วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

10 ข้อคิดจาก inside out by ทำเรื่องเล่นให้เป็นเรื่องใหญ่



หนังที่ดีมักจะช่วยให้เราได้มองเห็นแง่มุมใหม่ๆ ในชีวิต และ Inside Out ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่เปิดให้เราได้เห็นมุมมอง ที่เราไม่ค่อยได้้้เห็นจากหนังเรื่องไหน ซึ่งก็คือมุมมองจากภายในหัวของเราเอง 

ตอนที่ได้ยินพล็อตครั้งแรก ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่า Inside Out จะพูดถึงเรื่องนามธรรมอย่างอารมณ์ในหัวของคนเราออกมายังไง และเดาว่าหนังอาจจะพูดถึงมันแบบ ลดทอนรายละเอียด (simplified) มากๆ เพื่อให้เด็กดูได้ง่ายขึ้น 

อได้ดูจริง ผมกลับพบว่า Inside Out เล่าเรื่องความคิดของมนุษย์เอาไว้ซับซ้อนกว่าที่ผมคิดไว้เยอะ โดยบางช่วงบางตอนของมันก็พาคนดูไปไกล จนทำให้ผมนึกไปถึงหนังอย่างEternal Sunshine of the Spotless Mind เลยทีเดียว

เนื่องจากหนังเรื่องนี้มีแง่มุมดีๆ ให้พูดถึงเยอะ ผมเลยอยากจะทำสกู๊ปพิเศษให้กับมันสักอัน โดยทั้งหมดนี้เป็นการตีความแบบง่ายๆ ของตัวผมเอง ซึ่งถ้าเพื่อนๆ มีมุมมองอื่นๆ เพิ่มเติมยังไง ก็แชร์กันมาได้เลยครับ 

ขึ้นชื่อว่าชีวิต มันก็ย่อมเต็มไปด้วยความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง

การรับมือกับความเปลี่ยนแปลง คือประเด็นที่เคยถูกพูดถึงมาแล้วใน Up หนังเรื่องก่อนหน้านี้ของ พีท ดอกเตอร์ ซึ่งเล่าเรื่องของคุณปู่ที่สูญเสียภรรยาสุดที่รักไป ก่อนที่จะถูกนำมาต่อยอดไปอีกขั้นใน Inside Out นี้

การย้ายบ้านของไรลีย์อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่เหมือนกับความสูญเสียของคุณปู่ แต่มันก็เป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการ สำหรับเด็กผู้หญิงอายุ 11 ขวบคนหนึ่ง

แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่มันก็เป็นโอกาสที่ช่วยให้ไรลีย์ได้เติบโต และทำความเข้าใจในอารมณ์ด้านต่างๆ ของตัวเองมากขึ้น

หลายครั้ง ความสุขของคนเราก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่เกิดจากความสามารถของเราในการ ‘ปรับใจ’ ให้เข้ากับสถานการณ์ภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป ได้อย่างกลมกลืน

เหตุการณ์ในครั้งนี้คือสิ่งที่ช่วยให้ไรลีย์ได้พัฒนา ความฉลาดทางอารมณ์ (E.Q.) และเตรียมความพร้อมให้กับเธอในการรับมือกับ ความเปลี่ยนแปลงอีกหลายๆ ครั้ง ที่รอเธออยู่ในวันข้างหน้า


Joy (ความร่าเริง) คือ อารมณ์ที่โดดเด่นที่สุดของไรลีย์ในวัยเด็ก แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้น ในวันที่ครอบครัวของเธอต้องย้ายบ้าน ซึ่งทำให้อารมณ์อื่นๆ เริ่มมีบทบาทในชีวิตของไรลีย์มากขึ้น

Joy เป็นคนมองโลกในแง่ดี ที่พยายามหาข้อดีจากเหตุการณ์ร้ายๆ อยู่เสมอ แต่ข้อเสียของเธอก็คือการเป็นคนที่ยืดติดมากเกินไป และเธอก็ทำใจไม่ได้ที่จะยอมให้ ความทรงจำหลัก (Core Memory) ของไรลีย์นั้นปะปนไปด้วยอารมณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ความร่าเริง

