วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

10 เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตในปี 2015



หญิงสาวสาธิตการทำงานของหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยและนำทาง "Reborg-X" ของบริษัท "Alsok " ในญี่ปุ่น ซึ่งจัดแสดงในงาน Security Show ประจำปี 2015 ที่โตเกียว โดยหนึ่งในเทคโนโลยีอุบัติแห่งปี 2015 คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่จะทำงานร่วมกับมนุาย์ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น (ภาพประกอบ AFP PHOTO / Yoshikazu TSUNO)
 
10 สุดยอดเทคโนโลยีอุบัติในปี 2015 จากการกลั่นกรองของคณะกรรมการเทคโนโลยีในสมัชชาเศรษฐกิจโลก เพื่อชี้ถึงแนวโน้มเทคโนโลยีสำคัญล่าสุด ที่จะแก้ปัญหาความท้าทายที่บีบคั้นโลกมากที่สุดในยุคปัจจุบันด้วยนวัตกรรม ตั้งแต่รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนทั้งหมดโดยไม่ปล่อยมลพิษ พลาสติกคงรูปที่รีไซเคิลได้หลายรอบ ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างความฉลาดได้ฉับพลัน เทคนิคตัดต่อพันธุกรรมที่แม่นยำขึ้น หรือโดรนที่รู้จักหลบหลีกตามสภาพแวดล้อม
 
18 ผู้เชี่ยวชาญในฐานะคณะกรรมการเทคโนโลยีอุบัติใหม่ของการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้คัดกรอง 10 เทคโนโลยีอุบัติใหม่ซึ่งเป็นเทคโลยีล่าสุดที่มีความสำคัญที่สุดในปี 2015 เพื่อให้ประชาคมของสมัชชาได้เพิ่มความตระหนักต่อศักยภาพ และการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านั้น ต่อการอุดช่องว่างในการลงทุน การกำหนดนโยบาย และความเข้าใจของสาธารณะที่มักจะขัดขวางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเหล่านั้น  
 
10 เทคโนโลยีดังกล่าว ได้แก่
 
1.รถพลังเซลล์เชื้อเพลิง
 
รถเซลล์เชื้อเพลิงส่งสัญญาณที่ดีมานานแล้ว ด้วยข้อได้เปรียบหลายอย่างที่เหนือกว่ารถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอน แต่เทคโนโลยีรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงเพิ่งมาถึงจุดที่บริษัทรถยนต์วางแผนส่งรถยนต์ประเภทนี้ให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งคาดว่าราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 2,100,000 บาท แต่น่าจะถูกลงเมื่อมีการผลิตมากขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า
 
ในทางปฏิบัติรถพลังเซลล์เชื้อเพลิงถือเป็นรถไฮบริดที่อาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างเซลล์เชื้อเพลิงและแบตเตอรี ซึ่งโดยปกติรถไฟฟ้าต้องใช้แบตเตอรีและชาร์จไฟฟ้าจากแห่งพลังงานภายนอก แต่เซลล์เชื้อเพลิงจะผลิตไฟฟ้าได้เองจากไฮโดรเจนหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรถเซลล์เชื้อเพลิงจะผลิตไฟฟ้าแล้วเก็บไว้ในแบตเตอรีเพื่อใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ระหว่างใช้งาน  
 
นอกจากนี้รถเซลล์เชื้อเพลิงยังขับเคลื่อนได้เหมือนรถยนต์ดั้งเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอน โดยเชื้อเพลิง 1 ถังวิ่งได้ไกล 650 กิโลเมตร และใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงให้เต็มถังเพียง 3 นาที และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนยังถือเป็นพลังงานสะอาดเพราะปล่อยของเสียออกมาในรูปไอน้ำ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการลดมลภาวะทางอากาศ  
 
