นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการใช้ยาสมุนไพรในไทยมีมากขึ้น คิดเป็นมูลค่าการใช้ราวปีละ 14,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลก็มีนโยบายผลักดันยาสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสาธารณสุขมากขึ้น รวมถึงเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออก อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังขาดความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของยาสมุนไพร เนื่องจากใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติจึงมีโอกาสปนเปื้อนโลหะหนัก เช่น สารหนู ตะกั่ว และแคดเมียม หรือสารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช รวมไปถึงการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงอาจได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ ควบคุมความชื้นไม่ดี ยาอาจขึ้นราและเกิดสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
นพ.อภิชัย กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2557 สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทย์ ได้สุ่มตรวจยาแคปซูลขมิ้นชัน 12 ตัวอย่าง พบว่า ไม่เข้ามาตรฐาน 3 ตัวอย่าง คือ ปริมาณตัวยาสำคัญอันเนื่องมาจากคุณภาพวัตถุดิบ ขณะที่การตรวจการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ของยาแผนโบราณจำนวน 269 ตัวอย่าง พบว่าไม่เข้ามาตรฐาน 47 ตัวอย่าง โดยพบการปนเปื้อนเชื้อคลอสตริเดียม ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อโรงพยาบาลในการผลิตหรือจัดซื้อยาที่มีคุณภาพ รวมถึงผู้ผลิตในการนำข้อมูลไปพัฒนาคุณภาพการผลิตยาให้ได้มาตรฐาน
“นอกจากสุ่มตรวจคุณภาพยาแล้ว กรมฯ ยังจัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย เพื่อเป็นเกณฑ์ควบคุมคุณภาพของยาสมุนไพร และเป็นมาตรฐานอ้างอิงในการส่งออก นำเข้าวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงอ้างอิงการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณและยาพัฒนาจากสมุนไพร โดยกำหนดมาตรฐานของวัตถุดิบสมุนไพรแล้ว จำนวน 46 ชนิด โดยจะพิจารณาในเรื่องของการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ การวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ การควบคุมคุณภาพสมุนไพร เช่น ความชื้น สิ่งแปลกปลอม เป็นต้น ส่วนยาเตรียมจากสมุนไพร มีจำนวน 3 ตำรับ คือ ยาแคปซูลขมิ้นชัน ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร และยาชงชุมเห็ดเทศ ซึ่งจะเน้นเรื่องการควบคุมคุณภาพตำรับยา โดยวิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ ข้อกำหนดอื่นที่ต้องทดสอบในยาแคปซูล เช่น การแตกตัวและการละลายของยา เป็นต้น” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000119484
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น