วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

ผมต้องหาเงินล้านภายในสองเดือน by panj

ผมต้องหาเงินล้านภายในสองเดือน


ผมต้องหาเงินล้านภายในสองเดือน

สองเดือนที่ผ่านมา ใครที่ติดตามอยู่ในเฟสอาจจะเห็นว่าจะโพสรูปเหมือนกำลังสะสมเงินเอาไปทำอะไรซักอย่างอยู่ คิดอยู่นานว่าจะเล่าเรื่องนี้ยังไงดี สุดท้ายมาลงตัวที่การเล่าในแง่มุมของการบริหารเงินละกัน

ขอข้ามเรื่องต้นตอของหนี้ก้อนนี้ไป เอาเป็นว่าทางบ้านมีภาระที่จะต้องชำระหนี้เป็นเงินจำนวนหนึ่งในอีกสองเดือนข้างหน้า ซึ่งถ้าไม่จ่าย ก็จะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อไป

เงินเก็บเราเองก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ที่บ้านไม่มีเงินเก็บ มีธุรกิจเล็ก ๆ อยู่ แต่ไม่ได้ทำบัญชีแยกระหว่างบัญชีใช้จ่ายภายในบ้าน กับบัญชีบริษัท หลังจากรับรู้ว่าต้องปิดหนี้ก้อนนี้ ไม่มีเวลามานั่งเครียด ต้องเริ่มต้นทำอะไรซักอย่างทันที

*ขั้นตอนการแก้ไขปัญหาขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้น ๆ ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว

0. แจ้งให้รับรู้ถึงสถานการณ์
ขั้นที่ศูนย์เลยคือต้องให้ทุกคนในบ้านรับรู้ถึงสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าเราจะต้องรัดเข็มขัดกันแล้ว ใครมีบัตรเครดิตก็เก็บเอาไว้ก่อนอย่าเพิ่งใช้ จากที่เคยกินข้าวร้านฟูจิก็มากินข้าวร้านเจ๊ศิแทน

1. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
จุดนี้บางคนอาจมองข้ามไปว่าการทำบัญชีนั้นไม่จำเป็น เพราะถ้าเราจะต้องจ่าย มันก็ต้องจ่าย การทำบัญชีก็แค่การบันทึกว่าจ่ายอะไรไปบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้รายจ่ายลดลง อันนี้ขอแย้งว่าไม่จริง การทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยให้เราได้รู้ถึงสถานการณ์ทางการเงินปัจจุบัน เพื่อที่จะวางแผนการใช้เงินในอนาคต (แถวบ้านเรียกหมุนเงิน) ถ้าเงินขาดมือเมื่อไหร่ ธุรกิจก็จะเดินต่อไม่ได้ ดังนั้นจุดนี้สำคัญ

2. เอาเงินเก็บมาหมุนในบริษัท
เนื่องจากที่บ้านไม่มีเงินเก็บ ลักษณะบริษัทคือรับโปรเจกต์ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน การใช้จ่ายเงินเป็นไปในลักษณะงานชนงาน บางทีบริษัทลูกค้าจ่ายเงินช้าก็จะเกิดปัญหาเงินขาดมือ ต้องไปขอหยิบยืมเงินคนอื่นมาหมุน ซึ่งผมเรียกตรงนี้ว่าเป็นรายจ่ายแอบแฝง (Hidden cost) เพราะเราจะต้องเสียเวลาไปกับการหาเงินมาหมุน ซึ่งเวลาเองก็มีมูลค่าไม่น้อย ดังนั้นจึงต้องตัดปัญหาตรงนี้โดยการเอาเงินเก็บที่เรามีมาหมุนในบริษัทของที่บ้านก่อน

