วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กางโรดแมป "กรีนบัส" โต 100 ล้าน บุกขนส่งทางบกครบวงจรเชื่อมภูมิภาค-AEC

updated: 23 เม.ย 2558 เวลา 16:00:09 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นับเนื่องจากปี 2507 ถึงวันนี้ คือช่วงเวลาบนเส้นทางธุรกิจให้บริการเดินรถโดยสารของบริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด ที่เดินทางมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี

แรกเริ่มกับชื่อ "เมล์เขียว" คุ้นชินและเรียกกันจนติดปากของผู้โดยสารสายเหนือแบรนดิ้งสู่ "Green Bus" ปั้นแต่งให้เป็นแบรนด์อินเตอร์เพื่อเชื่อมรุกไปยังทุกเส้นทางในภูมิภาคและต่างประเทศในกลุ่ม AEC ด้วยยอดขายที่พุ่งทะยานถึง 100 ล้านบาท "สมชาย ทองคำคูณ" กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารเครือชัยพัฒนาเชียงใหม่ CEO แห่งกรีนบัส กางโรดแมปการเติบโตผ่าน "ประชาชาติธุรกิจ"

สมชายบอกว่า เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างธุรกิจที่เรียกว่า Business United วางกิจการทุกประเภทอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเครือชัยพัฒนาเชียงใหม่ หรือ "กรีนคอร์ป" (Green Corp) ได้แก่ Green Bus ธุรกิจรถโดยสารประจำทาง, Green Logistics ธุรกิจรับ-ส่งพัสดุและโลจิสติกส์, Green Travel ธุรกิจรถโดยสารไม่ประจำทาง, Green Auto ธุรกิจซ่อมบำรุงรถโดยสาร และ Green Support ธุรกิจด้านการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ให้กับธุรกิจในเครือ

โดยธุรกิจรถโดยสารประจำทางภายใต้แบรนด์ Green Bus คือธุรกิจหลักขององค์กรที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และปีนี้ (2558) ได้คาดการณ์รายได้ที่จะเติบโตกว่า 100 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับสัมปทานการเดินรถกว่า 20 เส้นทางครอบคลุมภาคเหนือตอนบนทั้งหมด อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก รวมถึงเส้นทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง จนถึงภาคใต้ ได้แก่ นครสวรรค์ สิงห์บุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต มีจุดจำหน่ายบัตรโดยสารมากกว่า 100 จุด ให้บริการแก่ผู้โดยสารวันละราว 100 เที่ยว มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี รวมมากกว่า 5 หมื่นเที่ยววิ่งต่อปี

ในปี 2557 กรีนคอร์ปได้ซื้อกิจการของบริษัท โชครุ่งทวีทัวร์ จำกัด ด้วยงบฯลงทุนราว 200 ล้านบาท ซึ่งมีรถโดยสารประจำทางวิ่งอยู่ในเส้นทางเชียงราย-ภูเก็ต ผ่านทางจังหวัดพิษณุโลก และเส้นทางจากพิษณุโลก-เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ผ่านพิษณุโลก และกรุงเทพฯ-เชียงราย กรุงเทพฯ-แม่สาย และกรุงเทพฯ-เชียงของ มีจำนวนรถทั้งหมด 31 คัน

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับบริษัท ปิยะรุ่งเรืองทัวร์ จำกัด พันธมิตรที่ให้บริการรถโดยสารในเขตภาคใต้ เปิดให้บริการเส้นทางหมายเลข 877 แม่สาย-ด่านนอก ให้บริการจากด่านชายแดนที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปยังอำเภอด่านนอก จังหวัดสงขลา รวมระยะทาง 1,888 กิโลเมตร ถือเป็นเส้นทางโดยสารรถประจำทางที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยผู้โดยสารสามารถใช้เส้นทางนี้เดินทางเชื่อมต่อได้ถึง 3 ประเทศ ได้แก่ พม่า ไทย และมาเลเซีย


