เปิดเทคนิคการปลูกมะละกอให้ดกแบบคุณภาพของสวนปรีชา
8 ไร่ เก็บครั้งละ 3-4 ตัน ฟันเงินกว่า 2.5 แสน ในช่วงเวลา 2 เดือน
เก็บ 4 เดือน ฟันเกือบล้าน
เรียกว่าสร้างความฮือฮาแบบไลท์ถล่มทลายในกลุ่มเกษตรก้าวใหม่หลังจากที่ได้เห็นความดกแบบอลังการของมะละกอสวนนี้ ทำให้หลายคนอยากรู้เทคนิคการทำมะละกอให้ติดดกแบบคุณภาพ เพราะนั่นหมายถึงปริมาณผลผลิตที่สูงมากๆ แม้ราคามะละกอในช่วงนี้อาจไม่สูงมากนักแต่จากผลผลิตที่ดกเต็มคอและคงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตไปได้อีกยาวนานก็คงจะทำเงินให้กับสวนนี้ได้อีกไม่น้อยทีเดียว ขนาดมะละกอราคาไม่ค่อยดีแต่เพียงระยะเวลา 2 เดือนกว่าที่เก็บผลผลิตก็สามารถทำเงินได้มากกว่า 2.5 แสนบาท หากราคามะละกอสูงกว่านี้ คงฟันเงินไปมากกว่านี้อย่างแน่นอน
ทำสวนมะละกอครั้งแรก…หลังวิกฤติอ้อยตกต่ำ
ไม่น่าเชื่อว่า มะละกอคุณภาพขนาดนี้จะเป็นการทำสวนมะละกอครั้งแรกของเด็กหนุ่มไฟแรงมากความสามารถที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยมาได้ไม่กี่ปี คุณปรีชา กาละวัย เจ้าของสวนมะละกอปรีชา บอกกับเราว่า นี่เป็นสวนมะละกอแปลงแรกของเขา เพราะอาชีพดั่งเดิมของครอบครัวก็คือการทำอ้อยและรับโควตาซื้ออ้อยเข้าโรงงานปีหนึ่งกว่า 4-5 พันตันหรือคิดเป็นปริมาณพื้นที่ปลูกก็ร่วม 500 กว่าไร่ แต่ในช่วงปีหลังๆมานี้ธุรกิจอ้อยที่เคยเป็นรายได้หลักของครอบครัวและเป็นรายได้ที่สร้างฐานะให้กับครอบครัวกลับกลายเป็นพืชที่สร้างหนี้ก้อนโตสะสมขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งสภาวะฝนแล้ง อ้อยขาดน้ำ ผลผลิตเสียหาย ราคาอ้อยที่ตกต่ำ ขาดทุนต่อเนื่องและสะสมมาตลอดหลายปี ยิ่งทำมากยิ่งขาดทุนมาก คุณปรีชาเองเรียนจบด้านวิทยาการ คอมพิวเตอร์ จาก ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และมาทำงานกับบริษัทเอกชนในกรุงเทพฯ ในตำแหน่ง System Engineer บริษัท แวลู เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ก่อนหน้านี้เขาบอกว่าไม่เคยรับรู้ปัญหาของทางบ้าน แต่เมื่อได้รับรู้เขาจึงคิดโจทย์ใหญ่ที่จะมาแก้วิกฤตินี้ให้ได้ เขาศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลด้านเกษตรจากหลายช่องทางทั้งอินเตอร์เน็ต หนังสือเกษตร(ดีใจค่ะที่ รักษ์เกษตร คือหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่มีส่วนสร้างแรงบันดาลใจและเป็นแหล่งข้อมูลของเขา) รวมทั้งการเดินทางไปดูสวนจริง จนในที่สุดเขาตัดสินใจเลือกมะละกอพืชที่เขามองว่าปลูกไม่ยาก ดูแลไม่มาก ช่วงวันธรรมดาก็ให้ครอบครัวดูแลได้ แต่เสาร์-อาทิตย์เขาก็กลับมาช่วยดูแลได้ อีกทั้งเป็นพืชที่มีแนวโน้มทางการตลาดที่ดี ผลตอบแทนสูง ที่สำคัญ กาญจนบุรีเป็นแหล่งใหญ่ของการปลูกมะละกออยู่แล้ว การหาแม่ค้ารับซื้อผลผลิตในวันเก็บเกี่ยวจึงไม่น่าจะใช่เรื่องยาก
พื้นฐานดินที่ดี สมบูรณ์ คือส่วนสำคัญของผลผลิตที่ดี
