คนที่เขารวยมากๆ เขาไม่ได้ทำธุรกิจอย่างคนทั่วไปหรอก..เข้าใจผิดแล้ว ลองอ่านบทความนี้ แล้วจะรู้ว่าพวกเขา "รวยแบบก้าวกระโดด" ได้โดยวิธีไหนบ้าง
ไม่มีใครเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนแล้วจะรวย ต่อให้เป็นลูกจ้างมืออาชีพ (อย่างเช่นผู้บริหารมืออาชีพ) ก็ต้องเสี่ยงและสู้กับ “เป้า” หรือ “ยอดขาย” ที่ถูกเพิ่มมาให้ทุกปี จนกว่าคุณจะทำไม่ไหวแล้วถูกเปลี่ยนตัวนี่เป็นอีกบทความหนึ่งที่ผมเอาประสบการณ์จริงมาแชร์ และวิธีการเหล่านี้ทำให้ผมมีทุกวันนี้ ข้างล่างนี้ผมผ่านมาเกือบหมดแล้ว และท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่าอันไหนท่านมีศักยภาพที่จะทำตาม บางครั้งคนเราต้องการแค่ไอเดีย นึกเองไม่เคยออก พอมีคนบอก ก็ร้องอ๋อ..แล้วทำตามอย่างก็รวยได้
ส่วนเรื่องการออกมาทำธุรกิจส่วนตัวนั้น ก็เป็นหนทางหนึ่ง แต่นั่นก็เป็นความรวยแบบ “ธรรมดา”
ที่ท่านกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ ผมกำลังหมายถึงวิธี “รวยเร็ว” แบบก้าวกระโดด ด้วยวิธีสุจริต ไม่ใช้โชค แต่น้อยคนจะทำได้ ไม่ว่าวันหนึ่งท่านจะเป็นคนกลุ่มน้อยนั้นหรือเปล่า แต่รู้ไว้ก็ดีกว่าไม่รู้เนาะ
แต่ผมจะบอกไว้ก่อนนะครับว่ามันไม่ง่าย อย่าลืมว่า..ผมกำลังจะบอกวิธี “รวยเร็ว” แต่ไม่ได้บอกวิธี “รวยง่าย” มันคนละประเด็นกัน ต้องแยกแยะนะครับ มาว่ากันเลย
1. สร้างบริษัทขึ้นมาแล้วขาย
แนวคิด: Begin with the end in mind (รู้ตั้งแต่เริ่มแล้วว่าจะจบยังไง) คือสิ่งสำคัญของเรื่องนี้ เรามีตัวอย่างให้เห็นมากมายที่นักธุรกิจก่อตั้งบริษัทขึ้นมา แล้วสร้าง Asset อะไรบางอย่าง (ไม่ว่าจะเป็นข้อได้เปรียบทางการค้า แนวคิด/ไอเดียแจ่มๆ ฐานลูกค้า สินค้าที่ขายดี ฯลฯ) ที่มีอนาคตดีมากๆ เสร็จแล้วก็หาหุ้นส่วนใหม่, นักลงทุน, Venture Capital หรือคู่ค้าที่สามารถเสริมกันได้ (Synergy) มาซื้อกิจการไป หรือมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาที่ไม่ธรรมดา แทนที่เราจะต้องคอยรับเงินปันผลจากธุรกิจไปเรื่อยๆ เราก็ขายหุ้นเดิมหรือหุ้นเพิ่มทุนในราคาแพงพิเศษให้กับผู้ที่สนใจ (เรียกว่า ‘ราคาพรีเมี่ยม’ จะเพราะกว่าเนาะ) แล้วทำไมเขายอมซื้อที่ราคาแพงพิเศษเหรอ ไม่หรอก..มันไม่ได้แพงพิเศษหรอก มันมีอนาคตและคุ้มค่ากับการลงทุนต่างหากล่ะตัวอย่างสมการ: เปิดบริษัทด้วยเงินลงทุน 1 ล้านบาท (ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาทจำนวน 1 ล้านหุ้น) กิจการดีมาก มีกำไรปีละ 300,000 บาททุกปี และมีแนวโน้มจะกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เสร็จแล้วหาผู้ลงทุน เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนอีก 1 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3 บาท เท่ากับคนซื้อ จ่ายเงินมา 3 ล้านบาท ได้หุ้นเพิ่มทุนไป 1 ล้านหุ้น (รวมแล้วบริษัทมี 2 ล้านหุ้น ผู้ซื้อคนใหม่ถือหุ้น 50% สัดส่วนของเราลดลงเหลือ 50%)