นายสมชาย ทองคำคูณ


บุกแดนอีสานเปิดบึงกาฬ-แม่สาย


สมชายบอกว่า ในปี 2558 นี้ทางกลุ่มได้ลงทุนสั่งต่อตัวรถโดยสารรุ่นใหม่อีก 10 คันความยาว 15 เมตร ยี่ห้อ Scania จากประเทศสวีเดน มูลค่าการลงทุนกว่า 80 ล้านบาท เฉลี่ยคันละกว่า 8 ล้านบาท ซึ่งเป็นรถที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต และมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนสูงตามมาตรฐานยุโรป ที่สามารถวิ่งในระยะทางไกลได้มากกว่า 1,000 กิโลเมตรขึ้นไป โดยทางกลุ่มถือเป็นรายแรกที่ได้นำรถขนาดความยาว 15 เมตรมาให้บริการเดินรถโดยสารภายในประเทศใน 3 เส้นทาง คือ เชียงราย-ภูเก็ต 4 คัน, เชียงใหม่-ภูเก็ต 4 คัน และแม่สาย-บึงกาฬ 2 คัน

ทั้งนี้ เส้นทางสายอีสานนับเป็นการเปิดเส้นทางล่าสุดของกรีนบัส โดยนำร่อง "บึงกาฬ-แม่สาย" เป็นเส้นทางแรกที่จะเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคเหนือเข้าหากัน ด้วยเพราะมองเห็นศักยภาพการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางข้ามภูมิภาคที่มีการขยายตัวในทุกมิติ โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวแบบช้า ๆ (Slow Tour) มากขึ้น เน้นการท่องเที่ยวแบบ Back Pack มากขึ้น ซึ่งการเดินทางในระยะไกลของผู้บริโภคกลุ่มนี้ การรองรับด้วยรถโดยสารที่มีความทันสมัยสะดวกสบายจึงสามารถตอบโจทย์ตลาดได้อย่างตรงจุด

"เราจะเปิดเส้นทางเชื่อมภาคเหนือกับภูมิภาคต่างๆ ทุกภาคของประเทศไทย จะเน้นในจุดที่สายการบินโลว์คอสต์ไม่มีให้บริการ เราจะเป็นการเดินทางแบบ All Point to Point หมายถึงการเชื่อมโยงเส้นทางจากทุก ๆ เส้นทางไปสู่อีกจุดหมายปลายทางหนึ่ง โดยจะเน้นกลุ่มผู้ทำงานและนักท่องเที่ยวในระดับ B ถึง A โดยเส้นทางภาคตะวันออกจะเป็นสเต็ปต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและหาพันธมิตร ซึ่งคาดว่าภายใน 5 ปีนี้กรีนบัสจะมีเน็ตเวิร์กทั่วประเทศ"




ยึด AEC เชียงใหม่-ย่างกุ้ง

ซีอีโอกรีนบัสยังบอกอีกว่า การรุกเปิดเส้นทางระหว่างประเทศในอาเซียนและจีน นอกจากนำร่องในเส้นทางเชียงราย-คุนหมิง และเวียงจันทน์แล้ว ยังมีแผนที่จะเปิดเส้นทางเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงที่ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย หากมีการเปิดให้สัมปทาน และทำธุรกิจในลักษณะ Code Share ทางกลุ่มอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนในเส้นทางเชียงใหม่-ย่างกุ้ง โดยกำลังเจรจากับผู้ประกอบการเดินรถโดยสารของประเทศพม่า ที่ให้บริการเส้นทางจากแม่สอด-เมียวดี-ย่างกุ้ง ซึ่งศักยภาพการเดินทางท่องเที่ยว และประกอบธุรกิจผ่านเส้นทางนี้จะขยายตัวมากขึ้น เมื่อระบบโครงสร้างพื้นฐานจะเสร็จสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

หากวิเคราะห์การก้าวเดินของกรีนคอร์ปเป็นการวางRoadMap ทางธุรกิจชัดเจนที่จะครองส่วนแบ่งด้านการขนส่งคนทางบกให้มีเส้นทางครอบคลุมภายในประเทศและระหว่างประเทศให้มากที่สุดเพื่อจะสนองตอบต่อการเดินทางในการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่กำลังเติบโต ซึ่งหลังจากนี้ทางกรีนคอร์ปอยู่ระหว่างการแต่งตัวเพื่อจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายใน 3-5 ปีนี้ โดยมีธุรกิจที่ครอบคลุมด้านการขนส่งทางบกอย่างครบวงจร

นี่คือการเติบใหญ่ของธุรกิจภูธรอีกรายหนึ่งที่กำลังก้าวสู่ธุรกิจข้ามชาติ และเป็นธุรกิจไทยที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีอาเซียนในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น