วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

"โรงเรียนอนุบาลที่เจ๋งที่สุดใน 3 โลก"

ผมเขียนเรื่องนี้ลงในเพจของผมเอง
แล้วคนแชร์กันเยอะ 

จนมีเพื่อนคนนึงที่เป็นคุณแม่บอกให้เอามาลง Pantip สิ
คุณพ่อ คุณแม่ หรือ คนที่เกี่ยวข้องจะได้เห็นเยอะขึ้น

ยังไงลองอ่านดูนะครับ


+++ "โรงเรียนอนุบาลที่เจ๋งที่สุดใน 3 โลก" +++


ผมพึ่งดู TedTalk มาครับ
อันที่กำลังเป็นที่ฮือฮามากในขณะนี้

ฮือฮา...ถึงขนาด เซอร์เคน โรบินสัน 
เจ้าของ TedTalk ที่มีคนดูมากที่สุดในโลก
ยังขอมีเอี่ยว กดไลค์ กดแชร์...กับเขาด้วย


คลิปนี้เป็นการพูด ของ “ทาคาฮารุ เทซึกะ” สถาปนิกชาวญี่ปุ่น
บนเวที TED Kyoto ครับ



โดย ทาคาฮารุ ได้เล่าให้ฟังถึงแนวคิดการออกแบบโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในที่สร้างขึ้นในโตเกียวเมื่อปี 2007 

ซึ่ง “ทาคาฮารุ เทซึกะ” เล่าได้อย่าง น่ารัก และ น่าสนใจอย่างมาก

สำหรับเพื่อนๆที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ 
ผมขออนุญาตสรุปสาระที่คุณทาคาฮารุ 
ถ่ายทอดให้ฟังในแบบของผม...ดังนี้ครับ



แนวคิดที่ ทาคาฮารุ ใช้ออกแบบโรงเรียนอนุบาลแห่งนี้มีอยู่ 3 ข้อหลักๆ

คือ


1. Circle
2. No Boundaries … No control
3. Some amount of Danger



เริ่มที่


1. “Circle” / กลม

ข้อแรกนี้ ทาคาฮารุ อธิบายว่า
ถ้าใครมีลูกจะต้องรู้ว่า เด็กวัยนี้ชอบวิ่งวนไปวนมาเป็นวงกลม

วิ่งวนรอบตัวพ่อแม่บ้าง... 
วิ่งวนรอบโต๊ะบ้าง... 
วิ่งวนรอบตัวเองบ้าง...

เพราะฉะนั้น ทาคาฮารุ เลยสร้างอาคารเรียนให้เป็นทรงกึ่งกลมกึ่งรีซะเลย 
เพื่อให้ลูกลิงเล็กๆเหล่านี้วิ่งกันให้หนำใจ



จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ

ที่เด็กโรงเรียนนี้จะมีระยะทางการวิ่งเฉลี่ยอยู่ที่
มากกว่า 4 กิโลเมตร ต่อวัน

มากที่สุดถ้าเทียบกับโรงเรียนอนุบาลอื่นๆ



วิ่งขนาดนี้...ไม่แข็งแรงให้มันรู้ไปสิ




2. “No Boundaries … No control” - ปราศจากขอบเขต ปราศจากการควบคุม





จากรูปจะสังเกตได้ว่าโรงเรียนแห่งนี้จะไม่มีการแบ่งเขตที่ชัดเจนระหว่าง Indoor กับ Outdoor
หากแต่พยายามให้ผสานกันไปอย่างแยกไม่ออก



นั่นเพราะครูใหญ่ และ ทาคาฮารุ เชื่อว่ามนุษย์ถูกสร้างมาให้ ทนแดด ทนน้ำ

เขาบอกว่า...ผู้ใหญ่สุขภาพดีมากมาย 
ออกไปเล่นสกี ปีนเขาในอุณหภูมิที่ติดลบ
ขณะที่อีกมากมายออกไปเล่นเซิร์ฟตัวเปียกๆ 
หรือเล่นกีฬากลางแดดจัดๆ ร้อนๆ


ผู้ใหญ่ยังทำได้...แล้วเราจะไปห้ามเด็กๆทำไม!?!?


อาจจะไม่ต้อง Extreme เท่าผู้ใหญ่
แต่ก็ต้องมีบ้างตามธรรมชาติ


การเอากำแพงกั้นระหว่าง Indoor กับ Outdoor ออก
ย่อมทำให้เด็กๆเหล่านี้วิ่งออกมารับแดด รับฝนกลางแจ้งได้ง่ายขึ้น


ซึ่งแนวคิด "ปราศจากขอบเขต" ยังถูกนำมาใช้กับห้องเรียนอีกด้วย



ทาคาฮารุ บอกว่าการที่เอาเด็กวัยนี้ไปใส่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆนั้น
อาจทำให้เด็กบางคนประหม่า อึดอัด หรือกระวนกระวายได้


ในขณะที่คุณครูใหญ่ของโรงเรียนนี้
(จากการบอกเล่าของ ทาคาฮารุ )
ให้นโยบายว่า...

