แถลงเปิดโครงการฟื้นฟูกรุงเทพฯ ครบ 250 ปี พลิกฟื้นให้เป็นเมืองน่าอยู่ ด้านผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง นำเสนอภาพ 10 เทรนด์ใช้ชีวิต 8 ย่านใหม่ 6 การเปลี่ยนแปลง กทม. อีก 17 ปีข้างหน้า - แนวโน้มคนจะกลับมาอาศัยในพื้นที่ชั้นใน เกิดธุรกิจใหม่ ชุมชนพหุวัฒนธรรม คาดเมืองจะหยุดขยายตัวไปชานเมืองเมื่อขนส่งระบบรางเต็มพื้นที่
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่โรงแรม มิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผังเมือง (UddC) ร่วมกับ สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "กรุงเทพฯ 250" ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูเมืองกรุงเทพฯ ในวาระครบรอบ 250 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะพลิกฟื้นพื้นที่เมืองชั้นในให้น่าอยู่ และพัฒนาเป็นมหานครระดับโลก โดยมีนายวันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ
ตัวแทนชุมชนหวังให้มีแผนแม่บท และการพัฒนาที่ผู้อาศัยมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ในฐานะตัวแทนย่านกุฎีจีน หรือกะดีจีน-คลองสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาของโครงการ ได้ให้โอวาทเปิดงาน ระบุว่า ในฐานะตัวแทนชุมชนกะดีจีน มองการพัฒนาสอง ทั้งมหภาค และจุลภาค ทั้งนี้การพัฒนาต้องการรักษาการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน ในลักษณะช่วยกันคิดกันทำ อาศัยสามขา คือ หนึ่ง บ้าน สอง วัด มัสยิด โบสถ์ สาม ภาควิชการ ภาคราชการ เช่น สำนักผังเมือง กทม. และทุกฝ่าย ร่วมทั้งกลุ่มทุนที่อยากเข้าไปร่วมพัฒนาชุมชน ที่ผ่านมาชุมชนกะดีจีนเคยร่วมกันปรับปรุงชุมชน เช่น ทอดผ้าป่า เพื่อนำเงินมาทาสีกำแพง ทำทางเดิน แต่การพัฒนายังขาดแผนแม่บท แบบที่โครงการ "กรุงเทพฯ 250" กำลังดำเนินการ
พระพรหมบัณฑิต ให้ข้อคิดด้วยว่า คนที่อาศัยในชุมชนเมือง ยังไม่รู้สึกร่วมเป็นเจ้าของชุมชน เพราะอาจจะย้ายถิ่นเข้ามาทำงาน หรือยังอยู่ไม่ติดที่ ดังนั้นต้องส่งเสริมให้คนในชุมชนร่วมกันมีส่วนร่วมสร้างเมือง เพื่อที่จะได้มีความหวงถนอมรักษาชุมชนร่วมกัน ทั้งนี้กรุงเทพมหานครไม่ได้แยกเป็นย่านชัดเจน ดังคำโบราณกล่าวว่าไก่บินไม่ตกพื้นดิน เพราะชุมชนในกรุงเทพฯ อยู่ใกล้เคียงกัน แทบจะหลังคาติดกัน
ผู้อำนวยการ UddC เผยผลคาดการณ์ 10 เทรนด์ 8 ย่าน 6 ความเปลี่ยนแปลง กทม. ใน พ.ศ. 2575
นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ได้นำเสนอภาพกรุงเทพฯ ในปี 2575 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาด้วยวิธีบูรณาการแนวใหม่ ประกอบด้วย เทคนิคการคาดการณ์อนาคต (Foresight) และการร่วมหารือกับคนหลากหลายกลุ่มในกรุงเทพฯ โดยได้ผลลัพธ์มาเป็น 10 เทรนด์การใช้ชีวิต 8 ย่านใหม่ของกรุงเทพฯ 6 การเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพที่สำคัญ
โดยนิรมล นำเสนอว่า หลายฝ่ายเห็นว่าศตวรรษที่ 21 คือ "the Urban Century" เพราะประชากรของโลกเกินครึ่งอาศัยในเมือง และอีก 30 ปี ประชากร 3 ใน 4 ของโลกจะอาศัยในเมือง ส่งผลให้เมืองเป็นจุดที่บริโภคทรัพยากรมากที่สุดของถึงร้อยละ 66% ของทรัพยากรทั้งหมด ดังนั้นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต ล้วนเกี่ยวข้องกับเมือง การพัฒนาเมืองจึงเป็นคำตอบเพื่อทำให้โลกยั่งยืนมากขึ้น