2.หุ่นยนต์ปรับตัวให้ทำงานกับคนได้อย่างปลอดภัย
 
ในอุตสาหกรรมหนักอย่างการประกอบรถยนต์หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องอาศัยหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้ร่วมงานที่เป็นคน หุ่นยนต์เหล่านั้นจึงถูกแยกไปอยู่ในพื้นที่เพื่อความปลอดภัย แต่ความก้าวหน้าจองเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้ทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างคนและหุ่นยนต์ใกล้ความจริงมากขึ้น โดยอาศัยเซนเซอร์ที่ดีขึ้นและราคาถูกลง ทำให้เราพัฒนาหุ่นยนต์ที่เข้าใจและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น รูปร่างของหุ่นยนต์ยุคใหม่จึงปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากแรงบันดาลใจที่ได้มาจากโครงสร้างทางชีววิทยาอย่างมือมนุษย์ ที่มีความยืดหยุ่นและคล่องแคล่วเป็นพิเศษ และยังเชื่อมต่อระยะไกลเพื่อเข้าถึงโครงสร้างและข้อมูลได้โดยไม่ต้องคอยโปรแกรมให้ทำงานแบบเดิมด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติง
 
หุ่นยนต์ยุคใหม่จึงไม่ได้อยู่ในสายการผลิตขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังทำงานได้หลากหลายมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีระบุพิกัดหรือจีพีเอสในสมาร์ทโฟนทำให้หุ่นยนต์ถูกใช้ในการเกษตรแม่นยำสูงมากขึ้น เพื่อควบคุมศัตรูพืชและการเก็บเกี่ยว หรือญี่ปุ่นใช้หุ่นยนต์เพื่อทำหน้าที่พยาบาล อย่างการช่วยผู้ป่วยลุกจากเตียงหรือช่วยผู้เป็นอัมพาตควบคุมแขนขาได้อีกครั้ง เป็นต้น
 
ในทางอุดมคติหุ่นยนต์นั้นมีไว้เพื่อทำงานที่ซ้ำซากหรืออันตรายเกินไปแทนมนุษย์ และทำงานได้ตลอดวัน 24 ชั่วโมงด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าแรงงานคน แต่ในความเป็นจริงหุ่นยนต์รุ่นใหม่จะทำงานร่วมกับมนุษย์มากกว่าจะเข้าไปแทนที่ และแม้หุ่นยนต์จะถูกออกแบบให้ล้ำสมัยหรือฉลาดแค่ไหน แต่มนุษย์ยังคงมีส่วนร่วมและควบคุมเป็นหลัก ทว่ายังคงมีคำถามว่าในอนาคตเมื่อมนุษย์และหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันจะเกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างมนุษย์ต่อจักรกลหรือไม่
 
3.พลาสติกคงรูปรีไซเคิลได้
 
พลาสติกแบ่งเป็นพลาสติกคืนรูปหรือเทอร์โมพลาสติก (thermoplastics) และพลาสติกคงรูปหรือเทอร์โทเซตพลาสติก (thermoset plastics) สำหรับพลาสติกคืนรูปนั้นจะเปลี่ยนรูปทรงได้หลายครั้งเมื่อได้รับความร้อนจึงเป็นพลาสติกที่รีไซเคิลได้ แต่สำหรับพลาสติกคงรูปจะรับความร้อนและขึ้นรูปได้แค่ครั้งเดียว โดยการเปลี่ยนแปลงโมเลกุลทำห้พลาสติกคงรูปยังคงรูปร่างอยู่ได้แม้จะได้รับความร้อนหรือความดันสูง  
 
ด้วยความคงทนนี้ทำให้พลาสติกคงรูปหรือพลาสติกเทอร์โมเซตเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของโลกยุคใหม่ และถูกใช้งานหลากหลาย ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ แผงวงจรไฟฟ้าไปจนถึงอุตสาหกรรมอวกาศยาน แต่กลับรีไซเคิลไม่ได้ ทำให้กลายเป็นขยะบนกองฝังกลบเมื่อหมดอายุการใช้งาน การผลิตพลาสติกเทอร์โมเซตที่รีไซเคิลได้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของเทคโนโลยีล่าสุด
 
