วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

‘โอชาฟูดแพ็ค’ ใบตองร้อยล้าน เจาะตลาดคู่แข่งมองข้าม

“ใบตอง” ธรรมดาๆ สามารถเป็นสินค้าส่งออก ทำรายได้ให้แก่เจ้าของธุรกิจอย่าง “บริษัท โอชาฟูดแพ็ค จำกัด” ปีละนับร้อยล้านบาท ด้วยการวางตำแหน่งเป็นสินค้าสำหรับตลาดเฉพาะเจาะจง ซึ่งคู่แข่งรายอื่นๆ มองข้าม พร้อมค้นหาวิธีลดต้นทุนเพื่อเพิ่มรายได้ ช่วยให้ธุรกิจพบสูตรสำเร็จ 
       
       ดร.นงนุช อธิพันธุ์อำไพ ทายาทธุรกิจ เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารส่งออกมายาวนาน โดยเฉพาะค้าข้าว จนเมื่อปีพ.ศ.2551 ลงทุนกว่า 70 ล้านบาท ขยายกิจการสร้างโรงงานอาหารแช่แข็ง เพื่อส่งออกสินค้าเกษตรไทยนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืช ผัก และผลไม้ไทย เพื่อต้องการขายแก่ชาวเอเชียที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในหลายๆ ประเทศ รวมถึง ส่งเข้าร้านอาหารไทยในต่างแดน ที่กำลังได้รับความนิยมมีเปิดใหม่จำนวนมาก
       
       ทั้งนี้ การส่งออกผลผลิตเกษตร ใช้เทคโนโลยี Air Blast โดย “แช่เยือกแข็ง” ผลผลิตต่างๆ ในอุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส และเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นที่อุณหภูมิ -25 องศาฯ ช่วยคงคุณสมบัติของสดไว้เหมือนเดิม และเมื่อจะนำมาใช้ เพียงแค่ปล่อยให้ละลายในอุณหภูมิปกติ 
       
       โดยมีผลผลิตส่งออกผักแช่เยือกแข็งแทบทุกชนิด เช่น ชะอม กระเพรา สะเด่า ใบเตย ฯลฯ และในเวลาต่อมา ขยายสู่การแปรรูปขนมหวานไทยแช่แข็งด้วย
       
       สำหรับสินค้าที่ส่งออกมากสุดของเอสเอ็มอีรายนี้ คือ “ใบตอง” ซึ่งครั้งหนึ่งเกือบจะยกเลิกผลิต เพราะมีกำไรน้อย แถมต้องใช้แรงงานคนสูง แต่ด้วยแนวคิดเลือกจะจับตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยใช้ใบตองเป็นหัวหอก ทำให้จากสินค้าที่คู่แข่งรายอื่นๆ มองข้าม กลายเป็นสินค้าพระเอกของบริษัทในปัจจุบัน
       
       “ตอนดิฉันเข้ามารับช่วงธุรกิจ ก็มองถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ นำวัตถุดิบไปแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ เช่น ทำขนมหวานแช่แข็ง เป็นต้น แต่สำหรับใบตองแล้ว เป็นสินค้าที่มีกำไรน้อยมาก เฉลี่ยแค่ 7-8% น้อยจนไม่อยากทำ รวมถึง ใช้แรงงานจำนวนมาก ตอนนั้นเลยคิดจะเลิกทำดีกว่า เพราะไม่คุ้ม แต่เมื่อมาดูปริมาณการสั่ง ยังมีอยู่สม่ำเสมอ อีกทั้ง มันเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าที่ส่งออกมากที่สุดของเรา รวมถึง ลูกค้าหาซื้อสินค้านี้ได้ยาก เพราะคู่แข่งรายอื่นๆ เลิกทำไปเกือบหมดแล้ว เราเลยตัดสินใจจะส่งออกใบตองต่อ แต่ต้องหาวิธีจะลดต้นทุน เพื่อเพิ่มกำไรให้ได้” ทายาทธุรกิจสาว เล่า
       
       วิธีพลิกให้ใบตองกลับมามีกำไรเพิ่มขึ้นนั้น ดร.นงนุช เล่าว่า มุ่งปรับกระบวนการผลิต จากเดิมไม่ค่อยให้ความสำคัญในรายละเอียดมากนัก มองแค่ “ขาเข้า” ที่เกษตรกรนำใบตองมาส่งเป็นม้วนๆ ว่าราคาเท่าไร กับ “ขาออก” ที่แช่แข็งบรรจุเป็นแพคแล้ว จะส่งออกได้กำไรเท่าไร 
       
