วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สรุปแนวคิดจากสุดยอดหนังสือคลาสสิค ‘Super-Performance Stocks’ โดย Phantorm

ถ้าคุณเคยอ่านหนังสือการลงทุนเหล่านี้มาแล้ว – “How to Trade in Stocks” ของ Jesse Livermore, “How I made 2M in the stock market” ของ Nicolas Darvas, “Super-Performance Stocks” ของ Richard Love, “How to make money in stocks” ของ William O’Neil หรือ “The Wallstrip Edge”ของ Howard Lindzon –
คุณคงจะพบว่า แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปี สิ่งหลักๆที่เปลี่ยนแปลงในตลาดหุ้นก็คือ ชื่อของเหล่า Winning Stocks ทั้งหลายในแต่ละปี ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆที่มีความสำคัญต่อราคาหุ้นหรือตลาด อย่างเช่น ‘ตัวเร่ง (The catalysts)’ หรือ ‘sentiment’ ที่ขับดันราคานั้น แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย
สำหรับเนื้อหาในบทความนี้ เป็นการสรุปแนวคิดและหลักการลงทุนจากหนังสือคลาสสิค “Super-Performance Stocks” เขียนโดย Richard Love ตีพิมพ์ในปี 1977
เซียนหุ้นชั้นนำ อาทิเช่น David Ryan ผู้ช่วยคนสำคัญของ William O’neil และ Mark Minervini เซียนหุ้นผู้ชนะการแข่งขัน U.S. Investing Championship (ทั้งคู่ถูกสัมภาษน์ลงในหนังสือ Market Wizard) ต่างก็ยกย่องว่าเป็นหนังสือที่พวกเขานำเนื้อหามาประยุกต์ใช้กับหลักการลงทุนของตัวเอง
Richard Love ให้คำนิยามของ “Super-Performance Stocks” ว่า เป็นหุ้นที่ราคาขึ้นมาอย่างน้อย 3 เท่า (300%) ในช่วงระยะเวลา 2 ปี
1. ความปลอดภัย คือสิ่งที่คุณควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกก่อนที่จะซื้อหุ้น
ความปลอดภัยในการซื้อหุ้นนั้นไม่ได้หมายถึงการเลือกซื้อหุ้นของบริษัทที่มีงบการเงินที่แข็งแกร่ง หรือบริษัทที่มี Market cap ขนาดใหญ่แต่อย่างใด
ความปลอดภัยในที่นี้หมายถึง การเลือกซื้อหุ้นในจังหวะที่ควรซื้อ เพราะถ้าคุณตัดสินใจซื้อหุ้นในจังหวะที่ผิด (ตลาดขาลง หรือหุ้นขาลง) ต่อให้งบการเงินของบริษัทจะดีมากแค่ไหน หรือบริษัทจะใหญ่เพียงใด ราคาหุ้นก็ตกลงได้ทั้งนั้น
โดยทั่วไปแล้ว ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่คุณควรจะซื้อหุ้นคือ ช่วงที่ตลาดดูเหมือนกำลังจะล่มสลาย และทุกคนเริ่มหมดหวัง เพราะนั่นคือช่วงที่ความเสี่ยงต่ำและมีอัพไซด์สูงมากนั่นเอง (หรือก็คือการซื้อหุ้นหลังจากที่ตลาดได้ทำ Bottom หรือปรับฐานเสร็จแล้ว)
2. หุ้นทุกตัวมีวัฏจักรของราคาหุ้นทั้งสิ้น
Love พูดถึงหุ้นที่มีรายได้และกำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอว่า หุ้นพวกนี้มักจะมี P/E ratio ที่สูงกว่าปกติ หรือบางตัวอาจเกิดการ Overpriced ซึ่งมาจากความคาดหวังที่สูงของนักลงทุน ซึ่งสุดท้ายแล้ว ราคาหุ้นก็จะตกลงมาสู่จุดสมดุลในที่สุด
และถึงแม้ว่าหุ้นเหล่านี้จะมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าตลาดกำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างรุนแรง ราคาหุ้นก็จะปรับตัวลงอยู่ดี
