โลกธุรกิจซับซ้อนขึ้นทุกวัน ปัจจุบันเรามีระบบการหารายได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งยังมีคู่ค้าที่ร่วมมือกันเป็นเครือข่ายเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งการวางแผนธุรกิจนั้นไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเปิดกิจการก็ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดได้ หรือในบางทีเราอาจจะเขียนแผนจนซับซ้อนเกินไป จึงยากที่จะสื่อสารให้ทีมงานหรือคู่ค้าเข้าใจได้
อย่างไรก็ดี ล่าสุดก็มีผู้คิดค้นวิธีออกแบบแผนธุรกิจที่ทั้งเข้าใจง่ายและเป็นระบบระเบียบมากขึ้น เราเรียกมันว่า‘Business Model Canvas’ ครับ (คิดค้นขึ้นโดยนาย Alex Osterwalder) Business Model Canvas ที่กล่าวถึงนี้มีลักษณะเป็นแผนตาราง 9 ช่องที่ดูง่ายสบายตา สามารถอธิบายถึงกิจกรรมทางธุรกิจ และความสัมพันธ์ของธุรกิจนั้นๆ กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า ซัพพลายเออร์ ฯลฯ นอกจากนั้นยังระบุได้ถึงวิธีการไหลเวียนของเงินในธุรกิจ เช่นว่าต้นทุนเรามีอะไรบ้าง กระแสรายรับของเรามาจากทางไหน ฯลฯ โดยในแต่ละช่องนั้นเราสามารถจะเขียนข้อความ ตัวเลข หรือจะใส่ภาพลงไปก็ได้ ที่สำคัญ Business Model Canvas ยังเป็นวิธีคิดที่ใช้การได้ดีตั้งแต่บนกระดาษ A4 (คิดคนเดียว) เรื่อยไปจนกระทั่งบนกระดานห้องประชุมเลยทีเดียว (คิดเป็นทีม)
เข้าใจหมวดหมู่ของ Business Model Canvas
Value Propositions : เริ่มจากช่องแรกด้านบนตรงกลาง คือ Value Propositions ในส่วนนี้พูดง่ายๆ ก็คือ ‘เราทำอะไรให้ลูกค้าบ้าง?’ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราทำเคสมือถือขาย เราอาจไปเหมาซื้อหน้ากากมือถือจำนวนมากมาในราคาถูกๆ แล้วนำมาทำสี ตกแต่ง นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยดีไซน์ และขายความคิดสร้างสรรค์ อะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่หากธุรกิจใดที่คิดอธิบายช่องนี้ไม่ค่อยออก เช่นว่าเป็นแค่คนกลางที่รับมาอย่างไรก็ขายไปอย่างนั้น ก็พึงระลึกไว้เลยว่าแผนธุรกิจของคุณนั้นค่อนข้างอ่อนแอ คงจะทำกำไรหรือเอาชนะคู่แข่งได้ยาก เป็นต้น
Value Propositions : เริ่มจากช่องแรกด้านบนตรงกลาง คือ Value Propositions ในส่วนนี้พูดง่ายๆ ก็คือ ‘เราทำอะไรให้ลูกค้าบ้าง?’ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราทำเคสมือถือขาย เราอาจไปเหมาซื้อหน้ากากมือถือจำนวนมากมาในราคาถูกๆ แล้วนำมาทำสี ตกแต่ง นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยดีไซน์ และขายความคิดสร้างสรรค์ อะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่หากธุรกิจใดที่คิดอธิบายช่องนี้ไม่ค่อยออก เช่นว่าเป็นแค่คนกลางที่รับมาอย่างไรก็ขายไปอย่างนั้น ก็พึงระลึกไว้เลยว่าแผนธุรกิจของคุณนั้นค่อนข้างอ่อนแอ คงจะทำกำไรหรือเอาชนะคู่แข่งได้ยาก เป็นต้น
Customer Segments : ต่อไปทางขวามือจะเป็นฝั่งของลูกค้า โดยในช่องขวาสุดที่เป็น Customer Segments นั้น คือการอธิบายว่าเราจะสร้าง Value นี้ไปเพื่อใครบ้าง โดยอาจระบุเป็นลักษณะทางเดโมกราฟิก หรือลักษณะการใช้ชีวิตและบุคลิกก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราทำร้านเสื้อผ้าสำหรับเด็กเล็ก Customer Segments ของเราอาจจะระบุว่าเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เพราะเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจซื้อ อะไรอย่างนี้เป็นต้น
