วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

วันดี กุญชรยาคง มาดาม "โซลาร์เซลล์" สร้างธุรกิจจากแสงอาทิตย์

เมื่อสังคมเมืองและระบบเศรษฐกิจทั่วทั้งโลกเติบโตขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ความต้องการทางพลังงานของมนุษย์จึงเพิ่มปริมาณมากขึ้น ยิ่งกว่าสมัยอดีตอีกหลายเท่าตัว เพราะ "พลังงาน" นับเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโลกไปสู่ยุคอนาคตแทบทุกด้าน
แต่แหล่งกำเนิดพลังงานขุมเดิมอย่าง "พลังงานฟอสซิล" ที่ใช้กันอย่างคุ้นชินมานับศตวรรษ อาทิ น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน กลับเป็นพลังสิ้นเปลืองที่มีอยู่อย่างจำกัดรอวันหมดไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนพลังงานในสักวันหนึ่ง จนกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิด "พลังงานทางเลือก" ที่เป็นพลังงานสะอาดและไม่ต้องพึ่งพาพลังงานสิ้นเปลืองอีกต่อไป

พลังงานทางเลือกในพารากราฟข้างต้นแบ่งออกเป็น"พลังงานทดแทน" จำพวกมวลชีวภาพ (Biomass) ซึ่งแปรรูปมาจากเศษอินทรีย์วัตถุเหลือใช้ทางการเกษตรกับ "พลังงานหมุนเวียน" ที่นำกลับมาใช้ได้ไม่รู้จบอย่างพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานน้ำ และพลังงานลม

เมืองไทยเริ่มนำพลังงานทางเลือกทั้ง 2 ชนิดเข้ามาปรับใช้ทั้งในอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวันค่อนข้างแพร่หลาย เพียงแต่แหล่งพลังงานทางเลือกที่ต้องจับตามองมากเป็นพิเศษของปีนี้ คาดว่าน่าจะหนีไม่พ้น "พลังงานแสงอาทิตย์" ที่กลายมาเป็นธุรกิจพลังงานดาวรุ่งพุ่งแรงในช่วง 3-4 ปีหลัง

แน่นอนว่า ถ้ากล่าวถึงพลังงานแสงอาทิตย์ในสยามประเทศ หลายคนน่าจะคิดถึงชื่อของ "วันดี กุญชรยาคง" ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่แห่งบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากเธอคือหญิงเก่งผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเป็นระบบในเมืองไทยเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อ5 ปีก่อน จนกลายเป็นบริษัทพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก

อีกทั้งยังได้รับการยกย่องจาก "United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCC)" ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็น "Leading a women-powered solar energy transformation" หรือ "สตรีผู้นำด้านการลดโลกร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์" โดยเล็งเห็นว่าธุรกิจของวันดีเป็นโครงการที่ช่วยนำพาโลกไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เพราะขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเหมือนกับการใช้พลังงานฟอสซิล ทำให้ช่วยลดการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้กว่า 2.1 แสนตันต่อปี

วันดีกล่าวว่า เทรนด์พลังงานของทั่วโลกตอนนี้เริ่มโฟกัสไปยังพลังงานหมุนเวียนกันแล้ว เพราะเป็นพลังงานสะอาด ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือไม่มีต้นทุนผันแปรในการผลิต เพียงแต่ต้องวิเคราะห์ศักยภาพและความสามารถของประเทศให้แตกว่ามีความเหมาะสมกับพลังงานหมุนเวียนชนิดใดบ้าง

ยกตัวอย่าง "เยอรมนี" ที่ประกาศว่าภายในปี ค.ศ. 2050 จะใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ ส่วน "ญี่ปุ่น" ที่มีปัญหาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์พังหลังแผ่นดินไหวและสึนามิ ก็เตรียมจะใช้พลังงานโซลาร์เซลล์มาผลิตไฟฟ้าแทนพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคต ขณะที่ "เนปาล" และ "นิวซีแลนด์" ก็ใช้พลังงานน้ำกันเกือบทั้งประเทศ เป็นต้น