กระทั่งเมื่อปี 2014 มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารไซน์ ระบุถึงการค้นพบพลาสติกเทอร์โมเซตชนิดใหม่ที่รีไซเคิลได้ พลาสติกดังกล่าวเรียกว่า พอลิเฮกซะไฮโดรไตรอะไซน์ (poly-hexahydrotriazine) หรือ พีเอชทีส์ (PHTs) ซึ่งละลายได้ด้วยกรดที่เข้มข้นสูง โดยแตกสายพอลิเมอร์เป็นมอนอเมอร์ ที่สามารถประกอบขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ แต่ยังคงความแกร่งและคงทนเหมือนพลาสติกเทอร์โมเซตแบบเดิมๆ ซึ่งหากมีการใช้พลาสติกประเภทนี้มากขึ้น จะช่วยลดปริมาณขยะในหลุมฝังกลบได้ โดยคณะกรรมการเทคโนโลยีอุบัติใหม่ของสมัชชาเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าพลาสติกเทอร์โมเซตที่รีไซเคิลได้นี้จะเข้ามาแทนที่พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ภายใน 5 ปี และจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่จากพลาสติกประเภทนี้อย่างดาษดื่นภายในปี 2025
 
4.เทคนิคตัดต่อพันธุกรรมที่แม่นยำขึ้น
 
พันธุวิศวกรรมแบบเดิมๆ ทำให้เกิดข้อโต้แย้งเป็นเวลานาน แต่เทคนิคใหม่ช่วยให้เรา “แก้ไข” รหัสพันธุกรรมของพืชนั้นๆ ได้โดยตรง เช่น ทำให้โภชนาการเพิ่มขึ้นหรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ดีขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นการค้นพบใหม่ช่วยให้การเกษตรดีขึ้นแต่ลดข้อถกเถียงลง โดยพันธุวิศวกรรมแบบเก่าจะพึ่งพิงแบคทีเรียชื่อ อะโกรแบคทีเรียม ทูเมฟาเชียนส์ (agrobacterium tumefaciens) เพื่อนำส่งดีเอ็นเอที่ต้องการไปยังจีโนมเป้าหมาย อันเป็นเทคนิคที่ก่อให้เกิดความกังวลในคนทั่วไป  
 
ขณะที่แบคทีเรียอะโกรแบคทีเรียมถูกใช้อย่างแพร่หลาย เทคนิคใหม่ที่แม่นยำกว่าและดัดแปลงจีโนมได้แม่นยำกว่าก็ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีนี้ หนึ่งในเทคนิคเหล่านั้นคือ ZFNs, TALENS และ CRISPR-Cas9 ซึ่งเจริญเติบโตในแบคทีเรียเสมือนเป็นกลไกป้องกันต่อต้านไวรัส
 
ในส่วนของ CRISPR-Cas9 ซึ่งเป็นเทคนิคล่าสุดใช้โมเลกุลอาร์เอนเอ (RNA) กำหนดเป้าดีเอ็นเอ แล้วตัดต่อให้เป็นลำดับพันธุกรรมที่ผู้ใช้รู้จักและเลือกไว้สู่จีโนมเป้าหมาย ซึ่งเป็นวิธีที่ยับยั้งยีนที่ไม่ต้องการหรือดัดแปลงไปในแบบที่ไม่ต่างจากการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ และการผสมข้ามสายพันธุ์ของดีเอ็นเอส่วนที่คล้ายกัน (homologous recombination) ในเทคนิคของ CRISPR-Cas9 ยังใช้เพื่อใส่ลำดับดีเอ็นเอตัวใหม่หรือแม้กระทั่งยีนทั้งหมดเข้าไปในจีโนมเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ  
 
ส่วนความก้าวหน้าอื่นๆ ในศาสตร์ด้านพันธุวิศวกรรมคือการใช้ดีเอ็นเอยับยั้ง ( RNA interference) หรืออาร์เอ็นเอไอ (RNAi) ซึ่งให้ผลในการต้านไวรัสและเชื้อราก่อโรค และยังช่วยปกป้องพืชจากแมลงศัตรูพืช ลดการใช้สารเคมีฆ่าแมลง  โดยคณะกรรมการเทคโนโลยีของสมัชชาเศรษฐกิจโลกได้ยกตัวอย่างกรณีการใช้ยีนไวรัสเพื่อปกป้องมะละกอจากไวรัสจุดวงแหวน ซึ่งให้ผลในการปกป้องมะละกอในฮาวายจากไวรัสดังกล่าว โดยไม่แสดงอาการต่อต้านยีนมานานนับทศวรรษ และคาดว่าอาร์เอ็นเอไอน่าจะเป็นประโยชน์แก่พืชอาหารที่สำคัญ โดยป้องกันข้าวสาลีจากโรค ราสนิม (stem rust), ป้องกันข้าวจากโรคไหม้ (blast), ป้องกันมันฝรั่งจากโรคใบแห้ง (blight) และป้องกันกล้วยจากโรคตายพราย (fusarium wilt)
 