(ลองนึกถึงช่วงปี พ.ศ. 2551 ที่บริษัทในตลาดต่างก็กำไรเติบโตกันถ้วนหน้า แต่ราคาหุ้นก็ลดลงอย่างมากแทบทุกตัว)
3. หุ้นของสุดยอดบริษัท ไม่จำเป็นต้องเป็นสุดยอดหุ้นในตลาด
มีคำแนะนำทางด้านการลงทุนจำนวนมากที่สนับสนุนให้ซื้อบริษัทที่มีคุณภาพ บ้างก็ว่าให้ซื้อหุ้นของบริษัทใหญ่ๆ เพราะด้วยคุณภาพของบริษัท คุณจะไม่มีทางเจ็บตัว แต่ตามสถิติพบว่าผลลัพธ์กลับออกมาตรงกันข้าม
เพราะหากคุณเลือกลงทุนผิดเวลา เช่น การซื้อหุ้นในช่วงตลาดขาลง นักลงทุนก็สามารถเจ็บตัวหนักๆจากบริษัทใหญ่ๆเหล่านี้ได้เช่นกันไม่ต่างจากการซื้อหุ้นบริษัทขนาดเล็กเลย
4. ตัวเร่ง
หุ้น Super-Performance นั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเซอร์ไพรส์ตลาดด้วยงบการเงินที่ดีขึ้นอย่างคาดไม่ถึง หรือการประกาศควบรวมกิจการกับบริษัทอื่น เป็นต้น
แต่ส่วนใหญ่แล้วหุ้นที่เข้าข่าย Super-Performance นั้น มักจะเป็นหุ้นที่กำลังกลับตัวจากขาลงหรือผ่านจุด bottom มาแล้ว
หากถามว่า เมื่อตลาดทำ bottom หรือได้ปรับฐานเสร็จแล้ว หุ้นประเภทไหนที่มักจะเด้งกลับมาได้เร็วและแรงที่สุด?…
คำตอบอาจจะตรงข้ามกับความเชื่อของหลายๆท่าน เพราะมันไม่ใช่หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูง แต่มันมักจะเป็นบริษัทขนาดกลาง-เล็ก ที่กำลังอยู่ในช่วงที่รายได้และผลกำไรของบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว
5. ไม่ช้าก็เร็ว ทุกๆแนวโน้มจะต้องถึงจุดจบเสมอ
หุ้น Super-Performance นั้นไม่ใช่หุ้นที่ปรับตัวขึ้นสม่ำเสมอทุกๆปีแต่อย่างใด เพราะไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่สุดยอดขนาดไหนก็ตาม หลังจากที่ช่วง Super-Performance (Climax Run) ของหุ้นตัวนั้นจบลง มันมักจะตามมาด้วยช่วง sideways ออกข้างเพื่อทำฐานราคาใหม่
ซึ่งช่วงทำฐานนั้น บางครั้งอาจจะกินเวลานานเป็นปี และหลังจากทำฐานเสร้จแล้ว ก็อาจจะตามมาด้วยช่วง Super-Performance อีกครั้งก็เป็นได้ (แล้วแต่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท)
หุ้นส่วนใหญ่ราคาจะตกลงเมื่อช่วง Super-Performance (Climax) ได้จบลง และก็มีหลายๆครั้งที่ราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรง (เช่น PTL AJ)
โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นนั้นแบ่งได้ 3 อย่าง คือ
- อย่างแรกก็คือ ความอ่อนแอของตลาดในภาพรวม เช่น การจบรอบของตลาด ตลาดเริ่มกลับตัวเป็นขาลง
- อย่างที่สองคือ การที่ราคาหุ้น Overpriced จนเกินไป ซึ่งมักจะจบลงด้วยการ take profit โดยเมื่อไม่มีประเด็นใหม่ๆที่น่าสนใจ ราคาหุ้นก็จะปรับตัวลงอย่างรวดเร็วเพราะไม่มี demand หรือแรงซื้อใหม่ๆเข้ามา
- อย่างที่สามคือ รายได้ของบริษัทเริ่มลดลงหรือผลประกอบการออกมาแย่กว่าเดิม แต่ราคาหุ้นส่วนใหญ่มักจะเริ่มปรับตัวลงก่อนการประกาศงบการเงิน เพราะนักลงทุนหลายคนสามารถประมาณการไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่างบการเงินของบริษัทจะออกมาดีหรือร้าย
