updated: 28 พ.ย. 2558 เวลา 10:30:59 น.
ฐกางสูตรส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ให้สิทธิพิเศษภาษี-ถือครองที่ดิน 99 ปี ดีลตรงต่างชาติ 70 บริษัทต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่-อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ-ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี-เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ-การแปรรูปอาหาร ดัน 5 กลุ่มใหม่ ยึดโมเดลชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นต้นแบบ เอกชนขานรับ
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยมุ่งช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การเร่งรัดเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งช่วยเหลือภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และคนซื้อบ้าน ซึ่งหลายมาตรการเริ่มปรากฏผลทิศทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ
ล่าสุด กระทรวงเสาหลักด้านเศรษฐกิจ 7 กระทรวงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามนโยบายระยะยาวเพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทย ที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเร่งขับเคลื่อนผลักดันด้วยการปรับโครงสร้างด้านการผลิตทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการบริการ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการรับฟังความคิดเห็นและการให้ข้อเสนอแนะโดยนักลงทุนและเจ้าของเทคโนโลยีสำคัญทั่วโลกกว่า 70 ราย นำมากำหนดแผนและนโยบายในการส่งเสริมการลงทุน "อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่อนาคต"
ชูธง 10 อุตฯเป้าหมาย
เป็นเหมือนคู่มือแนะนำและดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทย ประกอบด้วย 1.การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) ได้แก่ 1.1 อุตฯยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) 1.2. อุตฯอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) 1.3.อุตฯการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affuent, Medical and Wellness Tourism)
1.4 การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) และ 1.5 อุตฯการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)
2.เพิ่ม 5 อุตฯอนาคต (New-S-Curve) ซึ่งเป็นอุตฯใหม่ที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและมีผู้สนใจลงทุน ได้แก่ 2.1 อุตฯหุ่นยนต์ (Robotics) 2.2 อุตฯการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) 2.3 อุตฯเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) 2.4 อุตฯดิจิทัล (Digital) และ 2.5 อุตฯการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
เปิดพื้นที่ส่งเสริมอุตฯอนาคตไทย
แนวทางพัฒนาระยะสั้น-ปานกลาง จะยกระดับอุตฯเดิม 5 อุตฯเป้าหมายที่เป็น First S-Curve เพื่อต่อยอดการเจริญเติบโต ระยะยาว พัฒนาอุตฯแห่งอนาคต 5 อุตฯเป้าหมาย หรือ New-S-Curve เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยแบบก้าวกระโดด โดยในส่วนของอุตฯอนาคตกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนดังนี้ อุตฯหุ่นยนต์ พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก อุตฯการขนส่งและการบิน พื้นที่สนามบินพัทยา-อู่ตะเภา อุตฯการแพทย์ครบวงจร พื้นที่วิจัยและพัฒนาให้อยู่ในโรงเรียนแพทย์ คลัสเตอร์การแพทย์ เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) พัทยา อุตฯเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อยู่ในพื้นที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และอุตฯต่อเนื่องอยู่บริเวณมาบตาพุด อุตฯดิจิทัลอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เช่น กทม. เชียงใหม่ ภูเก็ต
ยึดโมเดลนิคมอุตฯภาคตะวันออก
ทั้งนี้ จากที่ปัจจุบัน 6 ใน 10 อุตฯเป้าหมาย
ทั้ง First S-Curve และ New-S-Curve ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก คือ ยานยนต์แห่งอนาคตอยู่ในพื้นที่ ชลบุรีและศรีราชา อุตฯอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะอยู่ในสมุทรปราการ ชลบุรี ศรีราชา ท่องเที่ยวระดับคุณภาพอยู่ที่พัทยา ระยอง อุตฯหุ่นยนต์อยู่ในชลบุรี ศรีราชา อุตฯการบินอยู่ที่อู่ตะเภา สัตหีบ และอุตฯไบโอเคมี อยู่ที่มาบตาพุด จากปัจจัยพื้นฐานความแข็งแกร่งจากในอดีต รัฐบาลจึงจะนำเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกมาเป็นตัวจุดประกายในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตฯเป้าหมายทั้ง 10 อุตฯ