แต่เงิน 3 ล้านที่เขาจ่ายมา เอาเข้าบริษัท 1 ล้านบาท ที่เหลือ 2 ล้านบาทถือว่าเป็นพรีเมี่ยมให้ผู้ถือหุ้นเดิม (ท่านได้เงิน 2,000,000 แล้วนะ ไม่ต้องนั่งทำงานแบบเดิมแล้วรอรับปันผลไป 7 ปี แถมเงินลงทุน ณ วันแรกก็ถือว่าได้ทุนคืนแล้ว และยังได้ถือหุ้นในบริษัทต่อไปอีก 50%)
แล้วผู้ซื้อได้อะไร ก็พอปลายปีบริษัทมีกำไร 300,000 บาท เขาได้ส่วนแบ่งเงินปันผล 50% = 150,000 บาทจากเงินลงทุน 3,000,000 บาท เทียบเท่ากับ 5% ดีออก..ผลตอบแทนมากกว่าฝากแบงค์ตั้งเยอะแน่ะ
สำหรับท่านๆ ที่รวยล้นฟ้า ก็ใช้สูตรคล้ายๆ กัน เพียงแค่เติมเลขศูนย์ไปข้างหลังหลายตัวเท่านั้นเอง ตัวอย่างที่เห็นนี่คือราคา 3 เท่า สำหรับบริษัทที่อนาคตดีมากๆ ผมเคยเห็น 30 เท่ามาแล้วครับ
ตัวอย่างจริง: มีตัวอย่างบริษัทในต่างประเทศมากมาย พวก Start-up Company ที่มีไอเดียเจ๋ง พอสร้างสินค้า prototype ขึ้นมาได้แล้ว ดูดีมีอนาคต ก็ทำ projection กำไร แล้วเสนอขาย Venture Capital ให้มาเพิ่มทุนในราคาพรีเมี่ยม เอาเงินเข้ากระเป๋าส่วนหนึ่ง และเอาเงินไว้ในบริษัทอีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับเป็นเงินลงทุนเพื่อขยายกิจการ
เดี๋ยวจะหาว่ามีแต่ตัวอย่างในต่างประเทศ ถ้าเป็นในประเทศก็ยกตัวอย่าง Ookbee, วงใน.com, tarad.com ก็แนวนี้ทั้งนั้นครับ เพียงแต่ว่า ณ วันแรกได้คิดเรื่อง ‘ขาย’ ไว้ก่อนหรือเปล่าก็ไม่รู้ บางทีก็นึกไม่ถึงแล้วมาขายได้ทีหลังก็มีครับ ส่วนตัวอย่างของผมเองก็เคยลงทุนในบริษัทแห่งหนึ่ง แล้วขายให้ผู้ลงทุนในราคา 5 เท่าของราคาพาร์มาแล้ว (ไม่รวมว่าก่อนหน้านั้นก็รับเงินปันผลไปจนคืนทุนเรียบร้อยไปก่อนแล้ว)
2. เอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
แนวคิด: วิธีนี้คล้ายวิธีแรก เพียงแต่ไม่ใช่เอาบุคคลหรือบริษัทมาซื้อหุ้นเรา แต่เป็นการเอาบางส่วนของหุ้นบริษัทเราไปซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ ราคาที่ปรากฎอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็สะท้อนถึงราคาหุ้นเดิมที่เราถืออยู่ในมือด้วย เราก็สามารถขายหุ้นของเราในตลาดฯ ได้เช่นกันในราคาตลาดตัวอย่างสมการ: บริษัทมีทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท (เอาสมการง่ายๆ ว่าราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท จำนวน 40 ล้านหุ้น) บริษัทมีกำไรปีละ 10 ล้านบาท จึงปันผล = 0.25 บาท/หุ้น
บริษัทแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และจดทะเบียนเพิ่มทุนอีก 10 ล้านหุ้น เข้าซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ เรียก FA (Financial Advisor) มาทำ valuation (ประเมินราคา) …รายละเอียดขั้นตอนมีมากกว่านี้นะครับ แต่ไม่ใช่จุดประสงค์ของบทความนี้… เสนอขายประชาชนในราคา IPO (Initial Public Offering) = 2.00 บาท/หุ้น เมื่อเข้าตลาดไปแล้ว สมมุติว่าราคาในตลาดฯ คือ 2.00 บาท หุ้นเดิมที่เราถืออยู่ก็สามารถขายได้ในราคา 2.00 บาทเช่นกัน (แน่นอน ตลาดฯ มีมาตรการกำกับไม่ให้ผู้ถือหุ้นเดิมพากันขายหุ้นเอาเงินแล้วทิ้งบริษัทไปโดยฉับพลัน)
ทำไมประชาชนหรือนักลงทุนในตลาดหุ้นยอมซื้อหุ้นเราในราคา 2.00 บาท เพราะเมื่อเทียบกับผลตอบแทนแล้ว ปลายปีบริษัทมีกำไร 10 ล้านบาท ปันผลให้ผู้ถือหุ้น (หลังเพิ่มทุนมี 50 ล้านหุ้น) = 0.20 บาท/หุ้น เทียบเท่ากับผลตอบแทน 10% หรูมากๆ โดยทั่วไป 5% เค้าก็เอากันแล้ว แปลว่า..ราคาหุ้นก็อาจพุ่งไปถึงหุ้นละ 4.00 บาทง่ายๆ เลย ก็เท่ากับว่าหุ้นในมือเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4 เท่าทันที มูลค่าหุ้นในมือเจ้าของเดิม 40 ล้านหุ้น (เงินลงทุน 40 ล้านบาท) กลายเป็น 160 ล้านบาทในบันดล
ตัวอย่างจริง: ไม่ต้องยกตัวอย่างอะไรมาก ก็บริษัทมหาชนทั้งหลายในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดแหละครับ ตอนที่บริษัทของผมเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ราคาซื้อขายในวันแรกเปิดที่ 8 เท่าของราคาพาร์ และทะยานไปถึง 13 เท่าในไม่กี่วันต่อมา และผมขอทักท่านผู้อ่านแบบเพื่อนคำหนึ่งนะครับ… เฮ้ย..นี่คือวิธีที่รวยเร็วที่สุดแล้ว
3. เชี่ยวชาญสักอย่าง แล้วขายความเชี่ยวชาญนั้น
ฟังดูงงๆ ลองนึกตามตัวอย่างนี้นะครับ- โปรกอล์ฟ สอนคนเล่นกอล์ฟ
- คนเสียงดี ฝึกฝน แล้วไปเป็นนักร้อง
- คนหน้าตาดี บุคลิกดี ฝึกฝนแล้วไปเป็นนักแสดง
- หม่ำ จ๊กม๊ก เป็นคนอารมณ์ขัน ก็เอาดีทางด้านการแสดงแนวตลกขบขัน
คนทำธุรกิจส่วนใหญ่มักคุ้นชินกับสินค้าที่มีตัวตน ซื้อมา-ขายไป หรือไม่ก็ลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าเอง บางที R&D สินค้าเองด้วยซ้ำ แบบนี้ทุกชิ้นที่ขายออกไปต้องมีต้นทุนของสินค้าติดไปเป็นเงาตามตัวเสมอ ขายมาก..ก็ต้องผลิตมาก..ต้นทุนก็เพิ่มขึ้นตามสัดส่วน (ต้นทุนผันแปร) ไม่นับ ‘ต้นทุนคงที่’ เช่นเงินลงทุนต่างๆ ในการ R&D สินค้า, สร้างโรงงาน, ที่ดิน แล้วยังมี Operating Expense (ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน) อีกด้วยอย่างเช่น เงินเดือนพนักงาน, ค่าน้ำ/ค่าไฟ ฯลฯ
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในต่างประเทศฮิตมากในเรื่องของ Info Product หรือสินค้าที่เป็นประเภท Content ข้อมูล อยู่ในรูปแบบ Audio Book, e-Book, Training Course/Class ใครมีความรู้เป็นทุนเดิม หรือศึกษาหาความรู้บางเรื่องให้ลึกสักหน่อย แล้วทำตัวเป็น “ผู้รู้” หรือ Guru ผลิตสินค้าประเภทนี้มาขาย ไล่มาตั้งแต่ Basic อย่างเช่นการเขียนหนังสือ, การเป็นที่ปรึกษา, การเขียน e-Book ไปจนถึงการจัดสัมมนา หรือ Advance หน่อยอย่างเช่น คอร์สออนไลน์, Subscription Program ฯลฯ