6. มองหาหุ้นที่สภาพคล่องน้อย มี market cap ขนาดเล็ก และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
โอกาสที่จะทำกำไรเป็นกอบเป็นกำในตลาดหุ้นนั้น มักจะมาจากบริษัทขนาดเล็กมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่
จงมองหาบริษัทขนาดเล็กที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร และมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
นี่คือส่วนผสมของบริษัทที่ปรากฏให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นว่า จะมีการเติบโตของผลกำไรอย่างรวดเร็ว และตามมาด้วยช่วง Super-Performance ของราคาหุ้น
7. ความเปลี่ยนแปลงคือโอกาส
การวางแผนเติบโตเชิงรุก (และทำได้จริง) หรือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆนั้น มีผลกระทบอย่างมากต่อราคาหุ้นของบริษัท เพราะมันทำให้นักลงทุนหลายคนเลือกที่จะติดตามสถานการณ์และข่าวสารของบริษัทอย่างใกล้ชิด โดยไม่ต้องสนใจสถานะของบริษัทว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เราจะได้ Capital gain ครั้งละมากๆจากบริษัทขนาดใหญ่ มักจะน้อยกว่า Capital gain จากบริษัทขนาดเล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอยู่พอสมควร เพราะบริษัทขนาดเล็ก จะมีเปอร์เซ็นการเติบโตของยอดขายและกำไร รวมถึงราคาหุ้น มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่อยู่เสมอ
8. Growth, Growth, Growth
นักลงทุนคนใดที่มองหา Capital gain คำโตๆในตลาดหุ้น ควรจะมองหาบริษัทที่อยู่ในช่วงเติบโต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งหรือเข้าตลาดหุ้นมาได้ไม่กี่ปี แต่ก็เริ่มแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถในการเอาตัวรอดทั้งในธุรกิจและในตลาดหุ้นได้เป็นอย่างดี
9. สตอรี่ที่ดีจะช่วยผลักดันให้หุ้นไปได้ไกล
หุ้น Growth Stock เมื่อรวมกับสตอรี่ดีๆไม่กี่อย่าง ก็สามารถทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรคำนึงอยู่เสมอเวลาเลือกซื้อหุ้น Growth Stock ที่ราคาสูงๆก็คือ ‘ในระยะยาวนั้น ราคาหุ้นจะสะท้อนมาจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัท’
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่ระมัดระวังในการเลือกซื้อหุ้นที่เล่นตามสตอรี่แล้ว หากสตอรี่ที่คุณได้รับนั้นกลับไม่เป็นความจริง ราคาหุ้นจะร่วงลงอย่างรวดเร็วจากความผิดหวังของนักลงทุน แต่ตราบใดที่สตอรี่เป็นจริง เช่น บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นตลอด นักลงทุนส่วนใหญ่จะยังคงถือหุ้นของพวกเค้าต่อไป
การแยกแยะความเป็นจริงจากความเพ้อฝัน จึงถือเป็นงานใหญ่ของนักลงทุน
10. มองหาบริษัทที่กำไรเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน
กำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันนั้นมีความสำคัญไม่น้อย เพราะนั่นเป็นการเรียกความสนใจของผู้คน ให้มองเห็นอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้นของบริษัท