ทั้งนี้ปัจจัยความสำเร็จในการดึงนักลงทุนจากทั่วโลกต้องมีกลไกการกำกับดูแลการพัฒนาอุตฯเป้าหมายและเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการการลงทุนอุตฯเป้าหมาย ทำหน้าที่กำหนดแผนการลงทุน กำหนดผู้ลงทุนรายสำคัญ 2.คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มีหน้าที่เจรจากับผู้ลงทุนรายสำคัญ เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทั่วไปและสิทธิประโยชน์พิเศษ 3.คณะกรรมการกำกับดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ ทำหน้าที่อนุมัติแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการการลงทุนคลัสเตอร์ โครงสร้างพื้นฐาน และบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีสำนักงานบริหารเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน ดำเนินการด้านสิทธิประโยชน์ และติดตามความคืบหน้าในการติดต่อและชักจูงนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายและเป็นเลขานุการให้คณะกรรมการระดับชาติ
ตั้งกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันเพื่อผลักดันให้การลงทุนในอุตฯเป้าหมายเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม รัฐบาลกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วยมาตรการทางการเงิน มาตรการทางการคลัง และมาตรการส่งเสริมอื่น ๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทั้งนี้ กรอบนโยบายและมาตรการส่งเสริมทั้งด้าน
การเงิน การคลัง และมาตรการอื่น ๆ ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และ 7 กระทรวงเศรษฐกิจเสนอ และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
งัดมาตรการการเงิน-การคลังหนุน
ในส่วนของมาตรการทางการเงินจะจัดตั้ง "กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม" ขึ้น ทำหน้าที่ให้เงินสนับสนุนให้เงินกู้ยืม หรือชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ หรือเป็นกองทุนในการลงทุนโครงการลงทุนพิเศษ โดยสามารถให้เงินสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งสร้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตฯเป้าหมาย และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม
มาตรการการคลัง อาทิ กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษ ยกเว้นอัตราภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 10-15 ปี สำหรับโครงการที่มีความสำคัญสูงในอุตฯเป้าหมาย เพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์สูงสุด 8 ปี ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนทั่วไป กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญไม่เกิน 15% อัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดา
ของผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติ และไม่เกิน 15% สำหรับผู้เชี่ยวชาญระดับสูง และผู้บริหารระดับสูงที่จำเป็นในโครงการลงทุน และสามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศ และแก้ไขโครงสร้างอากรขาเข้าชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตหรือให้บริการในอุตฯเป้าหมาย (หรือใช้มาตรา 12 ของกระทรวงการคลัง) เนื่องจากอัตราอากรของชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สูงกว่าผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยกเว้นอากรขาเข้าของนำเข้าเพื่อทำการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบ
สิทธิเข้า-ออก ปท.-ถือที่ดิน 99 ปี
ส่วนมาตรการอื่น ๆ ประกอบด้วย การกำหนดสิทธิประโยชน์การเข้าออก และการทำงานของผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากต่างประเทศ เทียบเท่าคนไทยครั้งละ 5 ปี ตลอดอายุการส่งเสริมการลงทุน กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติ 100% ในระยะเริ่มต้น หรือกรณีเป็นการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร ซึ่งนักลงทุนไทยไม่มีความเชี่ยวชาญ และกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษให้ผู้ลงทุนต่างชาติ การถือครองที่ดิน 99 ปี โดยขายคืนให้รัฐบาลเมื่อครบกำหนด