คณะกรรมการเทคโนโลยียังระบุว่า นวัตกรรมทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะแก่เกษตรกรเล็กๆ ในประเทศกำลังพัฒนา ถ้าเป็นเช่นนั้นพันธุวิศวกรรมจะถูกต่อต้านน้อยลง เมื่อคนตระหนักถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้ที่ช่วยสร้างรายได้และยกระดับอาหารสำหรับประชากรอีกหลายล้านคน อีกทางหนึ่งการแก้ไขจีโนมที่แม่นยำขึ้นลดความกลัวของสาธารณะ โดยเฉพาะพืชหรือสัตว์เป้าหมายไม่ใช่สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เพราะไม่มีชิ้นส่วนพันธุกรรมแปลกปลอมที่ใส่เข้าไป และเทคนิคเหล่านี้ยังส่งสัญญาณถึงความยั่งยืนของการเกษตรที่ก้าวหน้า โดยช่วยลดต้นทุนในหลายด้าน ทั้งลดการใช้น้ำ ลดการใช้พื้นที่ ลดการใช้ปุ๋ย อีกทั้งช่วยให้พืชเพาะปลูกปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
 
5.โรงงานแบบสั่งพิมพ์สามมิติ
 
โรงงานแบบเดิมเริ่มต้นจากการใช้วัตถุชิ้นใหญ่อย่างไม้ เหล็ก หิน แต่ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่ก้าวหน้าขึ้น จะทำให้เกิดโรงงานแบบใหม่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นของเหลวและแป้ง และพิมพ์เป็นรูปร่างสามมิติโดยใช้แม่แบบดิจิทัล และผลิตภัณฑ์ภาพพิมพ์สามมิติยังปรับเข้ากับความต้องการของผู้ใช้ปลายทางได้มากกว่า ต่างจากสินค้าที่ผลิตขึ้นในจำนวนมากแบบเก่า  
 
บางบริษัทใช้ประโยชน์จากการพิมพ์ภาพสามมิติโดยใช้คอมพิวเตอร์บันทึกภาพฟันของลูกค้า เพื่อผลิตอุปกรณ์จัดฟันแบบใสที่พอดีกับปากของลูกค้า นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์อื่นๆ ที่ใช้ประโยชน์จากการพิมพ์สามมิติ อาทิ การพิมพ์เซลล์มนุษย์ การสร้างเนื้อเยื่อมีชีวิตซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการคัดกรองยาที่ปลอดภัย รวมถึงการซ่อมแซมเนื้อเยื่อหรือสร้างเนื้อเยื่อขึ้นใหม่ในอนาคต เป็นต้น
 
6.ปัญญาประดิษฐ์ที่เรียนรู้ระหว่างทำงาน
 
ปัญหาประดิษฐ์คือการทำงานของคอมพิวเตอร์ในแบบที่มนุษย์ทำ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีด้านนี้ก้าวหน้าไปมาก ตัวอย่างเช่นสมาร์ทโฟนที่สามารถจดจำการพูดของมนุษย์ หรือบางประเทศมีการตรวจคนเข้าเมืองโดยใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า เป็นต้น นอกจากนี้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและโดรนที่บินได้อัตโนมัติซึ่งอยู่ขั้นทดสอบก่อนการทดลองใช้ในวงกว้าง ก็เป็นผลมาจากปัญญาประดิษฐ์ที่เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวและควบคุมอุปกรณ์ได้
 
อนาคตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ลดการชนกัน ลดการตายและบาดเจ็บบนท้องถนน โดยหลีกเลี่ยงความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากคน ไม่หลับในและไม่พลาดสัญญาณจราจร อีกทั้งยังตัดสินใจโดยไม่ใช้อารมณ์เหมือนมนุษย์ ทว่า ก็มีความกังวลว่าวันหนึ่งปัญญาประดิษฐ์จะเอาชนะมนุษย์และทำให้มนุษย์กลายเป็นทาส ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความกังวลมากขึ้นต่อความเสี่ยงดังกล่าว และส่งจดหมายเปิดผนึกเพื่อกำหนดทิศทางของปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตให้ห่างจากความเสี่ยงดังกล่าว
 