แต่ในที่สุดแล้ว Joy ก็ได้เรียนรู้ว่า ชีวิตที่มีแต่ความรื่นรมย์อยู่ตลอดเวลานั้นไม่เคยมีอยู่จริง และไม่ว่าจะพยายามสักแค่ไหนไรลีย์ก็ไม่อาจมีความสุขได้ ถ้าเธอไม่ยอมปล่อยให้ Sadness และอารมณ์อื่นๆ ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่

‘ความสุขในภาพรวม’ ของคนเรา เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันอย่างสมดุล ของอารมณ์หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความร่าเริง ความเศร้า ความโกรธ ความกลัว และ ความเกลียด ซึ่งต่างก็มีหน้าที่สำคัญของตัวเอง

ผมเดาว่า นั่นคือเหตุผลที่ตัวละครตัวนี้มีชื่อว่า Joy (ความร่าเริง) แทนที่จะชื่อว่า Happiness (ความสุข) เพราะแม้ว่าเธอจะสำคัญแค่ไหน แต่เธอก็ยังไม่ใช่ ‘ภาพรวม’ ของความสุขทั้งหมดนั่นเอง


ในช่วงแรกของหนัง ไม่มีใครในทีมรู้เลยว่า หน้าที่จริงๆ ของ Sadness (ความเศร้า) คืออะไร

แต่แล้วในตอนที่ Joy และ Sadness หลงทางอยู่ในความทรงจำระยะยาว Sadness ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการนำทางของเธอ ซึ่งเกิดจากการใช้เวลามากมายไปกับการอ่าน คู่มือสมอง ในตอนที่เธออยู่ที่ศูนย์สั่งการ

คนเศร้ามักจะเป็นคนที่ชอบคิดใคร่ครวญอะไรต่างๆ อยู่ในใจเสมอ (คล้ายๆ กับการอ่านคู่มือสมอง) และนั่นก็ทำให้ Sadness มีความเข้าอกเข้าใจในพื้นที่ต่างๆ ภายในจิตใจของไรลีย์ดีกว่าใคร

นอกจากนี้ Sadness ยังได้แสดงบทบาทของเธออีกครั้งในตอนที่เธอช่วยปลอบ ปิ๊งป่อง เพื่อนในจินตนาการของไรลีย์ ให้คลายจากความโศกเศร้า ด้วยการรับฟังความทุกข์ของเขาอย่างเข้าใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลมากกว่าวิธีของ Joy ที่พยายามจะทำให้ปิ๊งป่องร่าเริงและลืมความทุกข์ที่มี

มีแต่คนที่เคยเศร้ามาบ่อยๆ เท่านั้นที่จะเข้าใจหัวอกคนเศร้าด้วยกัน ความสามารถพิเศษของ Sadness ก็คือ ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ ในความทุกข์ของคนอื่น และนั่นก็คือคุณสมบัติซึ่งคนที่ร่าเริงอยู่ตลอดเวลาอย่าง Joy นั้นดูจะขาดไป


ความทรงจำหลายๆ อย่างของคนเรามักจะอยู่ในรูปของความสุขที่ปนมากับความเศร้า หรือที่เรียกกันว่า mixed feeling ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เข้าใจได้ยาก

หลังจากที่ย้ายบ้านมาใหม่ๆ Sadness มักจะเดินมาสัมผัสลูกแก้วความทรงจำของไรลีย์ และเปลี่ยนความทรงจำแสนสุขให้กลายไปเป็นความทรงจำเศร้าๆ อยู่เสมอ โดยที่ตัวเธอเองก็ไม่ได้ตั้งใจ

ความจริงก็คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่ไรลีย์ย้อนกลับไปคิดถึงอดีตในมินนิโซต้า แม้ว่ามันจะทำให้เธอมีความสุข แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันก็ทำให้เธออดไม่ได้ที่จะรู้สึกเศร้าที่ต้องจากเพื่อนๆ และเมืองที่เธอรักไป