เดิมวิธีการในการขยายเมืองเพื่อรองรับการเติบโตของประชากรมี 2 แบบ หนึ่ง ขยายแนวราบไปสู่พื้นที่เกษตรชานเมือง ซึ่งมักใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงเดี่ยว ความหนาแน่นน้อย และสอง มีความพยายามทำให้เมืองกระชับมากขึ้น เปลี่ยนจากการใช้ประโยชน์เดียวคือที่อยู่อาศัย มาเป็นการใช้ประโยชน์แบบผสมผสานทำให้หนาแน่นของประชากรในที่ดินมากขึ้น
เผยตัวอย่างญี่ปุ่นตัวอย่างฟื้นฟูเมืองชั้นใน เกิดความหลากหลายย่านเมืองใหม่
นิรมลยกตัวอย่างเมืองที่เคยขยายตัวแนวราบ และต่อมากลับมาเป็นเมืองที่พัฒนาการใช้ที่ดินแบบเข้มข้นและใช้ประโยชน์ที่ดินได้สูง คือ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้โตเกียวเหมือนเป็นกระจกเงาสะท้อน ถ้าอยากดูอะไรที่ล้ำอนาคตก็ไปดูที่โตเกียวได้ หรือจะดูของเก่าประณีตก็มาดูที่โตเกียวเช่นกัน ทั้งนี้โตเกียวเมื่อ 30 ปีก่อนก็ขยายตัวแนบราบเช่นกัน และนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่มีจุดพลิกเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1990 เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมวัยชรา ประชากรเริ่มลด และเศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบปัญหาชะลอตัว แม้ยังไม่เกิดฟองสบู่ แต่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ ในเวลานั้นนักวางผังเมืองคิดว่าจะทำให้เมืองกระชับด้วยแนวทาง "Redensification" หรือทำให้การใช้ที่ดินในเมืองเข้มข้นขึ้น ใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนกลาง จำกัดรูปแบบใช้ที่ดิน และวางแผนที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้มีการพัฒนารอบเส้นทางรถไฟในเมืองของโตเกียวที่ชื่อ "วงแหวนยามาโนเตะ" ใช้หลัก "ทำน้อยได้เยอะ" คือใช้งบประมาณน้อยแต่ได้ประโยชน์สูง โดยทั้งถ้านั่งรถไฟฟ้ารอบเมืองสายยามาโนเตะ จะเห็นความหลากหลายของย่านเมืองไม่ซ้ำกัน เช่น ย่านเก่ามาก จนถึงย่านพัฒนาใหม่ๆ โดยการฟื้นฟูเมืองอย่างมียุทธศาสตร์จะช่วยเพิ่มความหลากหลายให้เมือง
ทั้งนี้ นิรมล ได้ยกตัวอย่างแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟโตเกียว ซึ่งอยู่ข้างข้างพระราชวังของสมเด็จพระจักรพรรดิ เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารที่สำคัญ แต่เดิมรอบๆ มีความทรุดโทรม และไม่ได้ใช้ประโยชน์ พื้นที่หน้าสถานีรถไฟก็ใช้เป็นแค่ที่จอดแท็กซี่ แต่ต่อมามีการวางแผนเพิ่มความเข้มข้นของการใช้ที่ดินใจกลางเมือง จึงมีการหารือกันระหว่างภาคีหลายฝ่าย ทั้งเจ้าของที่ดิน JR-East ที่เป็นเจ้าของสถานี เทศบาล สำนักงานเขต องค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อร่วมกันค้นหาวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่ จนในที่สุดมีการทำแผนแม่บท และวิธีนำไปสู่การปฏิบัติ และมาตรการที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ เช่น ถ่ายโอนสิทธิการพัฒนา การขายสิทธิบนอากาศของอาคารสถานีรถไฟเก่า เพื่อรักษาอาคารสถานีรถไฟไว้ และเพื่อให้อาคารรอบๆ สามารถพัฒนาได้ รวมทั้งเชื่อมโยงระบบการเดินทางให้ทั่วถึง
อดีต กทม. เคยขยายเมืองสู่แนวชานเมือง แต่แนวโน้มคนเริ่มกลับมาอาศัยในเมืองหลังมีระบบราง
ส่วนกรณีการพัฒนาของกรุงเทพฯ ที่ผ่านมามีการขยายเมือง "แบบระเบิด" โดยเมืองกระจายตัวออกไปตามชานเมือง เกิดที่อยู่อาศัยแนวราบ อย่างไรก็ตามแม้ปัจจุบันจะมีระบบราง แต่เมืองยังคงโตออกไปตามชานเมือง โดยที่การฟื้นฟูเมืองชั้นในยังขาดทิศทางชัดเจน แต่สิ่งที่เห็นก็คือคนเริ่มกลับเข้ามาอาศัยในเมือง