ความน่ากังวลอีกอย่างคือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอาจทำให้ความไม่เท่าเทียมในสังคมเลวร้ายมากขึ้น จากการที่คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์เข้าไปทำงานแทนแรงงานคน และกระทบต่ออาชีพที่มีอยู่เดิม เช่น โดรนขับเคลื่อนอัตโนมัติอาจแทนที่คนขับรถขนส่งหรือคนขับแท็กซี่ แต่อีกนัยก็อาจทำให้อารมณ์ ความสร้างสรรค์และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในมนุษย์เป็นสิ่งมีคุณค่าชัดขึ้น ยิ่งจักรกลเพิ่มฉลาดใกล้เคียงมนุษย์เท่าไร ก็ยิ่งท้าทายมุมมองของเราต่อความหมายในการเป็นมนุษย์
 
7.โรงงานกระจายส่วน
 
โรงงานดังเดิมตั้งมีโกดังเก็บวัตถุดิบ มีโรงงานศูนย์กลางผลิตขนาดใหญ่ก่อนขยายสินค้าไปยังเป้าหมาย แต่โรงงานแบบใหม่ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยกระจายส่วนเก็บวัตถุดิบและขั้นตอนการผลิตออกไป โดยผลิตภัณฑ์ในขั้นสุดท้ายจะถูกผลิตขึ้นในโรงงานที่อยู่ใกล้ลูกค้าปลายทาง ซึ่งมีตัวอย่างบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ในสหรัฐฯ ที่ใช้แนวคิดนี้ โดยแทนที่จะหาไม้มาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ในโรงงาน ก็ใช้แบบดิจิทัลที่ส่งไปยังโรงงานท้องถิ่นและตัดชิ้นส่วนด้วยเครื่องจักร CNC ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ จากนั้นส่งชิ้นส่วนให้ลูกค้าหรือโรงงานประกอบในท้องถิ่นประกอบขึ้นเป็นขั้นสุดท้าย
 
คาดว่าโรงงานลักษณะนี้จะทำให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการสูญเสีย และยังลดข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดจากการลดความจำเป็นในการผลิตต้นแบบและผลิตภัณฑ์ชิ้นแรก อีกทั้งยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวลด้อม เพราะข้อมูลดิจิทัลสามารถไปได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องส่งทางถนน ระบบรางหรือทางเรือ ส่วนวัตถุดิบก็หาจากท้องถิ่นเพื่อลดพลังงานในการขนส่ง
 
ทว่า หากโรงงานลักษณะกระจายไปมากขึ้นย่อมกระทบต่อตลาดแรงงานและเศรษฐกิจของโรงงานแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังยากที่จะควบคุมการผลิตสินค้าจำพวกอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือการผลิตสินค้าอันตรายและผิดกฎหมายอย่างอาวุธ แต่ใช่ว่าสินค้าทุกอย่างจะผลิตได้ด้วยรูปแบบโรงงานเช่นนี้ ซึ่งการผลิตแบบดั้งเดิมยังจำเป็นสำหรับสินค้าที่มีความสำคัญและมีความซับซ้อน
 
8.โดรนที่รับรู้สภาพแวดล้อมและรู้จักหลบหลีก
 
โดรนเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นการทหารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังมีบทบาทางการเกษตร การถ่ายทำภาพยนตร์และการประยุกต์ใช้งานอื่นๆ ที่ต้องการการเฝ้าระวังทางอากาศและมีราคาถูก แต่โดรนเหล่านี้ยังต้องควบคุมด้วยมนุษย์จากภาคพื้น เทคโนโลยีขั้นต่อไปคือการพัฒนาจักรกลที่บินได้ด้วยตัวเอง ช่วยให้การประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายขึ้น แต่ต้องอาศัยโดรนที่สามารถสัมผัสและตอบสนองสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ ปรับความสูงของตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการพุ่งชนวัตถุอื่นในเส้นทางบิน
 