นอกจากนี้ ในช่วงหลังของเรื่อง Joy ก็ยังได้ค้นพบอีกว่า ในทางกลับกัน ความทรงจำที่ดีบางอย่างของไรลีย์นั้นก็กลับเริ่มต้นมาจากความเศร้าที่กลายมาเป็นความสุขเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น ในวันหนึ่ง ที่ไรลีย์ยิงลูกสำคัญในเกมฮอกกี้พลาดไป ซึ่งแม้ว่าเธอจะผิดหวัง แต่มันก็ทำให้พ่อแม่และเพื่อนๆ ของเธอเข้ามาปลอบใจ จนทำให้เธอรู้สึกดี และเปลี่ยนช่วงเวลาที่น่าผิดหวังนั้น ให้กลายมาเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในที่สุด

เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ Joy ได้ค้นพบว่า Sadness หรือ ความเศร้า นั่นเอง ที่เป็น กุญแจสำคัญ ที่จะช่วยให้ไรลีย์ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ที่ยากลำบากในครั้งนี้ไปได้


แม้ว่า Joy จะมีความตั้งใจดี แต่เธอก็เป็นผู้นำประเภท control freak ที่พยายามจะควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปตามความคิดของตัวเองมากเกินไป

ฉากหนึ่งที่สำคัญมากในหนังก็คือ ตอนที่ Joy เอาชอล์คมาวงที่พื้นรอบๆ ตัว Sadness เพื่อไม่ให้เธอออกมาวุ่นวายและทำให้ความทรงจำของไรลีย์เศร้าหมองอีก ซึ่งนั่นก็คือการละเลยความเศร้าที่เกิดขึ้น และพยายามหลอกตัวเองว่ามีความสุขนั่นเอง

ขั้นตอนแรกของการรับมือกับความเศร้า ก็คือยอมรับว่าตัวเองเศร้า ไม่ใช่เก็บกดมันเอาไว้

คนที่เป็นโรคซึมเศร้า แม้จะดูมีความสุขจากภายนอก แต่เราก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่า เขาเก็บซ่อนความเศร้าเอาไว้มากแค่ไหน และอันตรายของการเก็บกดความเศร้าเอาไว้นานๆ ก็คือ มันย่อมระเบิดขึ้นในสักวัน เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Sadness ในตอนท้ายของเรื่อง


คนเราไม่จำเป็นต้องอดทนต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อใช้อย่างเหมาะสม Anger (ความโกรธ) ก็คือ ‘พลังงานชั้นดี’ ที่ช่วยปลุกเราให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม และบรรลุเป้าหมายต่างๆ ในชีวิตได้

อย่างไรก็ดี การปล่อยให้ความโกรธเข้ามาควบคุมจิตใจเรามากเกินไป ก็มักจะนำมาซึ่งผลร้ายที่ไม่คาดคิด อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับไรลีย์ในตอนท้ายเรื่อง เมื่อ Anger ได้เข้ามาควบคุมแผงคอนโซลแบบเต็มตัว และตัดสินใจใส่ไอเดียการหนีออกจากบ้านเข้าไปในหัวของไรลีย์

การตัดสินใจที่เกิดขึ้นจาก Anger ได้นำมาซึ่งผลเสียมากมาย ซึ่งเริ่มต้นจากการขโมยบัตรเครดิตของแม่เพื่อนำมาซื้อตั๋วรถบัสจนทำให้ เกาะความซื่อสัตย์ ของไรลีย์นั้นต้องล่มสลายลงไป และในที่สุดเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ลุกลามไปไกล แผงคอนโซล นั้นก็ไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป

ในชีวิตจริง เมื่อไหร่ก็ตามที่เรา ‘ตัดสินใจ’ ด้วย ‘ความโกรธ’ มันก็มักจะนำไปสู่สถานการณ์เลวร้าย ที่บางครั้งก็ยากเกินกว่าจะแก้ไข


Disgust (ความเกลียด) และ Fear (ความกลัว) ทำงานคล้ายๆ กับ ‘ระบบเซ็นเซอร์’ โดย Disgust นั้นจะช่วยปัองกันไรลีย์จากสิ่งที่ทำให้เธอไม่สบายกายและไม่สบายใจ ในขณะที่ Fear ก็ช่วยปกป้องเธอจากอันตรายต่างๆ