"ที่อยู่อาศัยชานเมืองราคาอาจจะถูก แต่การเดินทางและคุณภาพชีวิตที่ต้องจ่ายในการเดินทางเวลากลับเข้ามาทำงานนั้นสูง นอกจากนี้ ยังมีราคาทางสังคมที่ไม่ได้พูดถึง เช่น ที่อยู่อาศัยเขตชานเมืองเข้าไปใช้พื้นที่เกษตรชานเมือง ทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่เกษตรชั้นดีไป มีการชะล้างตะกอนจากการเปิดหน้าดิน ทำให้ต้นทุนการจัดการอุทกภัยเพิ่มขึ้น การใช้พลังงานที่สูงขึ้น และการลงทุนสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งการสร้างถนน ระบบ น้ำไฟเข้าไปในพื้นที่"
นิรมลกล่าวว่า การฟื้นฟูเมืองคือโอกาสของการสร้างดุลยภาพใหม่ การปรับปรุงสภาพกายภาพของเขตเมืองชั้นในที่มีอยู่เดิม ทั้งในด้านที่อยู่อาศัยของประชากร การใช้ที่ดิน และความหนาแน่นการใช้ที่ดิน โดยอาศัยทั้งแนวทางการอนุรักษ์ การปรับปรุง และก่อสร้างขึ้นใหม่ ทั้งโครงการขนาดใหญ่และขนาดเล็ก และอาศัยวิธีดำเนินการโดยรัฐ เอกชน ร่วมทุน ทั้งนี้การพัฒนาเมืองชั้นใน จะช่วยลดการรุกล้ำพื้นที่เกษตรชานเมือง ลดความจำเป็นในการเดินทาง ลดการใช้รถยนต์ แก้ไขปัญหาจราจร และโอกาสในการปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจ สังคม ผ่านการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองชั้นใน จะเพิ่มความหลากหลายของการปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนด้านข้อมูลความรับรู้ของคนในเมือง ทำให้เมืองมีความหลากหลาย มีความคิดสร้างสรค์ นวัตกรรม และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทำให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูเมืองชั้นใน ซึ่งเป็นย่านเมืองเก่าค่อนข้างสลับซับซ้อน เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีคนอยู่มาก่อน ความท้าทาย ก็คือ หนึ่ง ในประเทศไทย ยังขาดเครื่องมือ วิสัยทัศน์ กรอบการฟื้นฟูเมืองในภาพรวม ยังไม่มีแผนแม่บท ในการเชื่อมโยงย่านต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน สอง ข้อจำกัดของกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีพัฒนาเมือง การฟื้นฟูเมืองเป็นโครงการระยะยาว จึงต้องการความต่อเนื่อง ดังนั้นจะสร้างความต่อเนื่องให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะถ้าไม่มีสิ่งนี้ การฟื้นฟูเมืองเกิดยาก
แนวทางวิจัย "กรุงเทพฯ 250" เน้นวางแผนแบบร่วมหารือกับทุกฝ่าย
ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่โครงการ "กรุงเทพฯ 250" คือถือโอกาสครบรอบ 250 ปี กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2575 อีก 17 ปีข้างหน้า เป็นหมุดหมายสำคัญของการวางแผนนี้ โดยจะมีแผนแม่บทฟื้นฟูเมืองเก่า 17 เขตกรุงเทพมหานคร มีแผนแม่บทนำร่องคือย่านกะดีจีน-คลองสาน ซึ่งน่าจะเป็นแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่มีความเป็นมาของชุมชนสืบมาแต่ยุคปลายกรุงศรีอยุธยาถึงปัจจุบัน
เทคนิควิธีการที่ใช้เพื่อตอบความท้าทายนี้ ได้แก่ หนึ่ง วางแผนแบบร่วมหารือ สร้างกระบวนการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลและองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถร่วมหาคำตอบร่วมกันในการพัฒนาเมือง มากกว่าสร้างความชอบธรรมให้กับความคิดของนักวางผังเมือง แต่เลือกใช้วิธีสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาขึ้นแทน เพื่อให้เกิดความเป็นเจ้าของร่วมกัน เพื่อผลักดันโครงการร่วมกัน คือแต่ละคน แต่ละฝ่าย อาจมีแผนอะไรในใจ แต่ยังขาดกระบวนการร่วมหารือ ทำให้ไม่มีการประสานทำให้เกิดขัดแย้งในตอนจบ