หากมีเด็กคนไหนที่เรียนๆอยู่แล้วอยากเดินออกจากห้อง
ก็ให้ปล่อยเค้าไป...อย่าไปห้ามเค้า

เพราะว่าสุดท้ายแล้ว เด็กคนนั้นก็ต้องเดินกลับมาอยู่ดี
เพราะอาคารเป็นวงกลม (ฮา)


ส่วนประโยชน์ข้อสุดท้ายจากแนวคิดของการโยนขอบเขตทิ้งไปนั้นคือ 

...“เสียงดัง” ...


ซึ่งเสียงเหล่านี้สำคัญกับเด็กๆมาก

ทาคาฮารุ อธิบายว่าเป็นที่รู้กันดีว่าเด็กหลับได้ดีกว่าเมื่อมีเสียง
หลักฐานง่ายๆคือถ้าเงียบแล้วหลับ เราจะร้องเพลงกล่อมเด็กกันทำไม


เขายังเล่าต่อว่าผู้ใหญ่หลายคนสามารถจีบ 
พูดคุยกันได้อย่างมีสมาธิในที่เสียงดังอย่างผับบาร์

เด็กที่โรงเรียนแห่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเสียงดังนั้น 
ไม่เป็นปัญหากับสมาธิของพวกเขาเช่นกัน

เหมือนดังครั้งหนึ่ง...ที่เราเคยเติบโตในป่าที่เต็มไปด้วยเสียงต่างๆ
จะเป็นอะไรไปถ้าเรานำห้องเรียนกลับสู่ธรรมชาติ




3. "Some amount of Danger" - อันตรายบ้าง เล็กๆน้อยๆ


สถาปนิกคนเก่งบอกว่า
โรงเรียนนี้ไม่ใช่ที่สถานที่ ที่ปลอดภัยไปซะหมด
และจะไม่มีวันเป็นอย่างนั้น

เพราะ

มีเชือก มีต้นไม้..... ให้เด็กๆได้ปีนป่าย
มีพื้นต่างระดับ.....ที่ไม่สูงมากนัก ให้เด็กๆ ได้โดดขึ้นลง 
มีชั้นแคบๆ เหมือนอุโมงค์.....ให้เด็กๆได้มุด ให้หัวโขกบ้าง



อาจจะเจ็บเล็กๆน้อยๆ แต่พวกเขาก็ได้เรียนรู้


ทาคาฮารุเชื่อว่าการมีอันตรายเล็กน้อยๆ ในระดับที่พอเหมาะ
ช่วยให้เด็กเติบโตและเรียนรู้

และที่สำคัญที่สุดทำให้พวกเขารู้จักช่วยเหลือกันและกันเพื่อที่จะเอาชนะอันตรายเหล่านั้น

ซึ่งนี่คือคุณสมบัติที่ผู้ใหญ่บางคนในสังคมปัจจุบันไม่มี




"เอ้ย...จะตกแย้ว...ขึ้นไม่ไหว..."

"มาชั้นช่วยเธอเอง"



สวยงามใช่มั้ยครับ

ภาพที่เด็กๆ ช่วยเหลือกัน เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ


ซึ่งที่สวยงามไม่แพ้กัน คือคำพูดของ  “ทาคาฮารุ เทซึกะ” 
ที่สรุปปิดท้าย Presentation ของเขาในครั้งนี้

ว่า

My point is ….do NOT control them, do NOT protect them too much.
They need to stumble sometimes.
They need to get some injuries.
And that make them learn how to live in this world


ประเด็นสำคัญสำหรับผม คือ 
อย่าควบคุมพวกเขา อย่าปกป้องทะนุถนอมพวกเขาเกินไป
พวกเขาจำเป็นที่จะต้องสะดุดล้มลงเพื่อให้ได้แผลบ้าง
และนั่นแหล่ะจะทำให้พวกเขาเรียนรู้วิธีที่จะใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบนี้




และนั่นแหล่ะคือโรงเรียนอนุบาลของ “ทาคาฮารุ เทซึกะ”





.......

ปล. ใครที่พอฟังภาษาอังกฤษได้ อยากให้ลองไปดูคลิปนี้ดูครับ
เพียงแค่ 9 นาที แต่อัดแน่นไปด้วยแนวคิดดีๆ ความน่ารักของเด็กๆ
และ สำเนียงภาษาอังกฤษแบบคนญี่ปุ่นที่มีเสน่ห์ของ สถาปนิกคนเก่งที่พยายามใช้ศาสตร์ของแกเปลี่ยนแปลงโลกครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ



ส่วนใครที่อยากอ่านเรื่องอื่นๆที่มีประโยชน์บ้าง...ไม่มีบ้าง 
เชิญได้ที่เพจของ จขก

https://www.facebook.com/morethan8lines



Cr. ภาพทั้งหมดผมแคปมาจาก YouTube การพรีเซนเตชั่นของ  “ทาคาฮารุ เทซึกะ” ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น