3. ทำบัญชีล่วงหน้า
นอกเหนือจากบัญชีรายรับรายจ่ายที่ควรมีอยู่แล้ว ในสถานการณ์พิเศษแบบนี้ยังต้องใช้บัญชีล่วงหน้าเข้ามาประเมินสถานการณ์ว่าจะเก็บเงินได้ครบหรือไม่ภายในวันที่ที่กำหนด วิธีการทำบัญชีนี้ก็ไม่ยาก พยายามรวบรวมรายรับรายจ่ายทั้งหมดที่นึกออก มาใส่ในนี้แล้วกำกับด้วยวันที่ที่คาดว่าจะได้รับหรือต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็น รับเงินค่าเช่า รับเงินมัดจำ เงินเดือนพนักงาน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ (ใช้ค่าเฉลี่ยจากเดือนก่อน ๆ) นึกอะไรออกใส่มาให้หมด ผลรวมรายรับรายจ่ายของบัญชีล่วงหน้ารวมกับยอดเงินในบัญชี จะได้เป็นเงินที่ "คาดว่า" จะเก็บได้ภายในวันที่กำหนด

4. สำรองเงินใช้จ่ายนอกเหนือจากบัญชีล่วงหน้า
พอทำบัญชีให้ที่บ้านไปซักพักแล้วจะเจอปัญหารายจ่ายที่ไม่ได้บันทึกไว้ในบัญชีล่วงหน้า ถ้านิดหน่อยคงไม่เป็นไร แต่ถ้าเยอะขึ้นมาจะทำให้กระแสเงินสดของบริษัทมีปัญหา ธุรกิจจะสะดุดได้ ดังนั้นเราต้องสำรองเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้จ่ายในส่วนนี้ ข้อนี้ได้เรียนรู้ตอนทำไปแล้ว ถือเป็นบทเรียนสำคัญ ตอนนั้นคำนวณจำนวนเงินที่คาดว่าจะเก็บได้แล้วเกือบพอดีเงินที่จะต้องนำไปชำระ แต่จริง ๆ แล้วรายจ่ายเยอะกว่านั้นมาก โดยเฉพาะรายจ่ายในบริษัท (ซึ่งเราเองก็ไม่มีประสบการณ์ในบริษัทมากพอที่จะบอกว่าขั้นตอนไหนจะต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่) สรุปว่ายอดที่เก็บสะสมได้จริงนั้นน้อยกว่าที่ประมาณเกือบ 30%

[ บทสรุปเหตุการณ์นี้ ]
เจอปัญหาหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินจากลูกค้าได้ไม่ทันวันที่ต้องใช้เงิน รายจ่ายที่ไม่ได้บันทึกไว้ หรือยอดหนี้เพิ่มมาจากที่เคยเข้าใจ สรุปแล้วเก็บเงินได้ไม่ครบ เงินเก็บเราเองบวกกับที่เราเร่งรับงานทำเว็บในช่วงนั้นได้ประมาณ 700k รวมกับเงินที่ได้จากบริษัทที่บ้านอีกประมาณ 600k ซึ่งส่วนที่เหลืออีกประมาณ 60% ที่บ้านก็ได้ไปกู้ยืมมาจากที่อื่นเพื่อที่จะได้ปิดหนี้ก้อนนี้ลง ช่วงต่อจากนี้ก็ยังต้องทำบัญชีแบบนี้ เหมือนเดิมเพื่อใช้หนี้ที่ไปกู้ยืมมาอีกที แต่กรอบเวลาจะไม่เข้มข้นเท่านี้แล้ว

อยากจะฝากถึงทุกคนที่กำลังมีปัญหาทางการเงินว่าให้ตั้งสติไว้ แล้วประเมินสถานการณ์ดู ถ้ามีหนี้หลายก้อน ก็ให้เรียงปิดหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่า ถ้าเป็นพนักงานบริษัทจะมีแหล่งรายได้คงที่อยู่แล้ว ก็จะคำนวณได้ง่ายหน่อย อาจจะต้องหยิบยืมญาติ ๆ หรือหาแหล่งรายได้เสริมเพื่อมาปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยให้ได้เร็วที่สุด ยอมลำบากซักเดี๋ยว ดีกว่าต้องมาจมกองดอกเบี้ยทบต้น

" อิณา ทานัง ทุกขัง โลเก "
การเป็นหนี้ เป็นทุกข์ในโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น