สอง การสร้างฉากทัศน์ คือภาพอนาคตที่เป็นจริงได้ (plausible) โดยวิธีการหนึ่งของการคาดการณ์อนาคต เป็นที่นิยมใการวางแผนยุทธศาสตร์ในระดับองค์กรและระดับประเทศ ใช้การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และปัจเจกบุคคลมาช่วยกันวาดภาพอนาคต และนำมาสู่การวางแผน หาปัจจัยการขับเคลื่อน และประเมินความไม่แน่นอน
ทั้งนี้การวางแผนทั่วไป จะวางแบบเส้นตรง (linear) คาดการณ์ และประเมินแนวโน้มที่จะไม่มีความเสี่ยง แต่ในการศึกษานี้จะระบุปัจจัยความไม่แน่นอน วิเคราะห์ และแปผลว่าใน พ.ศ. 2575 ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น ประชากรจะอยู่ จะใช้ชีวิต ทำงานสื่อสารอย่างไร และนำมาสู่การวางแผนเชิงกายภาพ วิสัยทัศน์ และการวางผังเมือง โดยภาพรวมคือ กรุงเทพมหานคร 17 เขต และระดับย่อยคือพื้นที่นำร่องกระดีจีน-คลองสาน โดยทำการศึกษาแบบ "กวาดสัญญาณแนวราบ" เน้นการมีส่วนร่วมจากหลากหลายกลุ่ม ความเชี่ยวชาญ ความสนใจ จากทั้งประชาชนในพื้นที่ และสาธารณชนที่สนใจ
10 เทรนด์ใช้ชีวิตเมือง จะเดินทางโดยระบบราง พื้นที่ทำงานยืดหยุ่น และอุตสาหกรรมใหม่
ทั้งนี้ 10 เทรนด์การใช้ชีวิตเมือง แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี สอง การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ และสาม การเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างสังคมประชากร โดย 10 เทรนด์ประกอบด้วย
การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีได้แก่ 1. ชีวิตเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Ubiquitous life) เกิดสังคมที่เน้นไอซีที เศรษฐกิจดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี และจะมีผลต่อการใช้ชีวิตทั้งการเรียน การติดต่อสื่อสาร การทำงาน นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจจากการทำเวิร์คชอป คืออีก 17 ปีข้างหน้า คนในสังคมอาจต้องการพื้นที่สาธารณะ ที่ปราศจากการเชื่อมต่อจากอินเทอร์เน็ต จากไวไฟ เพื่อเข้าไปพัก รวมไปทั้งพื้นที่ซึ่งมีความปลอดภัยด้านไซเบอร์
2. รางเชื่อมเมือง (Connected track) เกิดระบบรางเชื่อมเมืองอย่างไร้รอยต่อ และมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนง (Transit Oriented Development - TOD) การพัฒนาพื้นที่ร่วมกับ "Feeder" หรือระบบขนส่งมวลชนย่อย ที่ป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบราง การฟื้นฟูระบบขนส่งมงลชนทางน้ำไร้รูปแบบ เพื่อเชื่อมชุมชนริมน้ำที่เดิมเข้าพื้นที่ถึงยาก การพัฒนาบัตรโดยสารที่เชื่อมต่อการเดินทางทุกระบบ เมืองที่มีพื้นที่ใช้จักรยานมากขึ้น
นอกจากนี้แนวโน้มใหม่คือ การใช้ระบบขนส่งสินค้า (Delivery service) จะถูกใช้สำหรับการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น โดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องไปจับจ่ายใช้สอยเอง ลดบทบาทของห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เกต ขณะที่ตลาดสด และตลาดนัด ต่อไปจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
3. อิสระแห่งการทำงาน (Freedom of work) มีแนวโน้มที่จะเกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กับวิถีการทำงานและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ จะเกิดพื้นที่ทำงานแบบใหม่เช่น การใช้ออฟฟิศร่วมกันหลายบริษัท แบบ Office sharing หรือ Co-working space ที่ทำงานแบบใช้พื้นที่น้อย แต่ยืดหยุ่น คุณภาพสูง มีประสิทธิภาพ มีศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ในเมือง รวมทั้งศูนย์วิจัยด้านไบโอเทคโนโลยี