หลังจากที่ตัดสินใจแล้วคุณปรีชาก็เตรียมแปลงโดยเลือกพื้นที่ใกล้บ้านจำนวน 8 ไร่ มาปลูกมะละกอฮอลแลนด์ ซึ่งความได้เปรียบของที่ดินแปลงนี้ก็คือ การมีแหล่งน้ำที่เพียงพอจากบ่อบาดาล อยู่ใกล้บ้าน การดูแลสะดวก ที่สำคัญสภาพพื้นดินสมบูรณ์มากๆ จากการที่ที่ดินแปลงนี้เคยปลูกอ้อยมาก่อนและมีการบำรุงดินอย่างดีในช่วงที่ปลูกอ้อยซึ่งจะมีการใส่ปุ๋ยขี้ไก่อยู่ตลอดทุก 2-3 เดือน ทำให้สภาพโครงสร้างของดินที่นี่จัดว่าดีเลยทีเดียว ดินร่วนซุย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหาร เมื่อสภาพโครงสร้างพื้นฐานของดินที่ดีเมื่อใส่ปุ๋ยเคมี ต้นพืชก็ดูดปุ๋ยไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้กระนั้นก่อนปลูกเขาก็ยังรองพื้นขี้ไก่ไปอีกหลายร้อยกระสอบ
เทคนิคการทำให้มะละกอติดดก คุณภาพดี
หลังจากเตรียมดินดีแล้ว ก็มาเตรียมต้นกล้าที่ดีพร้อมปลูก โดยเลือกซื้อเมล็ดจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยมีเทคนิคการทำให้ต้นกล้างอกดี งอกสม่ำเสมอด้วยการนำเมล็ดมาแช่น้ำอุ่น 1 คืน และบ่มเมล็ดด้วยการห่อผ้าทิ้งไว้อีก 2-3 คืน เมื่อเมล็ดเริ่มงอกจึงนำมาเพาะในถุงดำ ต้นละ 3 เมล็ด แล้วคลุมพลาสติกดำไว้อีก 5 วัน เมื่อเปิดพลาสติกดำออกมาต้นกล้าจะงอกอย่างสวยงามเลยทีเดียว เมื่อต้นกล้าอายุ 45 วันจึงนำไปปลูกลงแปลง คุณปรีชาบอกว่า มะละกอแปลงนี้มีอยู่ประมาณ 1,500 ต้น ใช้ระยะปลูก 2.7×3 เมตร เมื่อต้นมะละกอออกดอกอายุ 2-3 เดือน จึงคัดเพศ เลือกต้นกระเทยไว้ ตามหลักการปลูกมะละกอทั่วไป
สำหรับการใส่ปุ๋ยช่วงแรกใส่ปุ๋ยขี้ไก่รองพื้นก่อนปลูก จากนั้นก็ให้ 15-0-0 ทุก 15 วัน หลังคัดเพศ อายุประมาณ 3 เดือน เปลี่ยนมาใส่ 8-24-24 สลับกับ 14-7-35 หรือ 15-5-20 ทุก 15 วัน ปริมาณปุ๋ยที่ให้ไม่มาก 8 ไร่ ใส่เพียง 100 กก.หรือ ปุ๋ย 2 กระสอบ นั่นเพราะสภาพโครงสร้างของดินที่ดีตั้งแต่ก่อนปลูก และเขาให้ความสำคัญอย่างมากกับโครงสร้างดินที่ร่วนซุยด้วยการใส่ขี้ไก่ทุก 2 เดือนต้นละ 2 กก./ครั้ง ซึ่งที่นี่ค่อนข้างได้เปรียบเพราะมีฟาร์มเลี้ยงไก่เยอะ คุณปรีชาจะไปเหมาเล้าเลย เล้าละ 5-6 พันบาท กรอกถุงได้ประมาณ 800-900 ถุงปุ๋ย ส่วนทางใบพ่นปุ๋ยเกร็ด 0-52-34 อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร สลับกับปุ๋ยเกร็ด 30-20-10 พ่นทุก 7 วันร่วมกับธาตุอาหารเสริมแคลเซียม-โบรอนที่ให้อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าไม่มีคนปลูกมะละกอคนไหนให้ปุ๋ยมากขนาดนี้อย่างแน่นอนค่ะ แต่นี่คือการลงทุนที่เกินคุ้มค่ะ ส่วนโรค-แมลงก็จะควบคุมอย่างต่อเนื่อง โดยแมลงก็ใช้เพียงอิมิดาคลอพริดพ่นสลับกับคาร์โบซัลแฟน หรือถ้าเจอแมลงระบาดก็จะจัดการเป็นตัวๆไป ยากันราก็ใช้แมนโคเซ็บกับคาร์เบนดาซิมยืนพื้น มีคอปเปอร์มาพ่นสลับบ้าง และถ้ามีปัญหาก็จะว่ากันไปตามการระบาด
คุณปรีชาบอกว่า มะละกอเป็นพืชที่ลงทุนไม่สูง ขนาดเขาให้ปุ๋ยและพ่นยาอย่างเต็มที่ เมื่อเทียบกับบางแปลงที่แทบไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรือพ่นยาเลย มะละกอ 8 ไร่นี้ยังหมดค่าปุ๋ย ค่ายาเพียงเดือนละ 10,000-12,000 บาท รวมค่าแรงแล้วเท่ากับเก็บมะละกอเพียงรอบเดียวก็คืนทุนแล้ว แต่เดือนหนึ่งเขาเก็บมะละกอตั้ง 8-10 ครั้ง โดยต้นทุนตั้งแต่ปลูกจนถึงตอนนี้ 10 กว่าเดือนเขาลงทุนไปแค่ 1 แสนบาท แต่เก็บมะละกอขายมาแล้วกว่า 2.5 แสนบาท