"ประเทศไทยอยู่บนเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้มีความเข้มข้นแสงอาทิตย์เฉลี่ยดีตลอดทั้งปี จึงเหมาะสมมากสำหรับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ด้านพลังงานหมุนเวียนอื่น เช่น พลังงานลมนั้น ประเทศเราไม่ได้อยู่ในโซนของลมจึงเป็นการยากสำหรับการบริหารจัดการ ส่วนพลังงานน้ำที่มีต้นทุนถูกสุดและฟังดูเหมือนบ้านเรามีเยอะแยะ แต่ความจริงแล้วเกิดปัญหาขาดแคลนค่อนข้างมากในปัจจุบัน อีกทั้งการสร้างเขื่อนสักเขื่อนก็เป็นเรื่องยาก เพราะจะกระทบกับปัญหาสัตว์ป่า ฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงมีแต่ถดถอยลง"


จากข้อเท็จจริงด้านพลังงานและศักยภาพการผลิตแสงอาทิตย์ของเมืองไทยได้กระตุ้นให้วันดีที่รีไทร์จากงานประจำไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2550 ตัดสินใจกลับเข้ามาทำงานอีกคำรบในอีก 2 ปีถัดมา ด้วยการหอบไอเดียเปิดบริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์เซลล์ ซึ่งมีมูลค่าลงทุนเริ่มต้นสูงถึง 700 ล้านบาท กับการผลิตไฟฟ้า 7.5 เมกะวัตต์ นำไปเสนอข้อกู้กับธนาคารนับสิบแห่ง พร้อมได้รับคำตอบกลับมาว่า "ไม่มีนโยบายปล่อยกู้ให้กับธุรกิจรูปแบบนี้"

จนกระทั่งมาลงล็อกกับ "ธนาคารกสิกรไทย" ที่ขณะนั้นมี "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" นั่งแท่นประธานบริหาร ซึ่งมีแนวคิดและวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ได้เงินกู้ในอัตราส่วน 60 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน (420 ล้านบาท) แต่ก็ยังขาดอยู่อีก 280 ล้านบาทที่ไม่มีนักธุรกิจคนไหนยอมลงทุนด้วย ทำให้วันดีต้องขายบ้าน 1 หลังกับที่ดิน 1 แปลง เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนจดทะเบียนให้กับโครงการที่ 1 ได้สำเร็จ

"ตอนที่เข้าไปพูดคุยเรื่องการกู้เงินกับ ดร.ประสาร ได้บอกติดตลกไปว่า ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารสีเขียว ถ้าไม่ยอมปล่อยกู้คงต้องไปเปลี่ยนสีธนาคารไปด้วยนะ" 
ซีอีโอหญิงเก่งปล่อยมุขสร้างสีสันให้กับการสนทนา ก่อนจะเล่าต่อไปว่า 

"นอกจากเงินกู้จากธนาคารกสิกรไทยแล้ว เรายังได้รับการสนับสนุนจากเวิลด์แบงก์ที่ให้ทั้งเงินกู้และร่วมทุนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาช่วยซัพพอร์ต จนปัจจุบันเดินหน้าพัฒนาได้จนครบ 36 โครงการ ด้วยเงินทุนกว่า 25,000 ล้านบาท กับกำลังผลิต 250 เมกะวัตต์"


สถานที่ตั้งของ 36 โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของเอสพีซีจีส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด และมี 1 จังหวัดในภาคกลางอย่างลพบุรี ซึ่งแต่ละโครงการใช้พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ โดยทุกโครงการกำหนดให้มีช่วงอายุอยู่ที่ 30 ปี (แผงโซลาร์เซลล์อายุการใช้งาน 50 ปี)

"ปัจจุบันประเทศไทยผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมดประมาณ 33,000 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลเพิ่งประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสิ้น 3,000 เมกะวัตต์ คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของการมีพลังงานสะอาด อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตัวเอง ลดการใช้น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน รวมทั้งลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า"