Customer Relationships และ Channels : ระหว่างช่อง Value Proposition กับ Customer Segmentsจะถูกเชื่อมด้วยอีกสองช่องคือ Customer Relationships (การติดต่อสื่อสารกับลูกค้า) และ Channels (ช่องทางการขายวิธีขายและรับเงิน รวมถึงที่ตั้งร้าน) โดยในส่วนนี้จะมีหัวข้อย่อยลงไปอีก เช่น Awareness คือการอธิบายว่าลูกค้าจะรู้จักเราได้ทางไหนอย่างไร, Purchase ลูกค้าจะซื้อสินค้าหรือบริการของเราจากที่ไหนได้บ้าง จ่ายเงินอย่างไร, Delivery คือเราจะส่งสินค้าไปให้ลูกค้าทางไหน รวมไปถึงเรื่อง After-Sales หรือบริการหลังการขายด้วย
Key Partners, Key Activities และ Key Resources : ต่อไปถ้าเรามองไปทางด้านซ้ายมือของ Value Propositions ก็จะเป็นเรื่องของคู่ค้าในธุรกิจและกิจกรรมในธุรกิจทั้งหมด โดย Partners ของเราจะแบ่งได้เป็น 4กลุ่มหลักๆ คือ
1) “ไม่ใช่คู่แข่งโดยตรง” แต่มีวิธีคิดหรือขายสินค้าคล้ายๆ กับเรา เช่น ร้านมือถือกับร้านขายเคสก็ควรจะอยู่ใกล้กันเป็นต้น
2) “เป็นคู่แข่งแต่ใช้ทรัพยากรร่วมกัน” ยกตัวอย่างเช่น ร้านเสื้อผ้าหลากหลายแบรนด์ที่ตั้งใจไปอยู่ในพื้นที่โซนเดียวกันเพื่อให้ลูกค้าหาเจอง่าย
3) “ร่วมมือกันแล้วจึงเกิดเป็นธุรกิจ” เช่น การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนคนละอย่างที่ในที่สุดแล้วต้องมาใช้งานร่วมกัน
4) “พึ่งพากันจึงอยู่รอด” อาจจะหมายถึงการที่ธุรกิจคนละแบบต้องอยู่ร่วมกันภายในหนึ่งอีโคซิสเต็มเพื่อจะดึงดูดลูกค้า เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เราก็ต้องเขียนลงไปในแผนด้วยว่าเรามี Key Activities หรือกิจกรรรมอะไรระหว่างกันบ้าง รวมถึงเราแบ่งปันทรัพยากรหรือ Key Resources กันอย่างไร
ขั้นต่อไปถ้าเรามองลงมาทางด้านล่างของแคนวาสก็จะพบกับเรื่องการเงินล้วนๆ ซึ่งจะแบ่งเป็นสองส่วนคือ
Cost Structure - เป็นการอธิบายถึงเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายทุกอย่างในการดำเนินธุรกิจ อาทิเช่น 1) Fixed Cost ซึ่งก็คือรายจ่ายคงที่ตอนเริ่มกิจการ รวมไปถึงรายจ่ายประจำเช่น ค่าเช่าเครื่องจักร เงินเดือนพนักงาน ฯลฯ
2) Variable Cost ระบุถึงรายจ่ายที่อาจมากน้อยต่างกันในแต่ละเดือน เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโฆษณา ค่าขนส่ง
3) Economy of Scale อธิบายถึงการลดต้นทุนจากปริมาณการผลิต ถ้าสั่งผลิตคราวละมากๆ ต้นทุนต่อหน่วยจะลดลงได้แค่ไหน อย่างไร
• Economy of Scope หมายถึงการลดต้นทุนต่อหน่วยจากการสั่งผลิตสินค้าหลายชนิดไปพร้อมๆ กัน โดยอาจใช้เครื่องจักรร่วมกัน หรือแชร์ปัจจัยการผลิตบางอย่างร่วมกันได้
Revenue Streams : สุดท้ายแต่สำคัญที่สุด ก็คือเรื่องของรายได้ เราต้องระบุให้ชัดว่ารายรับของธุรกิจนี้จะมาจากทางไหนได้บ้าง เพราะในบางธุรกิจก็มีรายรับจากหลายแหล่ง เช่น การขายสินค้า, ค่าบริการ, ค่าโฆษณา, ค่าสมาชิก, ค่าเช่า, ค่านายหน้า ฯลฯ เพราะกลยุทธ์ในการกระจายวิธีสร้างรายได้นี้ สามารถจะเพิ่มความมั่นคง ลดความเสี่ยง ให้กับธุรกิจได้อย่างไร ฯลฯ
สรุปคือไม่ว่าธุรกิจของคุณจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ขอให้พยายามบังคับตัวเองและทีมงานให้ทำการบ้านทั้ง 9ช่องนี้ให้ครบ เพราะการเขียนแผนธุรกิจให้ทะลุปรุโปร่งและชัดเจนในระดับปลีกย่อยนี้ ย่อมจะทำให้ทั้งตัวคุณ ทีมงานของคุณ รวมไปถึงผู้ให้เงินกู้หรือผู้ร่วมลงทุนในอนาคตของคุณ สามารถมองเห็นภาพรวมของแผนธุรกิจได้อย่างไม่ตกหล่น อันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่รัดกุม และมีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกๆ ด้านนั่นเอง
เครดิตภาพ : businessmodelcompetition.com , zebramc.com , blog.bizzdesign.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น