้เรียนได้เรียนกับอาจารย์ฟิลิปปินส์แล้วตื่นตัว ซึ่งโรงงานก็ใช้ภาษาอังกฤษมาก โดยเฉพาะเรื่องศัพท์เทคนิคของช่าง เรื่อง Weekly Report เป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น ไปจนถึงเออีซีที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าพนักงานต้อนรับแขกต่างชาติได้ เราก็ภูมิใจแล้ว”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น