กสอ.เผย 5 อุตสาหกรรมทำเงินแห่งอนาคต ได้แก่ พลังงานสะอาด สุขภาพ ไบโอพลาสติก อากาศยาน และสร้างสรรค์ เร่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์แพทย์ของไทย ระบุมีศักยภาพโอกาสตลาดเปิด ฝันขึ้นแท่นศูนย์กลางอาเซียน
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมไทยในอนาคตจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมี มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ จะหันไปลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับชีวิต และสุขภาพของมนุษย์เพิ่มขึ้น
สำหรับ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ต้องเร่งเพิ่มศักยภาพ ลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ สามารถก้าวสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างมั่นคง
ทั้ง นี้ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่น่าจับตามอง ในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ ซึ่ง กสอ. พยายามผลักดันให้มีสัดส่วนมากยิ่งขึ้น ได้แก่1. อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด 2. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 3. อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก 4. อุตสาหกรรมอากาศยาน และ 5. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
ทั้ง นี้ อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งมีความสำคัญของประเทศไทย โดยในปี 2557 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละกว่า 5 แสนคน ซึ่งคาดว่าภายใน 5 ปี ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (ข้อมูล: สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ส่งผลให้เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์มีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ประเทศไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 30 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ เพราะอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ ทางการแพทย์ของไทยมีทิศทางและการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มทุกปีเฉลี่ยปีละ 6.51 ขณะที่ในปี 2557 มีการส่งออกรวมกว่า 9.34 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึงร้อยละ 14.04 โดยกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรคมีการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 19.52 รองลงมาคือครุภัณฑ์และวัสดุสิ้นเปลือง คิดเป็นร้อยละ 18.21 และ13.41 ตามลำดับ (ข้อมูล: Global trade atlas รวบรวมโดย สถาบันพลาสติก)
ขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ลดลงร้อยละ 3.35 เมื่อเทียบกับปี 2556 มีมูลค่านำเข้า 5.03 หมื่นล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่คือวัสดุสิ้นเปลืองฯ และครุภัณฑ์ฯ นางสาวนิสากร กล่าว
ทั้ง นี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการส่งออกเพิ่มขึ้น และลดการนำเข้าจึงมีความจำเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในไทยกว่า 500 ราย (ข้อมูล: กรกฎาคม 2558, กองควบคุมเครื่องมือแพทย์) โดยปี 2558 นี้ กสอ. นำร่องพัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน (Medical Hub of ASEAN) ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ผ่านโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต ในด้าน ๆ ได้แก่ การพัฒนาสถานประกอบการและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตแก่ บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนพัฒนา สถานประกอบการด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์
ด้าน นายจารุเดช คุณะดิลก กรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม.อี. เมดิเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็น หลัก กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อาทิ โครงการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน (MDICP) กิจกรรมสร้างและพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือ และอุปกรณ์การแพทย์ (Cluster) กิจกรรมสังคมผู้ประกอบการการผลิตได้ผล คนเป็นสุข รุ่นที่ 1-2 กิจกรรม ASEAN CEO Network Enhancing Project ครั้งที่ 2 กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs สู่ตลาดอินโดนีเซีย กิจกรรมเพิ่มศักยภาพ SMEs ไทยในการเจรจาธุรกิจระหว่างประเทศ รุ่นที่ 3/57 กิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจ SMEs และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ โครงการเพิ่มศักยภาพการวางแผนภาษี สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รุ่นที่ 3/56 เป็นต้น นายจารุเดช กล่าว
นายจารุเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า น่าเสียดายว่าในอุตสาหกรรมกลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในไทยนั้น ในแง่ของวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และบรรจุภัณฑ์บางชนิด ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าอยู่ เนื่องจากไทยยังขาดแคลนบุคลากรในสายงานเทคนิคการแพทย์และวัสดุศาสตร์เฉพาะ ทาง ไทยจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างคนตั้งแต่วัยเรียน ตลอดจนเรื่องการขาดศูนย์ทดสอบกลางที่ได้มาตรฐานเพราะเครื่องมือแพทย์ต้องมี การทดสอบต่างๆ ที่ได้มาตรฐานซึ่งหากไทยสามารถมีห้องทดสอบกลางที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน เดียวกันได้ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าในประเทศ สามารถตอบสนองการบริการทางการแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาลได้อย่างทั่วถึง ก็จะส่งผลให้ผู้เข้ามารับบริการในประเทศไทยมั่นใจในประสิทธิภาพการแพทย์ของ ไทยได้สู่การเป็น Medical Hub of ASEAN ได้ในไม่ช้า