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1963 Xerox Corporation ทำกำไร $10,327,031 หรือ EPS $2.66 ในช่วงครึ่งปีแรก เทียบกับกำไร $5,658,165 หรือ EPS $1.74 ในปี 1962
นี่คือตัวอย่างของการระเบิดของกำไร ซึ่งในกรณีนี้ การที่กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้นเกิดจากการที่ Xerox เปิดตัวเครื่องถ่ายเอกสารรุ่นใหม่ ซึ่งจากรายได้ของเครื่องถ่ายเอกสารรุ่นใหม่นั่นเอง ที่ส่งผลให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก และก็ทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปเช่นกัน
11. ข่าวลือก็ถือเป็นตัวเร่งเช่นกัน
หนึ่งใน “พลัง” ที่ผลักดันให้ราคาหุ้นขึ้นก็คือข่าวลือ ยกตัวอย่าง เช่น Syntex ประกาศผลประกอบการปี 1963 เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 1962
นักเก็งกำไรต่างคาดการณ์ไว้ว่า กำไรในอนาคตจะยิ่งเติบโตมากกว่าเดิม ข่าวลือเรื่องกำไรโตมาก ประกอบกับการที่ Syntex เป็นหนึ่งในสองบริษัทแรกที่สามารถคิดค้นยาคุมกำเนิด ทำให้นักลงทุนต่างรีบแย่งกันซื้อหุ้นของบริษัทเป็นการใหญ่ ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
12. ตลาดมองไปข้างหน้า ดังนั้นความคาดหวังมีผลเสมอ
การที่บริษัทมีผลกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่นักลงทุนคาดหวังกันอยู่แล้ว ดังนั้น การที่บริษัทมีกำไรมากขึ้น ไม่ได้แปลว่าราคาหุ้นจะต้องปรับตัวขึ้นตามอยู่เสมอ
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทอาจจะรายงานผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสองเท่า แต่ถ้ามีกองทุนซักสองโหลที่มองว่า บริษัทควรจะมีกำไรโตสามเท่าหละ?
กองทุนเหล่านั้นย่อมผิดหวังกับการรายงานผลกำไรที่โตเพียงแค่สองเท่า และอาจจะตัดสินใจเทขายหุ้น หรือนักลงทุนที่คาดการณ์กำไรไว้ล่วงหน้าก็อาจจะตัดสินใจขาย เมื่อกำไรออกมาน้อยกว่าที่คาดเช่นกัน
การที่กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นมากโดยไม่มีใครคาดคิด จึงส่งผลดีต่อราคาหุ้นของบริษัทมากที่สุด
เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของผลกำไรที่เพิ่มขึ้นของบริษัท, แผนการดำเนินงานที่จะช่วยให้กำไรในอนาคตเติบโตอย่างต่อเนื่อง, ความสามารถในการทำกำไร และความเป็นไปได้ต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง
13. การขยายตัวในหลายๆด้าน
Super-Performance มักจะมาจากการ Overreaction ของนักลงทุนที่มีต่อการเติบโตของบริษัท ซึ่งสามารถวัดได้จากการเปรียบเทียบอัตราการเพิ่มของราคาหุ้น เทียบกับอัตราการเพิ่มของกำไร ซึ่งก็คือการเพิ่มขึ้นของ P/E ratio นั่นเอง
(Growth expansion >> P/E expansion)
ตราบใดที่คนในตลาดยังมีมุมมองที่ดีต่อหุ้นตัวนั้น ราคาหุ้นจะยังคงพุ่งขึ้นจากแรงซื้อของนักลงทุนที่มีเข้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วง Super-Performance จบลง
14. แรงผลักดัน และความกลัวการตกรถ
ในช่วงเวลาหนึ่ง Super-Performance Stock มักจะเป็นหุ้นที่สร้างกำไรได้อย่างรวดเร็ว พวกมันมีการเคลื่อนไหวที่ดุดัน, คนในตลาดเริ่มรับรู้และเข้ามาเทรดจำนวนมาก