4. การบริการสาธารณะที่สะดวก (Convenient Public service) จะมี "One-stop service" ที่อาจบูรณาการไปอยู่ในร้านสะดวกซื้อ
5. การบูรณาการของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Integrated Cultural Tourism) จากการท่องเที่ยวแบบมวลชน มาเป็นท่องเที่ยวแนวใหม่เน้นประสบการณ์เชิงพื้นที่ การท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ที่ดินย่านเก่าจะกลายเป็นทองคำ จะมีการปล่อยเช่าระยะยาวมากกว่าการขายขาด
6. อุตสาหกรรมใหม่กลางเมือง (New urban industries) อุตสาหกรรมจะกลับเข้ามาผลิตในเมือง และมีความหลากหลาย เช่น เชิงท่องเที่ยว สุขภาพ เพื่อตอบสนองคนกลุ่มต่างๆ จะใช้เทคโนโลยีพลิกมุม เช่น 3D printing
7. แหล่งพลังงานหลากหลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Diversified environmental friendly energy sources) ใช้พลังงานที่เป็นมิตร ลดการใช้พลังงานฟอสซิลลง ทดแทนด้วยพลังงานทางเลือก มีหน่วยเก็บแบตเตอรี่ที่ดีขึ้น รวมทั้งมีสถานีพลังงานสำหรับชุมขน
8. การใช้ประโยชน์ที่ดินและพื้นที่รองรับโครงสร้างประชากร กทม. ใหม่ (Land & Space for New Bangkokian) การใช้ที่ดินอย่างหนาแน่น เข้มข้น ตอบสนองประชากรกลุ่มใหม่ เช่น ผู้สูงอายุ ศิลปิน คนต่างชาติ แรงานข้ามชาติ ผู้มีรายได้น้อย มีการใช้พื้นที่อย่างเข้มข้น เนื่องจากพื้นที่จำกัด เช่น อาจมีการออกแบบสวนแนวตั้ง
9. ความปกติใหม่ของชีวิตคนเมือง (Urbanit's New Normal) สังคมพหุวัฒนธรรม และวัฒนธรรมเพื่อรองรับสังคมแนวใหม่ ตอบสนองคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม การบริการสร้างสังคมสมมติ การมีบุตรหลอดแก้วจากครอบครัวที่พ่อแม่มีเพศเดียวกัน รวมถึง วัฒนธรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเข้มข้น ของคนพหุวัฒนธรรม
10. การพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive development) คือการพัฒนาเพื่อสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่ม เพื่อความเท่าเทียมของสังคม เน้นคนทุกกลุ่ม รองรับประชากรที่จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มสิทธิให้กับคนพลัดถิ่นในเมือง
เผยย่านใหม่ 8 ประเภทในกรุงเทพฯ จะมีย่านโบฮีเมียน - พลัดถิ่น - อุตสาหกรรมใหม่ และย่านอัจฉริยะ
โดยผลการศึกษาเบื้องต้นจะมีย่านใหม่ 8 ประเภท เกิดในกรุงเทพฯ โดยมี 75 ย่านในเขตกรุงเทพชั้นใน ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟู ทั้งนี้ย่านใหม่ 8 ประเภทนั้น มี 4 ประเภทเป็นย่านเดิม เช่น 1. ย่านประวัติศาสตร์ 2. ย่านศูนนย์กลางเศรษฐกิจ 3. ย่านศูนย์ราชการ 4. ย่านอยู่อาศัย
สำหรับย่านใหม่อีก 4 ประเภท ยังไม่เกิดในเวลานี้ แต่เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนๆ ในกรุงเทพ อย่างไรก็ตามในต่างประเทศเกิดย่านใหม่เช่นนี้แล้ว เช่น 5. ย่านโบฮีเมียน เป็นย่านเก่าที่ขับเคลื่อนด้วยคนทำงานศิลปะ การออกแบบ วรรณกรรม และการแสดง จากการคาดการณ์ระบุว่า คลองสาน บางลำพู ข้าวสาร ท่าช้าง มักกะสัน บางขุนพรหม จะเป็นย่านโบฮีเมียน เป็นต้น
6. ย่านต่างชาติพลัดถิ่น เป็นย่านเก่าที่ได้รับการขับเคลื่อนใหม่ ของกลุ่มประชากรต่างชาติทั้งที่มีทักษะและไม่มีทักษะ ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย จากการณ์คาดการณ์ระบุว่า เป็นย่านบ้านหม้อ พาหุรัด กะดีจีน รวมทั้งบริเวณศูนย์คมนาคมแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