ถ้าระบบเซ็นเซอร์นี้ถูกตั้งเอาไว้ในระดับที่พอดี มันก็คือกลไกที่ช่วยปกป้องมนุษย์เราจากสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งหลาย แต่ถ้ามันถูกตั้งเอาไว้อย่าง เข้มงวด หรือ หละหลวม เกินไป มันก็อาจจะส่งผลเสียได้เช่นเดียวกัน

ในชีวิตจริง คนที่มี Fear มากเกินไป มักจะเป็นคนขี้กลัวที่ไม่กล้าคิดไม่กล้าตัดสินใจอะไร ส่วนคนที่มี Disgust มากเกิน ก็คือคนที่ตั้งมาตรฐานชีวิตเอาไว้สูง จนทำให้พลาดโอกาสหลายๆ อย่าง ในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย

ในตอนที่ไรลีย์ย้ายบ้านมาใหม่ๆ Fear และ Disgust คือ อารมณ์ที่แสดงออกถึงความไม่พอใจกับบ้านหลังใหม่ออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไรลีย์เริ่มที่จะ ‘ปิดตัวเอง’ จากสภาพแวดล้อมใหม่ ที่เธอไม่คุ้นเคย

ช่วงเวลาที่ Fear และ Disgust นั้นดูจะทำงานหละหลวมเกินไปก็คือตอนท้ายของเรื่อง ที่ทั้งสองยอมให้ Anger ขึ้นมาควบคุมคอนโซล จนทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายตามมา

ถ้าเปรียบกับชีวิตจริง มันก็คือช่วงเวลาที่ความโกรธเข้าครอบงำจน ‘ระบบป้องกันตัวเอง’ อย่างความกลัวและความเกลียด นั้นต้านทานไม่อยู่ และส่งผลให้เราทำอะไรไปอย่างไม่ยั้งคิดนั่นเอง


ฉากที่เศร้าที่สุดฉากหนึ่งใน Inside Out ก็คือตอนที่ ปิ๊งป่อง เพื่อนในจินตนาการของไรลีย์ ยอมเสียสละตัวเอง เพื่อช่วย Joy ออกจาก หลุมขยะความทรงจำ จนทำให้ตัวเองต้องเลือนหายไ

ปิ๊งป่องและไรลีย์นั้นมีเรื่องราวดีๆ ร่วมกันมามากมาย และเขาเองก็อยากจะอยู่กับไรลีย์ต่อไปให้นานที่สุด แต่ปิ๊งป่องก็รู้ดีว่าตัวเองมี ‘น้ำหนัก’ มากเกินกว่าจะออกจากหลุมได้ และหากว่าเขาฝืนตัวเองต่อไป ไรลีย์ก็จะไม่มีโอกาสได้เติบโต

ฉากนี้ทำให้ผมนึกไปถึงอีกฉากหนึ่งใน Up ที่ปู่คาร์ลตัดสินใจทิ้งข้าวของซึ่งเต็มไปด้วยความทรงจำของเอลลี่ อยู่ในนั้น เพื่อ ‘ลดน้ำหนัก’ ของบ้านลง และพาบ้านไปช่วย รัสเซล ถึงแม้ว่าข้าวของเหล่านี้จะมีความหมายกับคุณปู่มากแค่ไหนก็ตาม

ในทุกช่วงวัย ชีวิตจะพาเราเดินไปข้างหน้าอยู่เสมอ และบางครั้ง เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะ ‘ทิ้งอดีต’ เอาไว้ข้างหลังบ้าง เพื่อให้ใจเรา ‘เบาพอ’ ที่จะก้าวต่อไปในอนาคตให้ได


แนวคิดที่น่าสนใจอันหนึ่งซึ่งถูกพูดถึงใน Inside Out ก็คือ เกาะบุคลิกภาพ (Islands of Personality) ซึ่งเป็นตัวแทนของบุคลิกภาพด้านต่างๆ ของไรลีย์ และสร้างตัวตน (Identity) ของเธอขึ้นมา