ผมเองเคยผลิตคอร์สออนไลน์ สารพันธุรกิจรายได้ต่อเนื่อง..ตลอดชีพ ขนาดขายเล่นๆ ยังทำได้ “1 คอร์ส 1 ปี 1 ล้าน” คิดง่ายๆ ว่าขายราคา 2,000 บาท มีคนซื้อ 500 คน ก็หาเงินได้ 1 ล้านแล้ว โดยที่ลงมือลงแรงผลิตสื่อวีดีโอครั้งเดียว ทำเว็บสมาชิก และ sales page หลังจากนั้นก็ไม่ต้องลงแรง/เวลาอีกเลย ปล่อยให้การตลาดทำหน้าที่ของมันไป ทุก copy ที่ขายได้ผมไม่มีต้นทุนอีกแล้ว
ตัวอย่างของผมเองยังถือว่า “กระจอก” อยู่มาก เมื่อเทียบกับคนดังๆ อย่างคุณบอย (วิสูตร แสงอรุณเลิศ) หรือท่านอื่นๆ ผมยกตัวอย่างอีกคนคือ คุณโน้ส-อุดม ก็อยู่ในหมวดนี้เหมือนกัน จัด Talk Show เดี่ยวไมโครโฟน คาดเดาคร่าวๆ ครั้งละ 20 รอบ รอบละ 4,000 คน ขายบัตรราคาเฉลี่ย 2,000 บาท ลองคูณดูได้เงิน 160 ล้านบาท มีต้นทุนค่าเช่าสถานที่และทีมงาน Production ใช่ไหม ไม่ต้องห่วงเขาครับ ยังมี Sponsor อีกกลุ่มหนึ่งจ่ายเงินให้เขา คุ้มค่าต้นทุนพอดี ไม่ต้องเจียด 160 ล้านออกมาสักบาทด้วยซ้ำ อย่างเราๆ ท่านๆ ต้องลงทุนหรือทำธุรกิจอีกกี่ปีถึงจะมีเงิน 160 ล้าน? แล้วนั่น..เดี่ยวเดียวนะครับ..วันนี้กำลังจะมี เดี่ยว 11 แล้ว
4. ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (หรือสินค้าใดๆ ที่มูลค่าเพิ่มตลอดเวลา)
ก็แล้วแต่ช่วงเวลาเหมือนกัน ท่านผู้อ่านจะเห็นว่ามีบางยุคที่คนซื้ออสังหาฯ แล้วปล่อยขายทีหลัง รวยเอาๆ มันอยู่ที่ว่าท่านซื้อได้ถูกจังหวะเวลาหรือเปล่า ถ้าซื้อในช่วงเศรษฐกิจยังไม่เฟื่องฟูมาก พอเศรษฐกิจเติบโต ราคาที่ดินและอสังหาฯ อื่นๆ ก็ขยับขึ้นพรวดๆ ในอดีตก็มีหลายคนกลายเป็นคนรวยภายในไม่กี่ปีก็เพราะ “ซื้อของได้ราคาถูก” ในเวลาที่ถูกต้องนั้นเองอ้อ..ย้ำว่าต้องดูจังหวะเวลาของเศรษฐกิจให้ถูกด้วยนะครับ ไม่งั้นอสังหาริมทรัพย์ จะกลายเป็น อสังหาริบทรัพย์
ถ้าจะเอาสินค้าที่ไม่ต้องเก็งกำไรกันขนาดนั้น ก็เล่นกับ “ธาตุ” ก็ได้ครับ อย่างเช่น ทอง เพชร นั้นเลอค่า และมีแต่จะขยับขึ้น (เมื่อมองภาพรวมยาวๆ) สมัยผมเรียนจบใหม่ๆ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ทองบาทละ 4,000 เดี๋ยวนี้ปาเข้าไป 4-5 เท่าแล้ว ถ้าเทียบกับการลงทุนอื่นๆ ต้องได้ผลตอบแทน 7.5-8.0% ต่อปีเลยทีเดียว
เรื่องของการ “ซื้อของได้ราคาถูก” เนี่ย ผมขอส่งสัญญาณไว้ตอนนี้เลย (24 ส.ค. 58) ว่า เรากำลังเข้าใกล้ “ช่วงเวลาทอง” เช่นนั้นในอีกไม่นาน ณ เวลานี้คนที่ได้เปรียบที่สุดคือคนที่มีเงินสดอยู่ในมือ เมื่อใดที่เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุด เราจะได้ “ซื้อของถูก” กันอีกรอบ แต่อย่าถามผมออกอากาศเลยว่าเมื่อไหร่ บางอย่างพูดหรือเขียนในที่สาธารณะไม่ได้ แต่ถ้าใครเจอหน้าผม ผมจะบอกให้ฟังว่าคิดยังไง