ช่วงเวลาที่หุ้นกำลังโดดเด่นเช่นนี้ การตัดสินใจและลงมืออย่างรวดเร็วเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการบริหารพอร์ตหุ้นประเภทนี้
นักลงทุนที่ค่อนข้างระมัดระวัง มักจะไม่รีบร้อนในการซื้อขาย พวกเขาจะรอคอยจนกระทั่งมั่นใจว่าพวกเค้าคิดถูกอย่างแน่นอนแล้ว แต่กว่าจะถึงจุดนั้น ราคาหุ้นก็ได้ขึ้นมามากหรือไม่ก็ตกลงไปมากแล้ว (คือซื้อช้าเกินไป ขายช้าเกินไป สรุปไม่ได้อะไร แถมอาจจะขาดทุนอีกด้วย)
เมื่อคุณตัดสินใจที่จะเล่นหุ้น Super-Performance Stock อย่าได้รีรอที่จะซื้อหรือขาย อย่ารอช้าที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อหุ้นตัวนั้น หากมันได้ทำตัวผิดปกติไปจากเดิม
การใช้คำสั่ง Stop-loss (Lock Profit) เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณเก็บกำไรได้พอสมควร หลังจากที่หุ้นพุ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็วแล้ว
15. ตลาดคือกงล้อทางอารมณ์ของนักลงทุน
ในช่วงตลาดขาขึ้นนั้น คุณสามารถ let profit run หรือคล้อยตามไปตลาดและนักลงทุนส่วนใหญ่ แต่ก็มีเวลาที่คุณควรออกจากตลาด เพื่อยืนอยู่ข้างสนามเช่นกัน
เวลาที่คุณควรขายหุ้น คือช่วงที่ตลาดขาขึ้นเริ่มสูญเสียแรงผลักดันที่เคยมี เมื่อตลาดเริ่มไม่มีแรงผลักดันใหม่ๆอีกแล้ว มันก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง หรือ sideway เช่นเดียวกับช่วง Super-Performance ของหุ้น ที่ส่วนใหญ่มักจะเกิดไม่เกิน 2 ปี
อารมณ์ของนักลงทุนจะค่อยๆเปลี่ยนไปจากมองช่วงบวก (Bullish Optimism) สู่ช่วงสงสัยและวิตกกังวล (Doubt and apprehension) เข้าสู่ช่วงมองลบ (Bearish pessimism) และท้ายที่สุดก็จะเริ่มแตกตื่นเมื่อตลาดเริ่มปรับตัวลงเร็วขึ้นเรื่อยๆ
ในตลาดขาขึ้นนั้น ผู้คนอาจจะมองตลาดเชิงบวก หรือแง่ดีมากอย่างไม่ที่สิ้นสุด ฉะนั้นในทางกลับกัน ผู้คนก็จะมองตลาดแย่และเลวร้ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในช่วงขาลงเช่นกัน
16. P/E ratio คือตัวสะท้อนมุมมองของนักลงทุน
P/E ratios จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเวลาที่อนาคตของบริษัทดูยอดเยี่ยม ก่อนที่จะลดลงในเวลาที่บริษัทกำลังจะย่ำแย่ P/E ratios จึงเป็นหนึ่งในตัววัดค่าจิตวิทยาของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อหุ้นตัวนั้น
Love กล่าวว่า จิตวิทยาของนักลงทุนส่วนใหญ่นั้นตรงข้ามกับสิ่งที่ควรจะเป็นเพื่อให้การลงทุนประสบความสำเร็จ
ซึ่งหากวัดจากค่า P/E ratios แล้ว ช่วงที่ P/E ratios ยังคงต่ำอยู่ จึงเป็นช่วงที่น่าลงทุนกว่า เพราะ P/E ratios จะสูงอย่างมากเมื่อช่วง Super-Performance ของหุ้นนั้นใกล้จะจบลง
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าอารมณ์ของนักลงทุนก็คือ การตอบสนองของนักลงทุนต่อพฤติกรรมตลาด
มันจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าหากคุณมองหุ้นด้วยมุมมองที่ตรงข้ามกับตลาดอยู่ตลอดเวลา หรือคุณชอบมองว่าตลาดนั้นผิดเสมอ เพราะคุณไม่สามารถสู้กับแรงของตลาดด้วยตัวคุณเองคนเดียวได้อยู่แล้ว