เกาะบุคลิกภาพ ถูกสร้างขึ้นและให้พลังงานโดย ความทรงจำหลัก (Core Memory) ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตของไรลีย์ ที่ส่งผลให้เธอเป็นคนในแบบที่เธอเป็น อาทิเช่น ความทรงจำจากการยิงประตูครั้งแรก ซึ่งทำให้ไรลีย์หลงรักกีฬาฮอกกี้ และทำให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของเธอ

ในตอนที่ความทรงจำหลักถูกดูดออกไปจากศูนย์สั่งการ เกาะทั้งหมดจึงขาดพลังงานและปิดตัวลง คล้ายๆ กับเวลาที่เราตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า และเลือกที่จะ ‘ปิดตัวเอง’ จาก ‘ประสบการณ์’ ทั้งหมดที่เกิดขึ้น

แต่ในที่สุดเมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดคลี่คลายลง เกาะต่างๆ ก็ได้เปิดตัวขึ้นอีกครั้ง โดยสิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อไรลีย์ยอม ‘เปิดใจ’ เกาะของเธอก็ถูกพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ ซึ่งก็คือการเติบโตขึ้นของเธอ ที่เกิดขึ้นจากการเปิดรับ ‘ประสบการณ์ใหม่ๆ’

สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ เกาะครอบครัวที่ขยายตัวขึ้น โดยมีเรื่องราวในซานฟรานซิสโกเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ซึ่งหมายถึง การที่ไรลีย์เปิดใจยอมรับ ซานฟรานซิสโก เป็น ‘บ้านหลังใหม่‘ ของเธออย่างเต็มใจ

นอกจากนี้ หลังจากเวลาผ่านไป เราก็ยังได้เห็นเกาะใหม่ๆ ของไรลีย์อีกหลายเกาะ อาทิเช่น เกาะแฟชั่่น เกาะบอยแบนด์ และ เกาะแวมไพร์โรแมนซ์ (อันนี้น่าจะมาจาก Twilight) ซึ่งก็คือประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เธอได้รับ หลังจากที่เธอเริ่มเป็นวัยรุ่นนั่นเอง


เรื่องราวทั้งหมดใน Inside Out ได้คลี่คลายลงในตอนที่ Joy ตัดสินใจมอบหมายให้ Sadness เป็นผู้ควบคุมแผงคอนโซล ซึ่งส่งผลให้ไรลีย์ได้ ‘ปลดล็อค’ ความเศร้าของตัวเอง และได้เปิดใจกับพ่อแม่เป็นครั้งแรก ว่าเธอรู้สึกเศร้าแค่ไหนกับการย้ายบ้านในครั้งนี้

แม้ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายในหัวของไรลีย์ แต่ความพยายามของ Joy และเพื่อนๆ ย่อมไร้ความหมาย ถ้าขาดซึ่ง ‘แรงสนับสนุนจากภายนอก’ ซึ่งก็คือ พ่อแม่ที่พร้อมจะ ‘รับฟัง’ ปัญหาของเธอ

‘ความสุขของไรลีย์’ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำงานของอารมณ์ทั้ง 5 ในหัวของเธอเพียงลำพัง แต่มันยังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากอารมณ์ทั้ง 5 ในหัวของพ่อและแม่ ซึ่งทั้งหมดต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง ‘ความสุขในครอบครัว’ ให้เกิดขึ้น

ในช่วงเวลาที่อ่อนแอ บางครั้ง สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดก็คือ ใครบางคนที่รักและห่วงใยเรา และไม่ว่าช่วงเวลานั้นจะยากลำบากสักแค่ไหน แต่เราก็ย่อมผ่านมันไปได้ ด้วยกำลังใจจากคนที่เรารัก


1 ความคิดเห็น:

  1. ได้ข้อคิดดีมากเลยคะ ขอบคุณนะคะที่เอามาให้อ่าน จากคนที่ตอนนี่ sadness กำลังทำงานอย่างหนักเลยคะ

    ตอบลบ