       กระทั่ง เจอจุดอ่อนขั้นตอนระหว่างกลาง ในกระบวนการผลิตขาดระบบที่ดี โดยเฉพาะเรื่องแรงงาน “คน” ที่ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มขีดความสามารถสูงสุด เลยเริ่มปรับวิธีการ สร้างมาตรฐานที่จะทำงานได้รวดเร็วขึ้น ควบคู่กับลดความสูญเสีย และหลังจากได้รูปแบบที่เหมาะสมแล้ว จึงกำหนดเป็นมาตรฐานที่พนักงานทุกคนต้องทำตาม 
       
       “ดิฉันเรียนมาด้านวิทยาศาสตร์อาหาร ไม่มีความรู้เรื่องสายงานผลิตโรงงานเลย ต้องหาความรู้ใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จากเดิมเราจะคิดว่า ใบตองแค่ตัดแต่งทำความสะอาดแล้วแพคแช่แข็งส่งออกก็จบ แต่ไม่เจาะลึกไปว่า พนักงานแต่ละคน มีวิธีหยิบอย่างไร ล้างอย่างไร ตัดอย่างไร ฯลฯ พอดูในรายละเอียด ถึงรู้ว่า แต่ละคน วิธีทำไม่เหมือนกันเลย รวมถึง สถานที่ทำงานก็ไม่เหมาะสม เราเลยค่อยๆ ปรับที่ละจุด เช่น วางใบตองอย่างไรจะตัดได้เร็วขึ้น เป็นต้น จนได้วิธีที่ดีที่สุดมากำหนดเป็นมาตรฐาน ทำให้เราลดเวลาทำงานลง จากที่กระบวนการบรรจุใบตอง 1 ชุด เคยใช้เวลา 191 วินาทีเหลือ 90 วินาที เมื่อผลิตได้เร็วขึ้น ค่าใช้จ่ายก็ลดลง ทำให้ผลกำไรได้มากขึ้น” ดร.นงนุช เผยและเสริมว่า
       
       วิธีดังกล่าวทำให้คาดการณ์ถึงผลผลิตที่จะออกมาได้ ช่วยในการวางแผนจัดการสินค้า และที่สำคัญ ลดกระบวนการผลิตจาก 3 ขั้นตอนเหลือ 2 ขั้นตอน ประหยัดเวลาการผลิตลงจาก 3 วันเหลือ 2 วัน ลดคนงานส่วนนี้จาก 35 คน เหลือเพียง 23 คน และเมื่อทำงานเสร็จแล้ว ก็ไม่ต้องเปิดโอที ช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนนี้กว่า 1,300,000 บาท ต่อปี ดังนั้น แม้ปริมาณการส่งสินค้าจะเท่าเดิม แต่ได้ผลกำไรมากขึ้น จาก 7-8% ปัจจุบันเพิ่มเป็นกว่า 20% 
       
       สำหรับใบตองที่ส่งออก เจาะจงเป็นพันธุ์ “ตานี” เท่านั้น เพระใบใหญ่ และแข็งแรง ส่วนแหล่งที่มาวัตถุดิบจะรับซื้อจากกลุ่มเกษตรกรที่รวบรวมมาขายให้โรงงาน สัปดาห์ละ 16 ตัน โดยกำหนดทั้งขนาด สี รวมถึง ตรวจเชื้อโรค เพื่อความปลอดภัย ให้ได้มาตรฐานส่งออก โดยตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และทวีปยุโรป ผ่านทางร้านค้าขายส่งสินค้าไทย และร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ที่จะนำใบตองไปใช้ห่อขนมไทย และตกแต่งจานอาหาร
       
       และนอกจากใบตองแล้ว บริษัทยังส่งออกอาหารแช่แข็งอีกหลากหลายชนิด ทั้งหมวดผัก ผลไม้ และขนมหวาน รวมกว่า 35 รายการ ภายใต้แบรนด์ Ocha และ Red-Drago ผลประกอบการเมื่อปีที่แล้ว (2557) กว่า 300 ล้านบาท โดยเจาะจงเป็นยอดขายเฉพาะใบตอง ประมาณ 40-50 ล้านบาท
       
       “ในความเป็นจริง ความต้องการสินค้าใบตองในต่างประเทศไม่ได้มากมายนัก กลุ่มลูกค้าค่อนข้างจะเท่าเดิมสม่ำเสมอ ขายได้เรื่อยๆ แต่เนื่องจากมีผู้ส่งออกสินค้าชนิดนี้น้อยมาก การแข่งขันจึงไม่สูง ทำให้เราเป็นที่รู้จักของลูกค้าทั่วไป หากต้องการจะสั่งใบตองมักจะนึกถึงบริษัทของเรา นอกจากนั้น ยังมีประโยชน์พลอยได้อื่น เช่น สร้างแบรนด์ให้ลูกค้ารู้จัก และเวลาส่งใบตองสามารถสอดแทรกสินค้าอื่นๆ ไปขายตามด้วย เป็นต้น” ดร.นงนุช ระบุทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น