ในธรรมชาติ นก ปลาและแมลงบินกันเป็นฝูง โดยแต่ละตัวมีปฏิกิริยาต่อเพื่อนที่อยู่ข้างๆ ได้อย่างทันท่วงที ทำให้ทั้งบินเกาะกลุ่มกันไปได้ ซึ่งโดรนเอาพฤติกรรมดังกล่าวไปใช้ได้ โดยการขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ไว้ใจได้และการหลีกเลี่ยงการพุ่งชนของโดรนทำให้มอบภารกิจการขนส่งที่อันตรายหรือไปยังพื้นที่ไกลๆ ได้ เช่น ตรวจสอบสายส่งไฟฟ้า ส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังพื้นที่ประสบภัย ซึ่งโครนขนส่งนี้จะค้นหาเส้นทางที่ดีที่สุดไปยังเหมาย และยังคำนึงถึงวัตถุเคลื่อนที่ทางอากาศและสิ่งกีดขวางอื่นๆ ได้  
 
9.ชิปคอมพิวเตอร์เลียนสมองมนุษย์
 
แม้แต่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดทุกวันนี้ยังไม่ซับซ้อนเท่าสมองมนุษย์ เพราะการทำงานของคอมพิวเตอร์เป็นเส้นตรง คือย้ายข้อมูลไปกลับระหว่างชิปความจำและหน่วยประมวลผลกลางด้วยความเร็วสูง ส่วนสมองนั้นทำงานเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายด้วยตรรกะและความจำที่หนาแน่นและหลากหลายมากกว่าคอมพิวเตอร์ปัจจุบันหลายพันล้านเท่า ชิปเลียนแบบสมองมนุษย์หรือชิปนิวโรมอร์ฟิก (Neuromorphic chip) มีเป้าหมายที่จะประมวลข้อมูลด้วยวิธีที่แตกต่างไปจากอุปกรณ์เดิมๆ โดยเลียนแบบสมองมนุษย์นำส่งพลังการคิดและตอบตอบสนองของคอมพิวเตอร์ที่มากขึ้น
 
เทคโนโลยีนี้จะเป็นอีกก้าวของคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถประมวลผลข้อมูลปริมาณมากๆ ได้รวดเร็วขึ้นและยังมีความสามารถในการเรียนรู้ของเครื่องจักรที่ดีขึ้น ไอบีเอ็ม (IBM) ป็นตัวอย่างบริษัทหนึ่งที่เปิดตัวชิปเลียนแบบสมองมมนุษย์ไปเมื่อกลางปี 2014 ซึ่งทำงานได้ดีกว่าชิปเก่าๆ หลายร้อยเท่า และเป็นครั้งที่ผลิตชิปที่ทำงานได้เทียบเท่าเปลือกสมอง (cortex) ของมนุษย์ นอกจากทรงพลังมากขึ้นชิปประเภทนี้ยังใช้พลังงานน้อยลงและมีขนาดน้อยลงด้วย ซึ่งในอนาคตจะผลิตเครื่องจักรที่มีขนาดเล็กลงและฉลาดมากขึ้นได้
 
10.จีโนมดิจิทัลส่วนบุคคล
 
การถอดจีโนมมนุษย์ครั้งแรกซึ่งมีลำดับคู่เบสของดีเอ็นเอ 3.2 พันล้านคู่เบส ต้องใช้เวลาหลายปีและใช้เงินไปหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทุกวันนี้เราสามารถถอดจีโนมตัวเองได้ในเวลาไม่กี่นาทีด้วยเงินไม่กี่ร้อยเหรียญสหรัฐ และเก็บข้อมูลไว้ในรูปดิจิทัลด้วยแฟลชไดร์ฟ และยังแชร์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งข้อมูลจีโนมของเรานี้ช่วยให้ประเมินสุขภาพได้รวดเร็วและถูกลง โดยเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  
 
ปัญหาสุขภาพหลายๆ อย่างตั้งแต่โรคหัวใจถึงโรคมะเร็งมีพันธุกรรมเป็นปัจจัย โดยเฉพาะมะเร็งที่ถือเป็นโรคของจีโนม  ซึ่งข้อมูลจีโนมดิจิทัลนั้นช่วยให้แพทย์ตัดสินใจเรื่องการรักษาโดยใช้ข้อมูลพันธุกรรมของจีโนมเป็นองค์ประกอบได้ และองค์ความรู้ใหม่นี้ยังช่วยให้ยาได้อย่างแม่นยำ โดยพัฒนาการบำบัดที่ตรงกับเป้าหมาย เพื่อการบำบัดรักษาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ต่อสู้กับมะเร็ง 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น