5. เล่นหุ้น
เป็นอีกวิธีที่ผมทำเงินมาในอดีต ผมไม่ได้เป็นนักเล่นหุ้น แต่ลงทุนในระยะยาวมากกว่า หรือหุ้นบางตัวก็เป็นเพราะผมเห็นโอกาส โดยวิเคราะห์จากพื้นฐานว่าราคาที่แท้จริงมันควรอยู่ที่ใด และ ณ เวลานั้นผู้คนยังมองไม่เห็นจุดนี้ ราคาจึงต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ผมจะรีบตัดสินใจทันที เข้า/ไม่เข้า เป็นเรื่องการฉกฉวยโอกาสที่คนยังมองไม่เห็นค่าที่แท้จริง อย่างหุ้นบริษัทหนึ่ง เมื่อปลายปี 2556 ผมซื้อตั้งแต่ราคา 7 บาท ไปขายเอากลางๆ ปี 2557 ที่ราคาเกือบ 20 บาทเรื่องการทำเงินจากการเล่นหุ้นนี่ มีคนอื่นเจ๋งกว่าผมเยอะ ผมไม่ได้มีรายได้จากเรื่องนี้มากหรอกครับ แค่เคยมีประสบการณ์นิดหน่อยเท่านั้น และไม่ใช่ว่าผมไม่เคยขาดทุนมาก่อน มันก็มีทั้งได้และเสีย (ประเมินผิด) ผมไม่แนะนำให้ซื้อ-ขายหุ้นแบบเก็งกำไร วิ่งไล่ซื้อ-ขายตามคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่โบรกฯ หรือ marketing เชียร์
แม้กระทั่งเล่นแบบ Technical (แบบที่เขาดูกราฟกัน) ก็ไม่แนะนำ เพราะถือว่าไม่ได้อิงกับ “พื้นฐานความเป็นจริง” และ “ความสามารถในการประกอบการ” สุดท้ายแล้วทุกอย่างจะกลับมาอยู่ใน ‘จุดสมดุล’ ของมันเสมอ ก็คือราคาจะสะท้อนจากความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจนั้นๆ ผมแนะนำว่าควรลงทุนในหุ้นแบบมีคุณค่า (เป็น Value Investor) ซึ่งใช้พื้นฐานของบริษัทเป็นหลัก ถ้าอะไรมันดี ระยะยาวมันก็จะดีเอง
ผมเคยไปฟังสัมมนาของคุณกิ๊ด (กิติชัย เตชะงามเลิศ) ที่ทำเงินจาก 1 ล้านกลายเป็น 500 ล้าน สรุปแล้วเขา “อ่านขาด” ว่าธุรกิจประกันจะเติบโต แล้วเขาก็มีโอกาสลงทุนในหุ้น SCB Life ตั้งแต่ราคา 70 กว่าบาท ปัจจุบันราคาประมาณ 1,200 บาท/หุ้น คงนึกภาพออกนะครับว่า ชีวิตนี้ต้องการการ “อ่านขาด” เพียงแค่ครั้งเดียวก็เกินพอ (แต่ที่จริงคุณกิ๊ดมีความรู้ในเรื่องการลงทุนเป็นอย่างดี และลงทุนในเรื่องอื่นมากกว่านั้น อย่างเช่นอสังหาฯ ตามข้อ 4 อีกด้วย)
พอจะเห็นภาพไหมครับว่ามีวิธีการไหนบ้างที่ทำให้ “รวยเร็ว” และย้ำอีกครั้งนะครับ มันไม่ใช่ “รวยง่าย” แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินทน หากใครรู้แนวทางเหล่านี้ และศึกษา วางแผน ลงมือปฏิบัติอย่างเป็นแบบแผน ผมก็คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม
เมื่อรู้แล้วก็เริ่มสำรวจตัวเองนะครับ ว่าพอจะทำตามแนวทางไหนได้บ้าง หวังว่าพอจะเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านได้ไม่มากก็น้อย อ้อ..แล้วก็อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนๆ ท่านทราบด้วย อย่างน้อยก็เป็นวิทยาทานให้กับคนรอบตัวท่านนะครับ
ธนกร – ผู้ก่อตั้งตลาดปัญญา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น