7. ย่านอุตสาหกรรมใหม่ เป็นย่านเก่าที่ได้รับการขับเคลื่อนใหม่ด้วยระบบอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ โดยมีแนวโน้มเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวที่มีระบบการผลิตขนาดเล็กลงด้วยระบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตในอนาคต เช่น ย่านหลังสวน วิทยุ ปทุมวัน สารสิน เป็นต้น
8. ย่านอัจริยะ เป็นย่านที่ขับเคลื่อนโดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบการสื่อสารบนโครงข่ายอิเล็คทรอนิกส์ เช่น คลองถม สะพานปลา ยานนาวา ถนนตก สะพานโยธี ราชวิถี อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น
6 การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในกรุงเทพ การใช้ที่ดินและระบบกรรมสิทธิจะหลากหลาย
โดยในปี พ.ศ. 2575 จะมี 6 การเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพที่สำคัญ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เมือง ได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ดินจากระบบเศรษฐกิจ จะเกิดการลดลงของบทบาทพื้นที่การค้าปลีกทั้งในระดับชุมชนและระดับเมือง การเกิดพื้นที่ Multi-CBD ตามการรวมกลุ่มของธุรกิจ (Business Cluster) รูปแบบและวิธีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป การเจริญเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการรูปแบบใหม่ การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมใหม่กลางเมือง
2. การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น ความต้องการที่อยู่อาศัยขนาดเล็กในเมืองชั้นในที่เพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงระบบกายภาพของพื้นที่ชุมชนเก่า การเปลี่ยนแปลงระบบการถ่ายโอนสิทธิการใช้ที่ดินและอาคาร
3. การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของย่านศูนย์ราชการ จะมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทและที่ตั้งของสถานที่ราชการ
4. การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมพหุวัฒนธรรม เช่น การเกิดพื้นที่ย่านใหม่ตามกลุ่มประเภทประชากร การพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในสังคม
5. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองด้านการขนส่ง เช่น การพัฒนาระบบขนส่งปลายทางที่มีประสิทธิภาพและหลากหลาย การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางในระดับละแวกบ้าน การเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพและไร้รอยต่อ และการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ
และ 6. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี การแสวงหาพลังงานทางเลือกและทิศทางการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม
โดย นิรมล กล่าวด้วยว่า โครงการยังต้องการความคิดเห็นจากสาธารณะ และจะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในพื้นที่นำร่อง เพื่อร่วมกันออกแบบและประชาพิจารณ์ และในพื้นที่เมืองชั้นในจะมีการประชุมภาคียุทธศาสตร์ เพือสรุปภาพอนาคตและทำวิสัยทัศน์ร่วมกันด้วย ทั้งนี้สามารถติดตามข่าวสารของโครงการ "กรุงเทพฯ 250" ได้ที่www.bangkok250.org และ https://www.facebook.com/Bangkok250
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น