ธุรกิจโรงพยาบาลหนุนเต็บสูบ
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล และที่ปรึกษาสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มองว่า นโยบายดังกล่าวควรทำมานานแล้ว เพราะธุรกิจการแพทย์เป็นอุตฯบริการ และการจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคหรือของโลกในอนาคตมีความจำเป็น ต้องมีความชัดเจนเชิงนโยบายและปรับปรุงข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งเชิงกฎหมายการลงทุน การขอวีซ่าเข้าประเทศ การผลิตบุคลากรการแพทย์ที่ต้องให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิต เพื่อตอบโจทย์และลดการขาดแคลน
"ควรทำมานานแล้วและทำให้ชัดเจน วันนี้มีการพูดแล้วว่าธุรกิจเฮลท์แคร์น่าจะเป็นธุรกิจบริการดาวเด่น อาทิตย์ที่แล้วมีการเรียกคุยไปแล้ว 1 รอบ ภายในสัปดาห์นี้กำลังทำแผนอยู่ น่าจะหารือกันอีกเป็นระยะ ๆ นโยบายดังกล่าวไม่มีกลุ่มไหนได้ประโยชน์ แต่เป็นประเทศไทยได้ประโยชน์ ทุกคนคาดหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเฮลท์แคร์ เพราะการเปิดอาเซียนจะเริ่มขึ้นแล้ว"
สิทธิประโยชน์ใหม่จูงใจพอ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มั่นใจว่าการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบคลัสเตอร์จะเกิดขึ้นได้แน่นอน
จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือเร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริง อาทิ มาตรการทางภาษีของบีโอไอ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี ลดหย่อนภาษี 50% เพิ่มเติม 5 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และมาตรการทางการคลังที่อยู่ระหว่างพิจารณาให้กิจการเพื่ออนาคตยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10-15 ปี และจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 0-15%
สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในระดับนานาชาติที่ทำงานในพื้นที่กำหนดทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมถึงกองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศ วงเงิน 10,000 ล้านบาท และอื่น ๆ ถือว่าเพียงพอแล้ว และกลุ่มนักลงทุนอุตฯเป้าหมายอย่างไฮเทคโนโลยีสนใจเข้ามาลงทุนมากกว่าเดิม เพราะปัจจัยหลายอย่างจูงใจ เช่น สิทธิประโยชน์ เศรษฐกิจที่กำลังฟื้น เห็นได้จากยอดขอส่งเสริมการลงทุนมีเกือบ 2,000 โครงการ มูลค่า 6.9 แสนล้านบาท
"ส่วนที่มองว่าสิทธิประโยชน์ที่รัฐให้ยังไม่พอ อาจมีแค่บางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งไม่อยากให้เอาไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์และค่าแรง ควรมองว่าไทยเองมีความพร้อมและเหนือกว่าคู่แข่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค โลจิสติกส์"
กลุ่มยานยนต์ขานรับลงทุน
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า กลุ่มยานยนต์เป็นส่วนหนึ่งในอุตฯเป้าหมายที่ถูกผลักดันให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ และยกระดับสู่การเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ มั่นใจว่ารัฐเดินมาถูกทางกับการพัฒนาอุตฯในประเทศ และทุก ๆ มาตรการส่งเสริมที่ออกมาจะเป็นส่วนสำคัญให้นักลงทุนรายเก่าที่ลงทุนอยู่แล้วไม่ย้าย
การผลิตไปไหน แต่จะทำการวิจัยเพิ่มเพื่อต่อยอดพัฒนาสินค้ารองรับการขยายธุรกิจแทน นอกจากนี้นักลงทุนรายใหม่จะหันกลับมาพิจารณาลงทุนในไทยมากขึ้น จากเดิมที่จะไปลงทุนในประเทศที่มีค่าแรงถูก แต่ไม่เอื้อในเรื่องความพร้อมอื่น ๆ
"ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มยานยนต์กระปรี้กระเปร่าขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตรายเล็ก ๆ ในท้องถิ่นสอบถามเข้ามามาก ปัจจุบันกลุ่มยานยนต์มีภาคการผลิตที่เป็นคลัสเตอร์กันอยู่แล้ว และส่วนใหญ่กระจายตั้งโรงงานอยู่ในภาคตะวันออก ทั้งชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา โดยกลุ่มอุตฯยานยนต์เองมองเห็นศักยภาพของพื้นที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ว่าน่าจะพัฒนาเป็นเมืองคลัสเตอร์ยานยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น