17. มูลค่าคือความเห็นส่วนตัว ราคาคือสิ่งที่ตลาดกำหนดให้คุณ
ราคาของที่ดินนั้นมีค่าเท่าที่คนซื้อจะยอมจ่ายให้กับคุณ หุ้นก็เช่นกัน หาหุ้นที่คุณคิดว่าจะมีคนมาขอซื้อจากคุณในราคาที่สูงขึ้นในอนาคต แนวคิดนี้ใช้ได้กับการลงทุนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเพชร, ภาพเขียน, ข้าวโพด ข้าวสาลี, บ้าน, ที่ดิน หรือหุ้น
ราคาตลาดเป็นสิ่งที่สะท้อนจิตวิทยา และความคิดทั้งแง่บวกแง่ลบของคนในตลาดต่อสินค้านั้นๆ เมื่อราคาตลาดของสินค้าใดๆลดลง ก็เป็นตัวบ่งชี้ว่า ความกลัวว่ามูลค่าสินค้าจะลดลงนั้นแข็งแกร่งกว่าความหวังว่าราคาสินค้าจะสูงขึ้นนั่นเอง
18. หลายๆครั้งที่ราคาตลาดและมูลค่าแท้จริงนั้นสัมพันธ์กันน้อยมาก
หุ้นที่ราคาขึ้นไปสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง มักจะมีการปรับราคาลงมาไม่ช้าก็เร็ว แต่หลายๆครั้งที่หุ้นเหล่านั้นกลับสามารถยืนราคาอยู่ในช่วงที่ราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงได้เป็นปีๆ ก่อนที่ราคาจะปรับตัวลง
ในขณะเดียวกัน หุ้นของบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจก็มักจะมีแรงกดดันราคาไว้เสมอ เมื่อเทียบกับหุ้นทั่วไปในตลาด
ช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 คือเวลาที่หุ้นส่วนใหญ่และตลาดทะยานขึ้น แต่หุ้นเหล็กก็ยังโดนกดดันอยู่เช่นเดิม แม้ทุกคนจะเห็นว่าราคาหุ้นกลุ่มนี้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ก็ไม่ได้แปลว่าราคาหุ้นจะต้องปรับขึ้นในเร็ววัน เพราะหุ้นสามารถโดนกดราคาได้เป็นปี
19. ศาสตร์แห่งการทำกำไร
การหาจังหวะขายที่เหมาะสมนั้นยากกว่ากว่าการหาจังหวะซื้อมาก เพราะว่าหุ้นแต่ละตัวลงถึงจุด Low ในตลาดขาลงพร้อมๆกัน แต่ถึง high ในตลาดขาขึ้นไม่พร้อมกัน
การขายเมื่อเทรนด์ของตลาดโดยรวมเริ่มเข้าสู่ขาลงมักจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าพึงพอใจเท่าไหร่นัก เพราะหุ้นจำนวนมากนั้นถึงราคา high ก่อนหุ้นตัวอื่นๆในตลาด
การศึกษาราคาและวอลุ่มของหุ้นแต่ละตัว จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาแยกกันและตัดสินใจซื้อ/ขายเป็นตัวๆไป
20. การขายชอร์ต
หลายๆครั้งที่การทำกำไรในตลาดนั้นได้จากการขายชอร์ตหุ้นเร็วกว่าการซื้อหุ้นมาก เหตุผลก็เพราะว่าเมื่อราคาหุ้นดิ่งลงมักจะดิ่งลงแรงและชันกว่า เมื่อเทียบกับช่วงที่ราคาหุ้นขึ้น
และช่วงที่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นนั้นมักจะกินระยะเวลานานกว่าเสมอ ยิ่งราคาวิ่งขึ้นนานเท่าไหร่ นักลงทุนที่มีมุมมองแง่ลบกับหุ้นตัวนั้นก็จะค่อยๆลดไปเรื่อยๆ
ในทางกลับกัน ช่วงเวลาสั้นๆที่หุ้นลงอย่างรวดเร็วนั้น เกิดขึ้นจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนที่ยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อราคาหุ้นลดลง…
สรุปแนวคิดจากสุดยอดหนังสือคลาสสิค ‘Super-Performance Stocks’
โดย Phantorm
www.sarut-homesite.net
20 กุมภาพันธ์ 2013

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น