ความได้เปรียบของตลาดและการขายผลผลิต
ความได้เปรียบด้านตลาดของที่นี่ก็คือ กาญจนบุรีเป็นแหล่งปลูกมะละกอแหล่งใหญ่อยู่แล้ว ชาวบ้านที่นี่มีการปลูกมะละกอกันอย่างมากมาย มีคนเก่าเลิกไปก็มีคนใหม่เข้ามาปลูกแทน เป็นเช่นนี้อยู่ตลอด จึงทำให้มะละกอที่นี่มีผลผลิตต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีผู้รับซื้อหรือรวบรวมในพื้นที่ยักษ์ใหญ่อย่าง นพยุทธ เจ้าพ่อมะละกอเมืองกาญจน์รับซื้อผลผลิตตลอดอยู่แล้ว คุณปรีชาจึงไม่ห่วงเรื่องตลาดตั้งแต่แรก ประกอบกับเชื่อมั่นว่า หากผลผลิตมีคุณภาพแม่ค้าคนไหนก็อยากซื้อ จึงทำให้มะละกอสวนปรีชามีแต่แม่ค้าเข้ามาขอซื้อผลผลิตอยู่ตลอด
การนำผลผลิตส่งตลาดหรือนพยุทธก็ทำเพียงเก็บผลผลิตเสร็จก็นำบรรทุกใส่รถไปยังจุดรับซื้อ ทางจุดรับซื้อจะนำไปห่อกระดาษหนังสือพิมพ์และนำส่งลูกค้าอีกที โดยที่สวนจะเก็บมะละกอทุก 3-4 วัน หรือสัปดาห์ละ 2 ครั้งโดยประมาณ เดือนละ 8 ครั้ง ครั้งหนึ่งก็ประมาณ 3-4 ตัน หรือมากกว่านี้ โดยมะละกอแปลงนี้เริ่มปลูกเดือนมกราคม เริ่มเก็บผลผลิตปลายเดือนตุลาคม ช่วงแรกที่เก็บเจอราคาสูงไป 2-3 รอบ ยังได้ราคา 27-30 บาท/กก.อยู่ แต่หลังจากนั้นราคามะละกอก็ขยับลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 25 20 15 12 10 บาท/กก.
หลังจากเห็นผลตอบแทนจากมะละกอแปลงนี้คุณปรีชาก็ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอีก 16 ไร่ ตอนนี้อายุ 3 เดือนกว่าแล้ว และกำลังเพาะเมล็ดเตรียมปลูกเพิ่มอีก 20 ไร่ ด้วยความมั่นใจว่า พืชชนิดนี้ยังเป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างรายได้ในอนาคตแม้วันนี้ราคามะละกอจะถูกกว่าทุกปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่เขายังเชื่อมั่นว่ามะละกอคือพืชทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเขา เพราะมะละกอ 8 ไร่ ที่เขาปลูกลงทุนไปเพียงแสนกว่าบาท และเก็บมะละกอในช่วงที่ราคาผลผลิตไม่ดีนักแต่ในระยะ 2 เดือนกว่า มะละกอ 1,500 ต้นก็ทำรายได้ให้กับเขามากกว่า 2.5 แสนบาท ถ้าราคามะละกอดีกว่านี้เขาเชื่อว่าระยะเวลา 2 เดือนมะละกอ 8 ไร่ จะทำรายได้ให้เขาไม่ต่ำกว่า 3 แสนกว่าบาทแน่นอน และด้วยความได้เปรียบของการเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลมาก เพราะช่วงที่ไม่ได้เก็บมะละกอเขาก็ดูแลเองในครอบครัวเพียง 2-3 คน ช่วงเก็บผลผลิตก็จ้างแรงงานเพิ่มอีกเพียง 2-3 คน จึงเป็นพืชที่ลงทุนไม่สูงเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น เขาบอกว่า เขาตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกเดินหน้ากับ มะละกอ
สวนปรีชา 456 ม.5 ต.หนองกร่าง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี 087-1658993
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น