วันดีกล่าวถึงการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ของเอสพีซีจีว่าต้องรอดูทีท่านโยบายจากทางรัฐบาลที่เป็นลูกค้าหลักของบริษัทก่อน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะรัฐบาลไทยไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดก็ล้วนให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน เห็นได้จากช่วงแรกรัฐบาลรับซื้อเพียง 500 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาอีก 6 เท่า เป็น 3,000 เมกะวัตต์แล้ว

"ส่วนตัวมีความมั่นใจว่าไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในเมืองไทยจะสามารถกลายมาเป็นพลังงานหลักแทนที่พลังงานสิ้นเปลืองได้แน่นอนซึ่งในอนาคต 3-5 ปี เราอาจจะได้เห็นบ้านเรือนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคาบ้าน เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในครัวเรือนหรืออาจจะผลิตขายรัฐมากขึ้นก็เป็นได้ ส่วนเรื่องที่ว่าค่าติดตั้งถูกหรือแพงนั้นอย่าไปคิดถึงมัน ให้มองไปว่าถ้าลงทุนแล้วเมื่อไหร่ถึงจะคุ้มทุนมากกว่า อย่างหลังคาโซลาร์รูฟชุดนึงราคา 3-5 แสนบาท ฟังดูเหมือนแพง แต่มันมีอายุใช้งาน 50 ปี และใช้เวลา 7-8 ปีก็คุ้มทุนแล้ว ขอแค่คิดให้ถี่ถ้วนและวางแผนก่อนลงมือทำก็พอ"


ซีอีโอหญิงเก่งแห่งอาณาจักรเอสพีซีจียอมรับว่า ตนเองคงมาได้ไม่ถึงตรงนี้ถ้ามัวแต่กังวลเรื่องถูกเรื่องแพง เพราะส่วนตัวเชื่อว่าความกังวลเป็นตัวสะท้อนความ "ไม่เชื่อมั่น" ในความคิดของตนเอง จนกลายเป็นกำแพงหรือสิ่งฉุดรั้งให้เราก้าวต่อไปข้างหน้าไม่ได้

"คนเราถ้าคิดจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งในสำเร็จ จำเป็นต้องมีความรู้ มีแพสชั่น และความเชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง ปล่อยให้ความไม่มั่นใจของคนอื่นมาหยุดเรา เพียงแค่เชื่อมั่นในความคิดที่ว่านี้ต้องผ่านการคิดและวางแผนมาแล้วอย่างดีด้วยนะ ไม่ใช่คิดซี้ซั้วที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ คิดคำนวณดูให้รอบคอบก่อนว่าตนเองมีศักยภาพและความสามารถจริงหรือเปล่า เมื่อคิดดีแล้วก็ถึงเวลาสำคัญที่สุดอย่างการลงมือทำ อย่าเอาแต่พูดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะแค่คำพูดมันไม่ทำให้เกิดสิ่งที่เป็นรูปธรรมและไม่เกิดผลอะไรเลย"

ผู้บุกเบิกธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์กล่าวว่าคนในสังคมนี้ส่วนใหญ่เป็นคนพูดเยอะแต่ทำน้อย ส่วนตัวจึงอยากให้สังคมกลายเป็นเวทีของคนที่พูดแล้วทำด้วยความเชื่อมั่น เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในสังคม แล้วความเปลี่ยนแปลงจากการลงมือทำนั้นจะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา

"ถ้าวันนั้นเราเลือกที่จะหยุดเดินไปข้างหน้าและไม่ลงมือทำ เพราะคนอื่นมองว่าแนวคิดของเราไม่เวิร์ก เอาคำพูดของคนอื่นเข้ามาโมติเวตความเชื่อมั่นของเรา ก็คงไม่เกิดโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้ง 36 โครงการขึ้นมาเช่นทุกวันนี้" วันดีตอกย้ำวิถีทางสู่ความสำเร็จอีกครั้งเป็นการปิดท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น